ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยการติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์ ขสมก. ตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างหนัก เพราะคำนวณดูแล้ว “ได้ไม่คุ้มเสีย” กับงบประมาณกว่า 22 ล้านบาทที่ต้องใช้
มิหนำซ้ำ ยังมีข้อมูลวิชาการออกมาคัดง้าง โดยเฉพาะการเปิดประเด็นของ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แฉกรณีค่าโง่พันล้าน “เครื่องตรวจระเบิด GT200” ได้ออกมาเปิดเผยว่า “การติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารของ ขสมก. เป็นเรื่องลวงโลกเช่นเดียวกับเครื่อง GT 200”
กล่าวสำหรับความเป็นมาของการติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม ซึ่ง นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยืนยันว่า ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้จริง
“ส่วนจะช่วยลดจำนวนฝุ่นได้มากน้อยเพียงใด กรมการขนส่งทางบก และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเป็นผู้ประเมิน รวมทั้งพิจารณาขยายผลติดตั้งบนรถเมล์ของ ขสมก. ทั้ง 3,000 คันด้วย ซึ่งขณะนี้เราได้รับเครื่องฟอกอากาศมาแค่ 1 เครื่อง อย่างไรก็ตาม เรามองว่าการดำเนินการทดลองในครั้งนี้หากประสบความสำเร็จก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากประเมินแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จก็สามารถยุติการดำเนินการได้ ซึ่งไม่มีอะไรเสียหาย”ผอ.ขสมก.อธิบาย
ทั้งนี้ ในการทดลองติดตั้งบนหลังคาด้านหน้ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) สาย 34 รังสิต-หัวลำโพง และทดลองวิ่งจริงในระยะทาง 22 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ผลทดสอบพบว่า ขณะที่รถวิ่ง ผลการวัดค่า PM 2.5 ในอากาศก่อนเข้าเครื่องกรอง มีค่าอยู่ในระดับ 48 - 52 (คุณภาพอากาศปานกลาง) ในขณะที่ อากาศที่ผ่านเครื่องกรองออกมาแล้ว มีค่าอยู่ในระดับ 1 - 5 (คุณภาพอากาศดีมาก)
ดังนั้น เบื้องต้นจะนำร่องติดตั้งกับรถเมล์ต้นแบบ ขสมก. ก่อน 3 คันต่อเส้นทาง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 129 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมแล้วประมาณ 387 คัน
แน่นอนว่า หากบทสรุปออกมาว่าผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ จะมีดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เเละหลักเกณฑ์ของสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบกต่อไป
สำหรับต้นทุนในการดำเนินการเบื้องต้นราคากล่องอยู่ที่ 2,000 บาทต่อกล่อง และไส้กรองราคาประมาณลูกละ 500 บาท ใช้ได้ประมาณระยะเวลา 400 ชั่วโมง หรือ 2 สัปดาห์ รวมราคาประมาณ 3,000 บาท เบ็ดเสร็จรวมค่าอุปกรณ์ค่าติดตั้งค่าบำรุงรักษา รถเมล์ ขสมก. ที่มีอยู่กว่า 3,000 คันในปัจจุบัน ใช้งบประมาณราวๆ 22 ล้านบาท
ส่วนการทำงานของเครื่องต้นแบบ ใช้หลักการกวาดอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งเเขวนลอยอยู่บนถนน ที่มีการจราจรหนาเเน่นในกรุงเทพมหานคร ในระดับความสูงไม่เกิน 5 เมตร เมื่อรถวิ่ง อากาศจะปะทะเข้าหน้ารถ และผ่านเข้าเครื่องกรองโดยอัตโนมัติ
เครื่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์ ขสมก. มีหน้ากว้าง 0.5 ลูกบาศก์เมตร สามารถกวาดอากาศเข้าเครื่องกรอง ได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว ทำการติดเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถ สูงประมาณ 25 เซนติเมตร โดยมีไส้กรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งหากใช้ความเร็วเฉลี่ย 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถกรองอากาศได้ 20,000 ลูกบาตรเมตรต่อชั่วโมง
