xs
xsm
sm
md
lg

"อ.เจษฎา"ซัดกลับทุกเม็ด ! ขสมก.มั่วผลทดลองเครื่องกรองอากาศหลังคารถ จี้แก้ที่ต้นเหตุเครื่องยนต์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อ.เจษฎา" ออกแถลงการณ์โต้ ขสมก.ครบทุกเม็ด ชำแหละอ้างอิงข้อมูลมั่ว การทดลองไม่ถูกต้อง แล้วอวดอ้างเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์ได้ผล ย้ำไร้ประโยชน์ เสนอแก้ที่ต้นเหตุ เร่งปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ - จัดหารถใหม่ - ใช้รถพลังงานไฟฟ้า พร้อมเรียกร้องนักวิชาการคนอื่นที่อยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความกล้าหาญบอกข้อเท็จจริงกับ รมว.คมนาคม

จากกรณีที่ นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยืนยันผลทดลองเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์ ช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้จริง (อ่านเพิ่มเติม : ตอกหน้า"นักวิชาเกรียน" ขสมก. แจงติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์ไม่ลวงโลกยันกรองฝุ่นPM 2.5 ได้จริง)

ล่าสุดวันนี้ (18 ก.พ.63) ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ ว่า ...

จากการที่ ขสมก. ออกแถลงการณ์ตอบโต้นักวิชาการ ที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน เรื่องการติดเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารประจำทาง นั้น ผมในฐานะที่เป็นนักวิชาการคนดังกล่าว ขอแย้งข้อชี้แจงต่างๆ ของ ขสมก. ดังนี้

1. ขสมก. อ้างว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จึงได้ทดสอบการติดตั้งเครื่องกรองอากาศดักจับฝุ่น PM 2.5 ในขณะที่รถวิ่งให้บริการ

แต่นั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนแต่อย่างไร !! เพราะจริงๆ แล้ว สาเหตุของฝุ่น PM 2.5 ที่มีมากในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ที่ใช้เครื่องยนต์น้ำมันดีเซล มาตรฐานต่ำระดับแค่ยูโร 1 ยูโร 2 และยังมีอายุการใช้งานที่เก่ามาก ส่วนใหญ่มักจะเกิน 10 ปีขึ้นไป

ดังนั้น สิ่งที่ ขสมก. ควรจะทำโดยเร่งด่วน คือ เร่งปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ของรถโดยสารประจำทางตัวเองให้ดีขึ้น รวมทั้งจัดหารถรุ่นใหม่ที่มีเครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูง ในระดับมาตรฐานที่สูงขึ้น เช่น ยูโร 4 ยูโร 5 รวมทั้งใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าได้แล้ว

ไม่ใช่พยายามจะหาทางแก้แบบปลายเหตุเช่นนี้

2. ขสมก. อ้างว่า เครื่องต้นแบบนี้ สามารถกวาดอากาศที่มีฝุ่น PM 2.5 บนถนนขณะที่การจราจรหนาแน่น โดยอากาศปะทะเข้าหน้ารถ และผ่านเข้าเครื่องกรองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในการดูดลมเข้าเครื่อง และไส้กรองที่ใช้ เป็นไส้กรองฝุ่น PM 2.5 ราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไป

แต่ความจริงแล้ว การที่อากาศจะเข้าในเครื่องกรองได้เองนั้น ความเร็วของรถจะต้องสูงเพียงพอ ซึ่งขัดแย้งกับคำว่า "เมื่อจราจรหนาแน่น" ที่รถจะเคลื่อนตัวได้ช้ามาก จากการที่จราจรติดขัดหยุดนิ่ง

นอกจาก ความเร็วของรถที่ต้องมากพอจะทำให้อากาศไหลเข้าไปในเครื่องแล้ว อากาศนั้นต้องแรงดันเพียงพอที่จะทะลุผ่านผ่านไส้กรองฝุ่น PM 2.5 ของเครื่องด้วย มิเช่นนั้น ก็จะไม่เกิดการกรองขึ้น ... นั่นคือสาเหตุที่ ทำไมปกติ เครื่องฟอกอากาศ จะต้องใช้พัดลมในการดูดอากาศให้เข้ามาในเครื่องด้วยความเร็วเพียงพอที่จะสามารถกรองฝุ่นได้

