“มันเรื่องลวงโลก แบบเดียวกับเครื่อง GT200 แหละ” อ.เจษฎา ออกโรงเบรกนโยบาย ขสมก. หลังประกาศพร้อมติดตั้ง “กล่องกรองอากาศ” บนหลังคารถเมล์เพิ่มอีก 3,000 คัน!! อ้างกรองฝุ่น PM 2.5 ได้จริง ทั้งที่ถูกมองว่าใช้การไม่ได้ในความเป็นจริง
ติดกล่องกรองอากาศ=ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
“ติดกล่องกรองอากาศบนหลังคารถเมล์ มันก็เรื่องลวงโลก แบบเดียวกับเครื่อง GT200 แหละ... หวังว่า นี่ก็ปี 2020 แล้ว ประชาชนคงไม่โดนหลอกกันง่ายๆ อีกนะ”
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลัง ขสมก.จะทำการติดตั้งเครื่องกรองอากาศ บนหลังคารถเมล์ เพื่อกรองฝุ่น PM 2.5 จนเป็นประเด็นข้อถกเถียงของสังคมในขณะนี้
โดยนักวิชาการรายนี้ ได้เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ว่า เป็นแนวคิดที่ไร้สาระ มองตัวรถเมล์ คือ ตัวสร้างมลภาวะ ปล่อยไอเสีย ถ้าติดกล่องนี้ไม่มีประโยชน์ในการที่ใช้ฟอกอากาศ ขณะเดียวกัน มองไม่ได้แก้ที่สาเหตุของการทำให้ลดมลภาวะลง
“โดยพื้นฐานคือไร้สาระ มันคือการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่มีใครที่เป็นนักวิชาการมาช่วยพูดให้เขาฟังเลยเหรอว่าไม่ควรทำ แถมเขาบอกว่าได้ผลดี เขาจะทำเพิ่มอีก 3,000 คัน อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ จะบอกว่าทำคันเดียวรู้แล้วเงียบๆ ผมก็ไม่ว่านะ นี่จะทำเพิ่ม แล้ววันนี้ก็มาแถลงตอบโต้ผมอีก
[รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์]
ผมมองว่า ถ้าเกิดคนพูดเป็นนักการเมือง หรือเป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางด้านวิชาการเลย แล้วจริงๆ สามัญชนทั่วไปเขาก็พอมองออก ถ้าเขาเข้าใจในผิดจริงๆ ก็ไม่ว่า แต่นี่ของ ขสมก. ซึ่งมีหน่วยงานทางด้านวิศวกรรมทางยานยนต์อยู่ ย่อมรู้ความจริงคืออะไร
การที่พูดในเชิงว่าส่วนของเขา รับฝุ่นได้เท่าไหร่ มันแจงอย่างนี้ มันก็ไม่ถูก หรือวิธีการวัดค่า ที่เขาใช้การวัดว่าเอาเครื่องวัดไปวัดหลังกล่อง แล้วลมออกมา มีค่ามลพิษต่ำลง แล้วฝุ่นเหลือไว้เท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีการวัดที่ถูกต้อง”
ขณะด้าน“สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ชี้แจงถึงการติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารสาธารณะ ว่า เป็นเพียงการทดสอบนำร่อง แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากแนวคิดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้คิดค้นระบบฟอกอากาศเคลื่อนที่
ขสมก.เป็นเพียงผู้นำระบบมาติดตั้งทดลองเท่านั้น ซึ่งระบบการทำงานจะอาศัยลมขณะรถวิ่งด้วยความเร็ว 20 กม.ต่อ ชม. พัดผ่านไส้กรองออกมาเป็นอากาศสะอาด ด้วยการดักจับฝุ่นขนาดใหญ่ หรือฝุ่นหยาบ โดยคำนวณว่า รถโดยสาร 1 คัน จะสามารถกรองอากาศให้กับประชาชนที่อยู่บนถนนได้ถึง 20,000 คน
