xs
xsm
sm
md
lg

ภาพถ่ายดาราศาสตร์บอกคุณภาพท้องฟ้าได้อย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์



ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้จัดกิจกรรม Workshop อบรมถ่ายภาพดาราศาสตร์เขตพื้นที่ท้องฟ้ามืดครั้งแรกในไทย ภายใต้หัวข้อ Dark Sky Astrophotography 2020 ณ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,700 เมตร จ.เชียงใหม่ ซึ่งจากการวัดค่าด้วย Sky Quality Meter (SQM) พบว่ามีความมืดของท้องฟ้าถึงแมกนิจูด 21.5 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่มืดมาก ส่วนตัวผมคิดว่าที่นี่เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่นักถ่ายดาวต้องมาลองสักครั้ง เพราะนอกจากความมืดของท้องฟ้าแล้ว ยังมีมุมถ่ายภาพดวงอาทิตย์ตก แสงสนธยา แสงจักรราศี และพื้นที่สำหรับถ่ายภาพ Deep Sky Objects ที่เห็นดาวเหนือและตั้งอุปกรณ์ได้สะดวก หรือมุมถ่ายภาพเส้นแสงดาวสวยๆหลายมุม นอกจากนั้นในทิศตะวันออกก็มีฉากหน้าสวยๆ ไว้สำหรับถ่ายภาพทางช้างเผือกกันได้อีกด้วยครับ

กิจกรรมนี้เรามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดผ่านกิจกรรมถ่ายภาพ เรียนรู้วิธีสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าในช่วงเวลาต่าง ๆ ซึ่งภาพถ่ายดาราศาสตร์นั้น เราสามารถนำมาใช้บ่งบอกถึงคุณภาพท้องฟ้าในสถานที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี สำหรับภาพถ่ายของกิจกรรมนี้จะบอกคุณภาพของท้องฟ้าได้อย่างไรบ้างนั้น เรามาเริ่มต้นกันเลยครับ

แสงสนธยา (Twilight)


ภาพแสงสนธยา (Twilight) ทางทิศตะวันตก
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 1600 / Exposure : 2 sec)

ในช่วงแรกผมเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพแสงสนธยา (Twilight) เป็นช่วงเวลาหลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว ประมาณ 10 – 15 นาที เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ที่ยังกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศชั้นบน ได้ส่องมายังชั้นบรรยากาศชั้นล่างและพื้นผิวโลก ทำให้ขณะนั้นเห็นท้องฟ้าบริเวณใกล้กับขอบฟ้าเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งเป็นช่วงที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสี การที่จะได้ภาพถ่ายที่สวยงามนั้น สภาพท้องฟ้าบริเวณขอบต้องปราศจากเมฆหนา ซึ่งที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังสูงกว่า 1,700 เมตร จากภาพถ่ายที่ได้ถือว่า สอบผ่านครับ ท้องฟ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้และได้ภาพที่สวยงาม ถึงแม้ว่าจะมีระดับฟ้าหลัวอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าได้ภาพที่สวยใช้ได้ครับ

ภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light)


ภาพแสงจักรราศี (zodiacal light) ทางทิศตะวันตก
ภายโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Lens : Canon EF 15mm f/2.8 Fisheye / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec

ภาพที่สอง ภาพแสงจักรราศี (zodiacal light) คือแสงสว่างเรืองรองจาง ๆ เป็นโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบ ๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนหลังจากที่แสงสนธยาของตะวันตกดินลับฟ้าไปแล้ว โดยปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถี ซึ่งแสงจักรราศีนั้น ถือเป็นแสงที่ไม่ได้เห็นกันได้ง่ายนัก หากสถานที่มีความมืดไม่มากพอ และท้องฟ้าก็จะต้องมีทัศนวิสัยที่ใสเคลียร์ในระดับหนึ่งจึงจะเห็นได้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ ณ อุทยานห้วยน้ำดัง แสงจักราศีอาจจะไม่ชัดเจนมากนัก แต่ก็ยังพอจะสามารถสังเกตเห็นได้บ้าง แต่ก็ถือว่ากล้องถ่ายภาพสามารถเก็บแสงจักรราศีมาได้ ถือว่าเป็นสถานที่ ที่ท้องฟ้าดีเหมาะแก่การถ่ายดาวได้เช่นกันครับ

ภาพวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects)


ภาพเนบิวลาสว่างในกลุ่มดาวนายพราน
ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Mount : Takahashi EM-200 Temma 2 / Lens : Takahashi TOA 150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 12,800 / WB : 5500K / Exposure : 30sec)

