นักวิชาการประจำศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวประประเด็นการนำเครื่องกรองอากาศติดตั้งบนรถประจำทางของกระทรวงคมนาคม สุดท้ายแล้วอาจจะเป็นการเพิ่มมลพิษสู่อากาศมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงการทดลองติดเครื่องฟอกอากาศบนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า จากการรายงานผลการทดสอบของคณะทำงานฯ ที่ได้ทดสอบกับรถเมล์ ขสมก.1 คันแล้วนั้น พบว่าการทดสอบอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ เมื่อรถเมล์ ขสมก.ที่ติดเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถ สูงประมาณ 25 ซม. โดยมีไส้กรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งหากใช้ความเร็วเฉลี่ย 20 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น สามารถกรองอากาศได้ 20,000 ลูกบาตรเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ ก่อนที่อากาศจะผ่านเครื่องฟอกอากาศนั้น พบว่า เครื่องวัด PM 2.5 ระบุค่าวัดอยู่ที่ 48-51 ไมครอน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่มีพบฝุ่น PM 2.5 แต่เมื่อผ่านเครื่องกรองอากาศแล้ว อากาศที่ออกมาอยู่ที่ 1-2 ไมครอนเท่านั้น ถือว่าต่ำมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการทดสอบ 30 วัน ก่อนที่จะประเมินผล และนำไปดำเนินการกับรถเมล์ ขสมก. ที่มีกว่า 3,000 คันในปัจจุบัน, รถ บขส. และรถของราชการด้วย ขณะเดียวกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ก่อนรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการในเรื่องของ PM 2.5 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ นายมติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการประจำศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ (public outreach) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ เครื่องกรองอากาศติดตั้งบนรถเมล์ สามารถช่วยกรอง PM 2.5 ได้มากน้อยแค่ไหน ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “มติพล ตั้งมติธรรม” โดยมีใจความว่า
“หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ก็คือการสร้าง science literacy ภายในสังคม หรือการพยายามผลักดันให้สังคมหันมาถกเถียงกันโดยใช้ข้อมูล หลักฐาน สถิติและตัวเลขประกอบ แทนที่จะใช้ความรู้สึก เช่นเดียวกัน การจะเถียงกันว่ามาตรการในการแก้ปัญหาทางสังคม เช่น การลดฝุ่นควัน จะสามารถทำได้หรือไม่ เราควรจะพูดกันด้วยตัวเลขเป็นหลัก ก่อนที่จะพิจารณาถึงความคุ้มค่า
จากที่เคยคำนวณเอาไว้คร่าวๆ ว่าหากเราต้องการจะเอาน้ำฉีด หรือกรอง PM 2.5 ออกไปจากอากาศที่อยู่เฉพาะในเขต กทม.จะต้องใช้มากแค่ไหน ปรากฏว่าวันนี้ทาง รมว.คมนาคม ไม่เพียงแต่เสนอไอเดียในการติดตั้งเครื่องกรองบนรถเมล์ แต่ได้อ้างว่ามีการ “ทดลองกับรถเมล์ ขสมก.1 คัน” และ “การทดสอบใกล้เคียงกับสมมติฐานที่ตั้งเอาไว้” และ “จะมีการทดสอบ 30 วัน ก่อนที่จะประเมินผล และนำไปดำเนินการกับรถเมล์ ขสมก.ที่มีกว่า 3,000 คันในปัจจุบัน, รถ บขส. และรถของราชการด้วย”
แต่จากข้อมูลที่ให้เอาไว้ในข่าว เป็นเพียงปริมาตรอากาศที่กรองได้ทางทฤษฎีจากการคูณความเร็ว 20 กม./ชม. กับพื้นที่หน้าตัด 1 ตร.ม. ได้ปริมาตรอากาศที่กรองเอาไว้ที่ 20,000 ลบ.ม./ชม. ซึ่งหาได้เกี่ยวกับการทดลองวิ่งจริงของรถเมล์หนึ่งคันไม่ (ความเร็ว 20 กม./ชม. เป็นเพียงค่าทางทฤษฎี และไม่ได้มีการวัดปริมาตรที่กรองได้จริง) เราจึงไม่อาจทราบได้ว่าหากเขาจะทดลองเพิ่มอีกแล้วจะเอาผลอะไรไปวัด
แต่อย่างหนึ่งที่เราสามารถแสดงให้เห็นได้ก็คือ อัตราส่วนของอากาศที่เขาอ้างว่ารถเมล์สามารถกรองได้ กับอากาศที่เป็นมลพิษทั้งหมด สำหรับอากาศที่เป็นมลพิษทั้งหมด คิดเอาพื้นที่แค่เฉพาะใน กทม.ที่มีพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร และคิดความสูงของฝุ่นง่ายๆ ที่ 1 กม. เราจะได้ว่ามีอากาศที่ต้องบำบัดทั้งสิ้น 1.568E+12 ลบ.ม. แทนด้วยพื้นที่ของภาพนี้ทั้งหมด 1,567x1045 พิกเซล หรือเทียบเท่าหนึ่งพิกเซลแทนด้วยอากาศปริมาตรหนึ่งล้านลบ.ม.