อีกทั้งไส้กรองอากาศที่ใช้จะเป็นไส้กรองที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ได้ มีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ และกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ยืนยันสามารถทำได้ ไม่ลวงโลก
อย่างไรก็ดี มุมมองของ อ.เจษฎา กลับเห็นเรื่องนี้ต่างออกไป มองภาพรวมเป็นการกล่าวอ้างถึงนักวิจัย รวมถึงตัวเลขเป็นการคำนวณที่ผิด ในเชิงคุณภาพ และค่าใช้จ่าย ไม่สามารถทำออกมาได้
“เขาพยายามจะอ้างว่ารถเมล์ของเขา สามารถเอากล่องไปอยู่ข้างบน สามารถจะกรองอากาศให้กับคนที่หายใจได้ แต่ว่าตัวกล่องเป็นแค่กล่องเปล่าๆ และติดตัวแผ่นฟิลเตอร์กรองเอาไว้
เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ว่าการกรองนั้น มันมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน จะเห็นว่าเขาอ้างในการคำนวนตัวเลข ว่า เขาคิดจากหน้ากล่องแล้ว สามารถรับลมเข้ามา แล้วลมก็ออกมาเทียบเท่าสามารถให้อากาศดีให้กับคนได้ 2 หมื่นคน โดยคำนวน
ซึ่งความจริงแล้วนั้นไม่ใช่ เพราะว่าตัวกล่องแบบนี้ มันเป็นลักษณะมีฟิลเตอร์ ฟิลเตอร์แปลว่าลมที่เข้ามาและลมที่ออกไม่เท่ากัน ลมที่ออกมาอาจจะมีแค่ประมาณ 1% เท่านั้นเอง โดยผ่านฟิลเตอร์กลั่นกรอง
เพราะฉะนั้นจำนวนลมที่กรองไม่สะอาด มีอยู่แค่เล็กน้อยที่ออกมา ไม่ได้เยอะเหมือนที่เขาจะกล่าวอ้าง ไม่สามารถทำงานอย่างนั้นได้
และตัวของรถเมล์ คือ ตัวสร้างมลภาวะ คือ มีระยะทางของการที่ปล่อยเอาไอเสียมามากมาย ดังนั้น ถ้าติดกล่องนี้ มันไม่ได้มีประโยชน์ในการที่ใช้ฟอกอากาศได้อย่างที่กล่าวอ้าง ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของการทำให้ตัวรถเองลดมลภาวะลงได้
การกล่าวอ้างถึงนักวิจัยอื่นๆ อย่างที่อินเดีย หรือที่อังกฤษ ก็ตาม เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ตรงกันกับกรณีนี้ อย่างเช่น อินเดีย เป็นการติดกล่องอยู่บนหลังคาของแท็กซี่ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว ต้องใช้จำนวนของกล่องแบบนี้เยอะมาก คือเขาบอกว่าครึ่งหนึ่งของรถในเมืองเดลีทั้งหมดเลย ถึงจะพอลดมลภาวะลงมาได้ ซึ่งมันเกินความเป็นจริงที่จะทำได้อย่างนั้น”
“รถเมล์ไฟฟ้า”ดีกว่า “กล่องฟอกอากาศ”
ถ้าไม่เลือกวิธีการแก้ปัญหาโดยวิธีติดตั้งกล่องฟอกอากาศ ลองให้อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยารายเดิม ช่วยแนะว่าควรจะเป็นวิธีไหนที่ได้ผลมากกว่า โดยไม่ต้องตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ อาจารย์ได้แนะนำว่า ควรใช้ระบบขนส่งที่มีคุณภาพ และสร้างมลภาวะต่ำที่สุด คือ การใช้รถเมล์ไฟฟ้า
“งบประมาณที่ออกมาก็สูงมาก คือ เขาบอกเขาคำนวณเทียบกับรถทั้งหมดของเขา 3,000 คัน แล้วอย่าลืมว่ามีกล่องที่จะติด และต้องมาเปลี่ยนตัวแผ่นกลอง ตัวฟิลเตอร์ลื่นๆ อีก เขาเคยบอกไว้ว่า 20 ล้าน