ขสมก. ยังอ้างว่า ใช้หลักการเดียวกับที่ใช้ในเมืองเซาท์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษ และ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย อีกด้วย

การอ้างเช่นนั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะระบบกรองอากาศบนรถประจำทางของที่ประเทศอังกฤษใช้นั้น แตกต่างกับที่ ขสมก. ติดตั้งอย่างมาก

โครงการรถเมล์กรองฝุ่น ที่วิ่งทดลองในเมืองเซาท์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษนั้น เป็นกิจกรรมรณรงค์ที่จัดทำโดยภาคเอกชน ในการจัดซื้อรถประจำทางรุ่นใหม่ล่าสุด ที่ใช้เครื่องยนต์มาตรฐานสูงมาก ระดับยูโร 6 ซึ่งปล่อยมลภาวะน้อยมากๆ เพื่อเอามารณรงค์ให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการสร้างมลพิษลงได้

โดยโครงการนี้ได้สร้างสีสันด้วยการติดตั้งเครื่องกรองอากาศไว้บนหลังคารถด้วย (กรองฝุ่น PM 10) ซึ่งเครื่องนี้ใช้พัดลมขนาดใหญ่ ดูดอากาศเข้ามา ก่อนจะผ่านตัวกรองฝุ่นไปเก็บกักเอาไว้

แม้ว่าทางโครงการจะประชาสัมพันธ์ว่าประสบความสำเร็จอย่างดีในการกรองฝุ่น แต่จริงๆ แล้ว หลังจากทดลองวิ่งไป 100 วันนั้น พบว่าสามารถเก็บฝุ่นได้ปริมาณเพียง 65 กรัม หรือแค่เท่ากับลูกเทนนิส 1 ลูกเท่านั้นเอง

ส่วนที่อ้างถึงการใช้หลักการนี้ในเมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย ความจริงแล้ว มาจากคลิปรายการ เถื่อนเทรเวล ของคุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดยปรากฏเป็นเพียงแค่บริษัท start up แห่งหนึ่ง ที่ทำกล่องกรองอากาศ หวังจะให้คนเอาไปติดบนหลังคารถแท็กซี่และรถยนต์ส่วนบุคคล

แต่ในรายการเอง ผู้ผลิตก็ยอมรับว่ากล่องนี้มีประสิทธิภาพต่ำมาก นั่นคือ ถ้าจะทำให้อากาศในเมืองนิวเดลีดีขึ้นได้ จะต้องติดบนรถยนต์เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของรถทั้งหมดที่วิ่งอยู่ในเมืองเดลลี ซึ่งมีเป็นแสนคัน

ดังนั้น การที่ ขสมก. เอากรณีในสองประเทศนี้มาอ้าง จึงไม่ใช่การอ้างอิงที่เหมาะสมถูกต้อง

3. ขสมก. บอกว่าเครื่องกรองอากาศมีหน้ากว้าง 0.5 ลูกบาศก์เมตร (จริงๆ น่าจะเป็นหน่วยตารางเมตรนะ) จะกวาดอากาศได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว ดังนั้น ถ้าคนสูดหายใจเฉลี่ย 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง มันจะสามารถกรองอากาศให้คนบนถนนได้ถึง 20,000 คน

แต่การคำนวณแบบนั้นเป็นวิธีการที่ผิด เพราะไม่ควรจะวัดจากปริมาณของอากาศที่เข้าเครื่องด้านหน้าของเครื่องกรอง ต้องวัดจากอากาศที่ผ่านเครื่องกรองออกมาด้านหลังแล้วว่าได้เป็นปริมาตรเท่าไหร่ ต่างหาก

ซึ่งปกติแล้ว เมื่อใช้ไส้กรองที่กรองฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่น แบบ hepa filter ปริมาณของอากาศที่ออกมาด้านหลังจะลดลงเป็นอย่างมาก เพราะโดนเส้นใยของแผ่นกรองรวมทั้งฝุ่นที่ติดอยู่บนเส้นใหญ่นั้นกักอากาศเอาไว้ (จึงต้องใช้พัดลมไฟฟ้า ช่วยในการดูดและเป่าลมออกมา)

