xs
xsm
sm
md
lg

ดูให้แน่ก่อนโรยเกลือว่าใช่ “หนอนนิวกินี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ลักษณะของ หนอนตัวแบนนิวกินี มีตัวสีน้ำตาลเข้ม ยาว 5-6 ซม. ลำตัวมันวาว มีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัว ส่วนหัวและท้ายแหลม โดยส่วนหัวจะแหลมกว่า (เครดิต - ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์/Siamensis.org)
แม้จะเป็นเรื่องน่าตกใจที่พบว่าในเมืองไทยมี “หนอนตัวแบนนิวกินี” ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นซึ่งเคยรุกรานสัตว์ท้องถิ่นที่อื่นจนสูญพันธุ์ ทว่าการรณรงค์ให้โรยเหลือหนอนที่กินหอยทากนี้เป็นอาหารก็อาจเป็นช่องโหว่ให้เราทำร้ายสัตว์ท้องถิ่นที่หน้าตาคล้ายสัตว์เอเลี่ยนเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิชาการที่ออกมาเตือนสังคมที่กำลังตื่นตระหนก ให้ตระหนักว่าเราอาจเผลอฆ่าสัตว์ท้องถิ่นที่ลักษณะคล้าย “หนอนตัวแบนนิวกินี” โดยไม่รู้ตัว อีกทั้งยังแสดงความเห็นว่า ไม่สนับสนุนให้ฆ่าสัตว์ตัวใดเลย ซึ่งอาจหมายถึงหนอนตัวแบนที่มาจากต่างถิ่นด้วยเช่นกัน

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้สอบถามเพิ่มเติมต่อความเห็นดังกล่าว ซึ่ง รศ.ดร.เจษฎา กล่าวว่า ที่ไม่สนับสนุนให้ฆ่าสัตว์ตัวใดเลยในกรณีนี้ เพราะมีความกังวลว่า ชาวบ้านที่ไม่รู้จะตื่นตระหนก จนแห่กันไปฆ่าสัตว์ที่มีลักษณะเดียวกันหมด บางตัวที่ต้องเป็นแพะรับบาปนั้นเป็นสัตว์ท้องถิ่นของไทย ซึ่งการกำจัดสัตว์ท้องถิ่นนั้นจะก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบนิเวศ มีผลต่อผู้ล่าและเหยื่อของสัตว์เหล่านี้ด้วย และหนอนท้องถิ่นบางตัวนั้นก็เป็นหนอนที่หายากและใกล้สูญพันธ์

รศ.ดร.เจษฎา ยกตัวอย่างของสัตว์ที่หน้าตาคล้ายกันกับหนอนตัวแบนนิวกินี เช่น หนอนริบบิ้น หนอนหัวขวาน ทากเปลือย ส่วนกรณีการจัดการหนอนตัวแบนนิวกินีนั้น เขาระบุว่ายังไม่มีการศึกษาว่า หนอนเหล่านี้กระจายตัวไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว เพราะว่าไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือไม่มีมหาวิทยาลัยลงไปเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ จึงยังบอกได้ค่อนข้างยากว่าจะต้องจัดการอย่างไร

ทางด้าน ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือกลุ่ม Siamensis.org ให้ความเห็นแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงความน่ากลัวของหนอนตัวแบนนิวกินีว่า ในแง่หนอนเป็นพาหะนำโรคพยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่งนั้นไม่ห่วงมาก เพราะในประเทศไทยมีพาหะของพยาธิชนิดนี้อยู่แล้ว เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอร์รี หอยทากยาวแอฟริกา

“ดังนั้นการมีหอยตัวแบนนิวกินีอีกตัวก็ไม่น่าเป็นห่วงมาก ในปัจจุบันที่มีคนเป็นโรคนี้ในประเทศไทยมีรายงานว่าประมาณ 100-200 คนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก ตกปีละ 1 คนเท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้คือคนที่กินพวกหอยดิบ กินแบบดิบๆ สุก ๆ โดยความเสี่ยงที่คนจะสามารถติดโรคจากหนอนตัวนี้ คือต้องไปกินหอยทากบกที่มีเชื้อโรคตัวนี้อยู่ในตัวก่อน หรือหอยทากที่มีเชื้อโรคตัวนี้ก็ไปถ่าย ไปอึไว้บนผักผลไม้ที่เรากิน แล้วเราล้างผักไม่สะอาดและกินมูลมันเข้าไป แต่โอกาสที่จะติดจากหนอนตัวแบนนี้น้อยมาก”

ทว่า ดร.นณณ์เป็นกังวลว่าหนอนตัวแบนนิวกินีจะส่งผลต่อระบบนิเวศ เพราะหนอนตัวแบนนี้กินหอยและหอยทากเป็นอาหาร ถ้าหอยทากหมดไปนั้นจะไปส่งผลกระทบต่อหอยทาก โดยเฉพาะหอยทากเฉพาะถิ่นซึ่งเป็นหอยทากที่มีความสวยงาม และเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าหอยทากพวกนี้จะต้องหายไป นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่กินหอยทากเป็นอาหารอย่าง ด้วงดินขอบทองแดง กลุ่มงูกินทาก หรือนกหลายชนิดที่ชอบกินหอยทาก พวกนักล่าเหล่านี้ก็จะไม่มีอาหารกิน และจะส่งผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่ และมีรายงานระบุว่าหากหนอนตัวแบนนิวกินีกินหอยทากหมดก็จะไปกินไส้เดือน และกินสัตว์หน้าดินชนิดอื่นไปเรื่อยๆ

ส่วนหนอนชนิดนี้เข้ามาเมืองไทยนานแค่ไหนและเข้ามาได้อย่างไรนั้น ดร.นณณ์ระบุว่า ตามที่ได้รับรายงานนั้น ข้อมูลการพบหนอนชนิดนี้ที่เก่าที่สุดคือภาพถ่ายที่ภ่ายจากในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2553 (เมื่อ 7 ปีมาแล้ว) และตอนนี้หนอนดังกล่าวได้กระจายพันธ์ไปแล้ว 13 จังหวัด ทั้ง กทม. เชียงใหม่ อุบลราชธานี กาญจนบุรี สงขลา คาดว่าจังหวัดที่อยู่ระหว่างจังหวัดดังกล่าวคงมีหนอนชนิดนี้แพร่กระจายไปหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานข่าว

“เป็นเรื่องที่ตอบได้ยากมากว่าเข้ามาทางด้านไหน แบบไหน คาดว่าหนอนชนิดนี้คงติดเข้ามากับพืช ติดมากับกล้วยไม้ กระถางต้นไม้ หรือดินที่มีไข่ของหนอนชนิดนี้ หรืออาจจะมากับลังไม้ชื้นๆ ที่วางกับพื้นและมีหนอนชนิดนี้ติดเข้ามา” ดร.นณณ์กล่าว

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์สอบถามอีกว่า จากความตระหนกต่อเรื่องนี้อาจจะทำให้สัตว์ท้องถิ่นที่หน้าตาคล้ายกันถูกกำจัดไปด้วยนั้น เขามีความกังวลต่อเรื่องนี้บ้างหรือไม่ ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นว่า กลัวชนิดพันธุ์ท้องถิ่นนั้นจะหายไป และจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่เป็นทั้งผู้ล่าและเหยื่อของสัตว์ท้องถิ่นด้วย

“ปกติแล้วหนอนตัวแบนนิวกินีจะมีสีน้ำตาล ทำให้เราสามารถเห็นแถบบนหลัง ซึ่งจะเป็นแถบเส้นเดียวของมันได้ แต่ถ้ามันเครียดตัวของมันจะกลายเป็นสีดำทำให้สังเกตเห็นแถบบนหลังได้ยาก” ดร.นณณ์กล่าว พร้อมทั้งฝากลิงก์ช่วยแจกแจงชนิดพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายหนอนนิวกินีไว้เป็นแนวทาง http://siamensis.org/article/41223 (การจำแนกชนิดหนอนตัวแบนนิวกินีออกจากสัตว์ท้องถิ่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน)