20 ล้าน เราสามารถไปซื้อรถไฟฟ้าดีๆ ได้หลายคัน ทำไมไม่ไปทำอย่างนั้นแทน เอามาลงกับของอย่างนี้ที่มันไร้สาระเพื่ออะไร แล้วเดี๋ยวพอฝนตก (หัวเราะ) หน้าฝน กล่องนี้ก็เปียก ไอ้แผ่นกรองก็เปียก ก็ใช้ไม่ได้อีก หรือจริงๆ ทำไมไม่ติดเครื่องฟอกอากาศในตัวของรถแอร์ ให้คนในนั้นหายใจดีขึ้น ก็ยังพอไหว แต่ติดข้างนอก ไม่มีประโยชน์
จริงๆ แล้ว เราต้องมองไประยะยาวไปเลยว่า เรามองว่า ขนส่งสาธารณะเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ว่าเราควรต้องใช้ระบบขนส่งที่มีคุณภาพ และมีเรื่องของการสร้างมลภาวะที่ต่ำที่สุด ต้องมองไปถึงรถเมล์ไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้าจะไม่ปล่อยของเรื่องมลภาวะออกมาเลย
|
แต่ถ้าเกิดเราจะเริ่มแก้ อาจจะมองเป็นรถรุ่นใหม่ได้มั้ย ตอนนี้รถเมล์ของบ้านเราจะเป็นยูโร 1 ยูโร 2 ซึ่งโบราณมาก แล้วรถของเราประมาณครึ่งหนึ่งก็คืออายุเกิน 10 ปี
และรถที่อายุ 20 ปี ก็มีตั้งเยอะ เพราะฉะนั้นต้องโละรถเก่าๆ ออก แล้วซื้อรถยนต์รุ่นใหม่เข้ามา จะเป็นยูโร 4 ยูโร 5 หรือหมายถึงเรื่องของรถไฟฟ้าก็ตาม
อย่างที่ 2 รถเก่าที่มีอยู่ ก็ต้องทำการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ให้ดีกว่านี้ ซึ่ง ณ วันนี้ก็เห็นอยู่ว่ารถของ ขสมก.เอง ก็ยังพ่นควันดำอยู่ตลอดเวลา”
สำหรับเขาแล้วนั้น อยากให้ลองเปิดใจฟังเสียงค้านจากนักวิชาการบ้าง เพราะอยากให้แก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น ที่ต้นเหตุจริงๆ
“พื้นที่ของปริมาณอากาศของกรุงเทพมหานคร ที่มีฝุ่นหรือมลภาวะมันมหาศาลมาก ผมเปรียบเทียบว่าเรื่องนี้คือ เรื่องของการที่เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ คือ เหมือนคุณเอากระชอนสักกระชอนหนึ่ง พยายามไปกรองน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มันสะอาดขึ้น มันเล็กน้อยมาก มันทำอะไรแทบไม่ได้เลย
แป๊ปเดียว มันกรองตรงไหนมันก็จะเต็ม เพราะฉะนั้นแปลว่าคุณจะต้องทิ้ง และเปลี่ยนแผ่นกรองใหม่อยู่ตลอดเวลาเลยและในเชิงประสิทธิภาพก็ไม่ดี ในเชิงของค่าใช้จ่ายก็ตามมาอีก และในเรื่องของแผ่นกรองจะไปทิ้งที่ไหนอีก ในภาพรวมไม่ใช่การแก้ปัญหาเลย หรือจะมาบอกว่าจะมาทำอะไรสักนิดหน่อยๆ ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาอีกเช่นกัน
ผมเคยจะเสนอแล้วครับ คือถ้าคิดจะมีเครื่องอย่างนี้ มองว่า อาจจะมีเครื่องฟอกอากาศในตัวของรถเมล์ที่เป็นรถปรับอากาศ ที่มันปิดประตู มันต้องปิด ถ้าไม่ปิดมันก็ไม่มีประโยชน์ ถ้ามีเครื่องตรงนั้นอยู่ มันก็เหมือนเราฟอกจากที่บ้าน ออฟฟิศ ให้คนในรถเมล์มีอากาศที่ดีขึ้น
แต่ถ้าคุณต้องการจะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศ ในกรุงเทพมหานคร คุณต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งรถเมล์ของ ขสมก.เอง คือหนึ่งต้นเหตุ
และเราต้องมาคิดในเชิงว่าเราจะปรับปรุงรถยนต์ยังไง จะซื้อคันใหม่ยังไง หรืออีกเรื่องหนึ่งคือรถเมล์ไฟฟ้า นั่นคือทางออกที่ดีที่สุดแล้ว”
ข่าวโดยทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **