xs
xsm
sm
md
lg

ได้ผลจริง! ขสมก.โต้ไม่ลวงโลก ทดลองเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขสมก.แจงการทดลองติดตั้งเครื่องกรองอากาศต้นแบบ กรองและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) บนหลังคารถเมล์ วัดค่าผลอากาศหลังผ่านเครื่องกรองอยู่ในระดับ 1-5 (คุณภาพอากาศดีมาก) ไม่ลวงโลก

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ชี้แจงกรณีที่มีข่าวกรณีที่นักวิชาการบางท่านได้แสดงความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับการที่ ขสมก.ติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารของ ขสมก.ว่า เป็นเรื่องลวงโลก เช่นเดียวกับเครื่อง GT 200 ว่า 1. ขสมก.ได้ทดสอบการติดตั้งเครื่องกรองอากาศต้นแบบบนหลังคารถโดยสารของ ขสมก. เพื่อทดลองกรองอากาศในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ขณะรถโดยสารวิ่งให้บริการประชาชน ตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

2. การทำงานของเครื่องต้นแบบ ใช้หลักการกวาดอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งแขวนลอยอยู่บนถนนที่มีการจราจรหนาแน่นในกรุงเทพมหานคร ในระดับความสูงไม่เกิน 5 เมตร เมื่อรถวิ่งอากาศจะปะทะเข้าหน้ารถ และผ่านเข้าเครื่องกรองโดยอัตโนมัติ ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถกรองอากาศได้โดยไม่สิ้นเปลืองพลังงาน เนื่องจากไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการดูดลมเข้าเครื่องกรองดังเช่นเครื่องกรองอากาศทั่วไป

อีกทั้งไส้กรองอากาศที่ใช้จะเป็นไส้กรองที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ได้ แต่มีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเมือง เซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ (รายละเอียดข่าว https://edition.cnn.com/2020/01/24/uk/pollution-sucking-buses-scli-gbr-intl-scn/index.html ) และกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย (รายละเอียดข่าว https://www.edexlive.com/people/2018/nov/02/designed-by-delhi-researchers-this-air-filter-can-sit-atop-any-vehicle-and-clean-up-delhis-pollute-4332.html )

3. รถโดยสารที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่มีหน้ากว้าง 0.5 ลูกบาศก์เมตรบนหลังคา จะสามารถกวาดอากาศเข้าเครื่องกรองได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว (เมื่อรถโดยสารวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะทางยาว 20 กิโลเมตร) ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า ผู้ใหญ่ 1 คนจะสูดอากาศหายใจเฉลี่ย 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น รถโดยสาร 1 คัน จะสามารถกรองอากาศให้ประชาชนที่อยู่บนถนนได้ถึง 20,000 คน

4. จากการทดลองนำรถโดยสารที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถมาวิ่งให้บริการประชาชนเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ขณะที่รถวิ่ง ผลการวัดค่า PM 2.5 ในอากาศก่อนเข้าเครื่องกรองมีค่าอยู่ในระดับ 48-52 (คุณภาพอากาศปานกลาง) ในขณะที่อากาศที่ผ่านเครื่องกรองออกมาแล้ว มีค่าอยู่ในระดับ 1-5 (คุณภาพอากาศดีมาก)

5. การทดลองนี้เป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชน โดยกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานจากหลายหน่วยงาน ซึ่ง ขสมก.ได้ดำเนินการทดลองนี้ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม หากการทดลองต่อเนื่องได้ผลเป็นที่น่าพอใจจึงจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เเละหลักเกณฑ์ของสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบกต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น