หลังสิ้นแสงจักรราศี ก็ต่อด้วยภาพถ่ายเนบิวลาสว่างในกลุ่มดาวนายพราน (M42) ซึ่งเป็นวัตถุแรกที่มักใช้ในการถ่ายภาพ Deep Sky Objects โดยในภาพข้างบน สามารถแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของเนบิวลาบริเวณโดยรอบ ทั้งในส่วนของโอไรออนเนบิวลาและรันนิ่งแมน เนบิวลาในกลุ่มดาวนายพราน (Orion) จากภาพเราสามารถถ่ายติดแก๊สโดยรอบเนบิวลาได้อย่างชัดเจน แสดงถึงค่าทัศนวิสัยและความมืดของท้องฟ้าที่มีคุณภาพได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากลองนำภาพเนบิวลานี้ จากการถ่ายภาพหลายๆสถานที่มาเปรียบเทียบ เราจะรู้ได้ทันทีว่าท้องฟ้าที่ไหนบ้าง ที่เคยไปถ่ายภาพว่ามีคุณภาพต่างกันอย่างไร ซึ่งเราสามารถใช้รายละเอียดต่างๆของภาพถ่าย Deep Sky Objects มาเปรียบเทียบเพื่อบอกคุณภาพท้องฟ้าได้เป็นอย่างดี

ภาพเส้นแสงดาว (Star Trails)


ภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) ทางทิศตะวันตก
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/3.2 / ISO : 1600 / Exposure : 30sec x 405 images)

สำหรับภาพเส้นแสงดาวข้างบน ผมถ่ายตั้งแต่ช่วง 23.30 -03.00 น. ซึ่งตลอดเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงนั้น ภาพเส้นแสงดาวไม่มีช่วงที่แสงขาดหายไปเลย นั่นแสดงให้เห็นว่าท้องฟ้าใสเคลียร์ตลอดทั้งคืน และที่เห็นว่าแสงดาวเยอะจนดูเลอะเทอะนั่น ก็แสดงถึงค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าที่ใสเคลียร์นั่นเองครับ

โดยปกติแล้วนั้น ในอดีตนักดาราศาสตร์ก็ใช้วิธีการถ่ายภาพเส้นแสงดาวตลอดทั้งคืน เพื่อนำมาดูว่าภาพถ่ายดาวตลอดทั้งคืนนั้น เมื่อนำภาพแสงดาวมาต่อกันเป็นเส้นแสงดาวแล้ว จะมีแสงดาวขาดช่วงบ้างหรือไม่ หากเส้นแสงดาวมีความส่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง ก็สามารถบอกถึงทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ตลอดทั้งคืนนั่นเองครับ

ภาพทางช้างเผือก (Milky Way)


ภาพทางช้างเผือกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเช้ามืด
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7lll / Lens : Sigma 24 mm f1.4 DG HSM / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.6 / ISO : 2500 / Exposure : 25sec)

ปิดท้ายด้วยการถ่ายภาพทางช้างเผือก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า หากต้องการถ่ายภาพทางช้างเผือกให้ได้ภาพที่สว่างชัดเจนนั้น สภาพท้องฟ้าต้องใสเคลียร์และมืดสนิทปราศจากแสงรบกวน และที่อุทยานห้วยน้ำดัง ก็ถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สามารถสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า และสามารถถ่ายภาพได้รายละเอียดของเนบิวลาและกระจุกดาวต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมักจะดูว่าภาพถ่ายทางช้างเผือก บริเวณ Rho Ophiuchus Nebula ซึ่งเป็นภาพเนบิวลามืดนั้น สามารถถ่ายภาพออกมาจนติดเป็นสีสันของเนบิวลาครบทั้งสามสี เหลือ น้ำเงิน และแดง ได้หรือไม่ หากสามารถถ่ายติดสีของเนบิวลาออกมาได้ถือว่าสอบผ่านครับ

บทสรุปของการทดสอบคุณภาพท้องฟ้าของที่นี่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง หากคะแนนเต็ม 10 ผมให้ 9 คะแนนครับ เนื่องจากว่า หากสังเกตในภาพบริเวณขอบฟ้าของภาพถ่ายหลาย ๆภาพ ที่ผมถ่ายมาตลอดทั้งคืน จะเห็นแนวฟ้าหลัว มีแถบสีเทาๆบรอเวณขอบล่างของภาพ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรที่ระดับฟ้าหลัว ฝุ่นละอองต่าง จะขึ้นมาสูงจากขอบฟ้าพอสมควร เพราะอุทยานสูงไม่ถึง 2,000 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม สถานที่แห่งนี้ก็สามารถสังเกตแสงต่างๆ วัตถุท้องฟ้า และแนวทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน ถือเป็นการเปิดแลนด์มาร์กใหม่ให้กับนักถ่ายภาพดาราศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย ที่มีฟ้าใสๆ ให้สังเกตวัตถุท้องฟ้ากันครับ


เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น