ส่วนอากาศที่กรองได้ 20,000 ลบ.ม./ชม. แสดงแทนด้วยพื้นที่สีแดง แต่สำหรับท่านที่คิดว่าก็ไม่ได้ดูแย่นัก พื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสสีแดงเป็นเพียงภาพบรรยายเท่านั้น พื้นที่ที่แสดงถึงปริมาตรอากาศที่ถูกกรองโดยรถเมล์ทั้งสิ้นจริงๆ แล้วอยู่ในบริเวณมุมล่างขวาของภาพ บริเวณที่ลูกศรชี้ (อาจจะต้องขยายภาพหน่อย) มีพื้นที่ทั้งสิ้น ประมาณ 10 พิกเซลในภาพนี้
บางคนอาจจะบอกว่า แต่นี่ก็แค่รถเมล์คันเดียว ถ้าพร้อมๆ กันหลายสิบคันก็น่าจะได้มากกว่านี้รึเปล่า? ต้องขอบอกว่าเสียใจด้วย เพราะนี่ได้คิดจากปริมาตรที่ได้จากการกรองของรถเมล์ 500 คันพร้อมกันตลอดเวลา 1 ชั่วโมงเป็นที่เรียบร้อยแล้วแล้ว (เพราะว่าถ้าแสดงรถเมล์เพียงคันเดียวพื้นที่บนอินโฟกราฟฟิกจะเล็กเกินกว่าที่จะสามารถแสดงบนภาพนี้ได้)
ทั้งนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือ ในข่าวคมนาคม พูดราวกับว่าต้นทุนนั้นมีแต่เครื่องกรอง และแผ่นกรองที่ต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะยังไงรถเมล์ก็วิ่งอยู่แล้ว ติดเครื่องกรองไปจะเสียอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น หลักการอนุรักษ์พลังงานบอกเราว่า ไม่ว่าเราจะใช้พัดลมเป่าลมผ่านเครื่องกรองที่ความเร็ว 20 กม./ชม. หรือเอาเครื่องกรองไปติดเอาไว้บนรถเมล์ที่วิ่ง 20 กม./ชม. พลังงานที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การติดตั้งเครื่องกรองเอาไว้นั้นจะเท่ากับเป็นการเพิ่มแรงต้านอากาศของรถเมล์ และแรงต้านที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็จะส่งผลอยู่ในรูปของการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่มากขึ้น นอกจากแรงต้านอากาศนี้จะส่งผลในรูปของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้รถเมล์ปล่อยควันพิษเพิ่มขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าไอเสียที่รถเมล์ปล่อยออกมานั้นสะอาดแค่ไหน บางทีอากาศที่กรองได้อาจจะไม่ได้เยอะไปกว่า PM 2.5 ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียในการผลักดันเครื่องกรองผ่านอากาศกรุงเทพฯ”