หนอนตัวแบนชนิดนี้เป็นเป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในชนิดพันธุ์ต่างถิ่น แต่หากไม่จัดการแล้ว ดร.นณณ์กล่าวว่า เพราะไม่มีสัตว์หรือปัจจัยที่จะมาคอยจำกัดจำนวนหนอนชนิดนี้ จะทำให้หนอนสามารถแพร่กระจายไปเรื่อยๆ และรุกรานชนิดพันธุ์ท้องถิ่น ทั้งอาหารและทรัพยากรของเราไปเรื่อยๆ”

วิธีรับมือกับหนอนตัวแบนนิวกินีที่ระบาดในเมืองไทยนั้น ดร.นณณ์กล่าวว่า สามารถฆ่าหนอนชนิดนี้ได้ด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส หรือ โรยด้วยเกลือปนบนตัวหนอน แต่หากกลัวว่าจะทำให้ดินเค็มก็ให้จับหนอนเหล่านั้นมารวมกันในกระปุกและโรยด้วยเกลือพร้อมกันในทีเดียว

“แต่ขอย้ำว่าห้ามหั่น สับ หรือฟันให้มันอยู่เป็นลักษณะชิ้นใหญ่ๆ เพราะตัวมันสามารถแตกตัวได้ แต่ถ้าไปบี้หรือสับให้เละไปเลยก็จะไม่เป็นไร แต่ถ้าหากไม่แน่ใจให้ส่งภาพเข้าไปถามก่อน เพราะการกำจัดแบบไม่ดูให้ดีเสียก่อน จะทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นหายไป” ดร.นณณ์ระบุ (ผู้ไม่แน่ใจสามารถส่งข้อมูลสอบถามเพิ่มได้ที่ กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ Siamensis.org ทางเฟซบุ๊ก)

สำหรับรายงานการพบหนอนตัวแบนนิวกินีนั้น ทางกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือกลุ่ม Siamensis.org ได้รับแจ้งจากประชาชนในแถบอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อ 31 ต.ค.60ว่า พบสัตว์หน้าตาแปลกกำลังกินหอยทาก ตัวแทนของกลุ่มจึงได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่าสัตว์ดังกล่าวคือหนอนตัวแบนิวกินี ซึ่งจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จากนั้นทางกลุ่มก็ได้รับรายงานว่าพบหนอนชนิดนี้ในหลายจังหวัด เช่น จันทบุรี เชียงใหม่ สงขลา ชุมพร อุบลราชธานี นครราชสีมา ขอนแก่น

การพบหนอนนิวกินีในเมืองไทยนี้ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Siamensis.org ระบุไว้ในรายงานว่า เป็นรายงานการพบหนอนชนิดนี้ในผืนทวีปหลักของเอเชีย (Mainland Asia) เป็นครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้หนอนดังกล่าวเคยสร้างปัญหาให้ประเทศในแถบหมู่เกาะแปซิฟิก ที่ตั้งใจปล่อยหนอนเพื่อกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เป็นศัตรูพืช แต่หนอนกลับไปไล่ล่าหอยทากที่เป็นสัตว์จำเพาะถิ่นจนสูญพันธุ์ไปจำนวนมาก และนอกจากการสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศแล้ว หนอนชนิดนี้ยังเพิ่มจำนวนได้ตามจำนวนร่างที่ขาด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช้าก่อน...อย่าเพิ่งโรยเกลือ “หนอนนิวกินี” อาจไม่เป็นภัยอย่างที่กลัว
https://mgronline.com/science/detail/9600000113903

ดูให้แน่ก่อนโรยเกลือว่าใช่ “หนอนนิวกินี”
https://mgronline.com/science/detail/9600000113950
กำลังโหลดความคิดเห็น