โดยวิธีการดังกล่าว สามารถกรองอากาศได้แบบไม่สิ้นเปลืองพลังงาน เนื่องจากไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการดูดลมเข้าเครื่องกรอง ดังเช่นเครื่องกรองอากาศทั่วไป อีกทั้ง ไส้กรองอากาศที่ใช้ จะเป็นไส้กรองที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ได้ แต่มีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ทั่วไป อาศัยหลักการเดียวกับการใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเมือง เซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ และ กรุงนิวเดลี ประเทศ อินเดีย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แจกแจงว่าการทดสอบเป็นไปตามคาดใกล้เคียงกับสมมติฐานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เบื้องต้นจะมีการทดสอบ 30 วัน ก่อนที่จะประเมินผล ประมาณเดือน มี.ค. 2563 และนำไปดำเนินการกับรถเมล์ ขสมก. ที่มีกว่า 3,000 คัน รวมไปถึงรถ บขส และรถของทางราชการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ก่อนรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)
สำหรับการติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. กำลังอยู่ในขั้นตอน ทดสอบ ปรับแบบ ก่อนนำมาใช้จริง หากนำไปดำเนินการกับรถเมล์ ขสมก. ที่มีกว่า 3,000 คันในปัจจุบัน จะฟอกอากาศทั้งวันได้ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามขึ้นทำนองว่า การเครื่องกรองอากาศติดตั้งบนรถเมล์ สามารถช่วยกรอง PM 2.5 ได้มากน้อยเพียงใด? ผลลัพธ์คุ้มค่ากับงบประมาณกว่า 22 ล้าน ที่ต้องจ่ายไปหรือไม่?
ในประเด็นนี้ นายมติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการประจำศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ (public outreach) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นถึงผลทดสอบหลังการทดลองติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบนรถเมล์ ขสมก. ไปในทิศทางตรงกันข้าม
นักวิชาการรายนี้ระบุว่า จากข้อมูลที่ให้เอาไว้ในข่าว เป็นเพียงปริมาตรอากาศที่กรองได้ทางทฤษฎีจากการคูณความเร็ว 20 กม./ชม. กับพื้นที่หน้าตัด 1 ตร.ม. ได้ปริมาตรอากาศที่กรองเอาไว้ที่ 20,000 ลบ.ม./ชม. ซึ่งหาได้เกี่ยวกับการทดลองวิ่งจริงของรถเมล์หนึ่งคันไม่ (ความเร็ว 20 กม./ชม. เป็นเพียงค่าทางทฤษฎี และไม่ได้มีการวัดปริมาตรที่กรองได้จริง) จึงไม่อาจทราบได้ว่าหากจะทดลองเพิ่มอีกแล้วจะเอาผลอะไรไปวัด
นอกจากนั้น อีกประเด็นหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือ กระทรวงคมนาคม พูดราวกับว่าต้นทุนมีแต่เครื่องกรอง และแผ่นกรองที่ต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะถึงอย่างไรรถเมล์ก็วิ่งอยู่แล้ว ติดเครื่องกรองไปจะเสียอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น หลักการอนุรักษ์พลังงานบอกว่า ไม่ว่าจะใช้พัดลมเป่าลมผ่านเครื่องกรองที่ความเร็ว 20 กม./ชม. หรือเอาเครื่องกรองไปติดเอาไว้บนรถเมล์ที่วิ่ง 20 กม./ชม. พลังงานที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด
“หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การติดตั้งเครื่องกรองเอาไว้นั้นจะเท่ากับเป็นการเพิ่มแรงต้านอากาศของรถเมล์ และแรงต้านที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็จะส่งผลอยู่ในรูปของการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่มากขึ้น นอกจากแรงต้านอากาศนี้จะส่งผลในรูปของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้รถเมล์ปล่อยควันพิษเพิ่มขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าไอเสียที่รถเมล์ปล่อยออกมานั้นสะอาดแค่ไหน บางทีอากาศที่กรองได้อาจจะไม่ได้เยอะไปกว่า PM 2.5 ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียในการผลักดันเครื่องกรองผ่านอากาศกรุงเทพฯ”นายมติพลสรุปความ
สรุปง่ายๆ เครื่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์ ขสมก. สามารถฟอกอากาศ ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้จริง แต่ปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และการติดตั้งบนรถเมล์ ขสมก. กว่า 3,000 คันที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำนั่นเอง.