หลังจากปล่อยให้เดากันไปต่างๆ นาๆ นานเป็นปี ในที่สุด ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของแอปเปิล ก็ออกมาเปิดปากครั้งแรกเกี่ยวกับแผนการก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์ ซึ่งจะมุ่งตรงที่เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ ชี้เป็น “โปรเจ็กต์เอไอตัวแม่” หรือหนึ่งในโครงการปัญญาประดิษฐ์ที่อาจทำได้ยากที่สุด
ต้นเดือนนี้ คุกให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์ก เทเลวิชัน ซึ่งเพิ่งมีการเผยแพร่ทางออนไลน์ไปเมื่อวันอังคาร (13) ว่า แอปเปิลกำลังทุ่มความสนใจที่ระบบขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่บริษัทมองว่า มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เสน่ห์ของรถยนต์ไร้คนขับดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีมากมายเข้าสู่วงการยานยนต์ โดยแมคคินซีย์ แอนด์ โคประเมินว่า ตลาดรถยนต์อัตโนมัติจะมีมูลค่าถึง 6.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2030 ขณะที่บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ปประเมินว่า ตลาดนี้มีโอกาสเติบโตจากมูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 เป็นเกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2035 ซึ่งหมายความว่า เมื่อถึงตอนนั้นจะมีรถไร้คนขับวิ่งบนถนนทั้งสิ้น 12 ล้านคัน
บริษัทไฮเทคที่ว่ามีอาทิ เวย์โมของอัลฟาเบต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ที่ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิล และลิฟต์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีรถอัตโนมัติ ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ตั้งแต่บีเอ็มดับเบิลยูไปจนถึงเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ยกขบวนไปตั้งออฟฟิศใหญ่โตในซิลลิคอน แวลลีย์ แถมบางแห่งอาศัยทางลัดทุ่มเงินหลายร้อยล้านเหรียญซื้อสตาร์ทอัพรถอัตโนมัติ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น แอปเปิลมีแผนขยับขยายจาก iPhone ไปผลิต iCar เหมือนกัน ก่อนที่จะลดสเกลความฝันเป็นมุ่งเน้นเพียงเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า แอปเปิลว่าจ้างวิศวกรกว่าพันคนทำงานในโปรเจ็กต์ ไททัน หรือที่เรียกขานกันภายในบริษัทว่า ทีมทำรถที่เริ่มฟอร์มงานกันมาในปี 2014
ต้นทุนที่บานปลายบวกกับพนักงานจำนวนมาก ทำให้แอปเปิลแต่งตั้งลูกหม้ออย่างบ็อบ แมนส์ฟิลด์ คุมทีมรถเมื่อปีที่แล้ว โดยที่คุกไม่เคยปริปากเกี่ยวกับโปรเจ็กต์นี้ แม้มีข่าวออกมาเป็นระลอกให้คนจับต้นชนปลายกันมาตลอดก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่นเดือนเมษายนที่ผ่านมา แอปเปิลได้รับอนุญาตจากกรมยานยนต์รัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ทำการทดสอบเอสยูวีไร้คนขับ 3 คัน และมีรูปยืนยันตามมาในหลายสัปดาห์หลังจากนั้น
แหล่งข่าวที่รู้เห็นความเป็นไปของโปรเจ็กต์ ไททันยังเล่าว่า มีการซุ่มทดสอบรถไร้คนขับ 6 คันบนถนนสาธารณะในและรอบๆ ซานฟรานซิสโกเบย์มาอย่างน้อย 1 ปี
เดือนธันวาคมปีที่แล้ว สตีฟ เคนเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายความสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล ทำจดหมายถึงสำนักงานความปลอดภัยทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอชทีเอสเอ) และเรื่องนี้แพร่งพรายออกมาหลังจากที่หน่วยงานนี้นำจดหมายไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ โดยในจดหมาย เคนเนอร์บรรยายความตื่นเต้นยินดีของแอปเปิลเกี่ยวกับศักยภาพของระบบอัตโนมัติในภาคส่วนต่างๆ เช่น การเดินทาง และอาสาช่วยกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับอุตสาหกรรม
ระหว่างให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์ก เทเลวิชัน คุกพูดถึงเรื่องนี้เหมือนกันว่า มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 อย่างเกิดขึ้นในกรอบเวลาเดียวกันคือ เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ รถไฟฟ้า และบริการรถร่วมโดยสาร (ride-hailing)
คุกยังแสดงความมั่นใจในศักยภาพของตลาดรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นตลาดที่เพิ่งส่งให้เทสลากลายเป็นบริษัทรถใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของโลกในแง่มูลค่าตามราคาตลาดสดๆ ร้อนๆ เมื่อต้นเดือน แม้ว่าบริษัทที่บุกเบิกรถไฟฟ้าแห่งนี้จะไม่ติดท็อป 10 ด้านยอดขายก็ตาม
อย่างไรก็ดี แม้มีข่าวลือหนาหูว่า แอปเปิลซุ่มพัฒนารถไฟฟ้าแข่งกับเทสลา แต่การลาออกของสตีฟ ซาเดสกี ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลโปรเจ็กต์ ไททันคนแรก เมื่อต้นปีที่แล้ว ดูเหมือนเป็นคำตอบว่า แผนการรถไฟฟ้าคงถูกพับไปก่อน
ปีที่แล้ว แอปเปิลลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ในดีดี ชูซิง ผู้ให้บริการรถร่วมโดยสารใหญ่ที่สุดในจีน โดยข่าวนี้ประกาศออกมาไม่นานหลังจากที่แมนส์ฟิลด์เข้าควบคุมโปรเจ็กต์ ไททัน และเตรียมปลดวิศวกรหลายร้อยคน แมนส์ฟิลด์ยังสั่งระงับการสร้าง iCar แม้เริ่มลงมือไปแล้ว และหันมาพัฒนาระบบการขับขี่อัตโนมัติแทน โดยคนวงในแย้มว่า ปลายปีนี้บริษัทจะตัดสินใจว่า จะมีการปัดฝุ่นโครงการผลิตรถหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก เทเลวิชัน คุกดูยังลังเลที่จะเปิดเผยว่า ที่สุดแล้วจะมี iCar ออกมาให้สาวกแอปเปิลยลโฉมหรือไม่ โดยแบ่งรับแบ่งสู้ว่า คงต้องรอดูกันอีกทีว่า โครงการนี้จะนำบริษัทไปถึงไหน
นอกจากนั้น การที่หัวเรือใหญ่แอปเปิลพูดถึงโครงการระบบขับขี่อัตโนมัติโดยใช้คำว่า “เทคโนโลยีหลัก” ยังตีความได้ว่า บริษัทไฮเทคแห่งนี้อาจยอมให้ผู้พัฒนารายอื่นๆ นำเทคโนโลยีของตนไปต่อยอดในโครงการของตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือ แอปเปิลอาจยอมขายซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ทั้งระบบให้บริษัทรถไปใช้เป็นแพล็ตฟอร์มในการพัฒนารถอัตโนมัติ
ไม่ว่าสุดท้ายแล้วคุกจะเลือกทางไหน แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า แอปเปิลมาสายไปหน่อยในเส้นทางนี้ ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ได้รับอนุญาตจากแคลิฟอร์เนียให้ทดสอบรถอัตโนมัติบนถนนของรัฐนั้น แอปเปิลอยู่ในลำดับที่ 30 โดยบริษัทที่ได้รับอนุญาตไปก่อนหน้านี้มีทั้งเทสลา, กูเกิล, อูเบอร์, ฟอร์ด, โฟล์คสวาเกน และเมอร์เซเดส
กรณีที่แอปเปิลตัดสินใจพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อให้ผู้เล่นอื่นๆ นำไปผลิตรถอัตโนมัติ ก็จะมีคำถามตามมาว่า บริษัทสามารถพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่ดีกว่าคู่แข่งอื่นๆ ได้หรือไม่ และถึงคำตอบคือได้ บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังกังวลอยู่ลึกๆ กับการที่ต้องยืมจมูกยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลหายใจ
นอกจากนั้น การเจรจากับบีเอ็มดับเบิลยูและเดมเลอร์ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ที่ต้องแยกย้ายกันไปก็เพราะตกลงกันไม่ได้เรื่องการควบคุมและการปกป้องข้อมูล แอปเปิลจึงตัดสินใจว่า การพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติเองน่าจะดีกว่าการหาพันธมิตร
ทั้งหมดนี้ทำให้นักวิเคราะห์บางคนอนุมานว่า แอปเปิลจะลงมือผลิตรถและควบคุมประสบการณ์ทั้งหมดด้วยตัวเองเหมือนที่ทำมาในตลาดอื่นๆ แต่ก็อีกนั้นล่ะ การสร้างเครือข่ายซัปพลายและโรงงานที่สามารถผลิตรถจำนวนมากพอถือเป็นโครงการที่ต้องใช้เวลายาวนานเป็นสิบปี
และโจทย์สุดท้ายคือ ความท้าทายจากแรงเฉื่อยทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่นรถปลั๊ก-อินไฮบริดที่ออกสตาร์ทมาตั้งแต่ปี 1999 แต่ถึงทุกวันนี้ยังมีอัตราการเติบโตระดับหอยทาก