ยิ่งใช้นานเท่าไหร่ อากาศจะยิ่งไม่สามารถออกจากเครื่องกรองมาได้ เนื่องจากแผ่นกรองฝุ่นเกาะหนาแน่นเต็มไปหมดแล้ว ... นั่นคือ การคำนวณอากาศที่จะให้กับคนบนถนนตามที่อ้างมานั้น เกินความจริงไปอย่างมาก

ในโลกความเป็นจริง ถึงจะมีอากาศที่ผ่านการกรองแล้ว ออกมาจากบนหลังคาด้านหน้ารถ แต่ในส่วนท้ายรถเอง ก็มีไอเสียออกมานับร้อยนับพันเท่า ของอากาศที่จะได้จากเครื่องกรองนั้น ... ประสิทธิภาพโดยรวม จึงเรียกได้ว่า ไม่มีประโยชน์แต่อย่างไร

4. ขสมก. รายงานผลการลองนำรถวิ่งให้บริการ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ผลการวัดค่า PM 2.5 ในอากาศก่อนเข้าเครื่องมีค่าอยู่ในระดับ 48-52 ในขณะที่ อากาศที่กรองแล้ว มีค่าอยู่ในระดับ 1-5 (คาดว่า มีหน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5)

การรายงานผลการทดสอบแบบนี้ นอกจากจะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่แล้ว ยังแสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องการวัดประสิทธิภาพของเครื่องกรองอากาศเป็นอย่างยิ่ง

เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่เมื่ออากาศผ่านแผ่นกรอง จะทำให้จำนวนฝุ่นน้อยลง ดังค่าที่แสดงนั้น ... แต่สิ่งที่ควรจะวัดจริงๆแล้ว คือเอาแผ่นกรองไปชั่งน้ำหนักเทียบก่อนและหลังจากการใช้งาน เพื่อหา "อัตราการดักฝุ่น" ว่าดักได้เป็นปริมาณเท่าไหร่ ต่อพื้นที่ ต่อหน่วยเวลา เพื่อนำไปคำนวณต่อไปให้เป็นค่าประสิทธิภาพของเครื่อง เทียบกับวิธีการหรือเครื่องอื่นๆ

(ยกตัวอย่างกรณีของรถเมล์กรองฝุ่นของประเทศอังกฤษ ที่เก็บฝุ่นได้ 65 กรัม จากการวิ่งเป็นเวลา 100 วัน ในพื้นที่เส้นทางรอบเมืองเซาท์แฮมป์ตัน)

เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนอ้างว่า ตู้เย็นตู้หนึ่ง สามารถทำให้ทั้งสนามฟุตบอลเย็นได้ โดยการเอาเทอร์โมมิเตอร์ไปวัดอุณหภูมิที่หน้าประตูตู้เย็นที่เปิดอยู่ ก็จะเห็นว่าวัดค่าอุณหภูมิได้ต่ำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำให้อากาศทั้งสนามเย็นลงแต่อย่างไร

5. ขสมก. สรุปคำชี้แจงว่า การทดลองนี้ เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยกระทรวงคมนาคม และ คณะทำงานจากหลายหน่วยงาน ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะดำเนินการขออนุญาตต่อไปกรมการขนส่งทางบก

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการ และเป็นประชาชนคนนึง ที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลนำไปใช้ในการบริหารประเทศ จึงอยากขอร้องให้นักวิชาการท่านอื่น ๆ ที่อยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการทดลองนี้ ให้มีความกล้าหาญทางวิชาการ ที่จะใช้ความรู้ที่ท่านมี ให้ข้อเท็จจริงกับ รมต. กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเจ้าของแนวคิด อย่างตรงไปตรงมา ว่าจริงๆ แล้ว มันไม่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มีความเหมาะสม ในการนำไปใช้การแต่อย่างไรครับ




กำลังโหลดความคิดเห็น