xs
xsm
sm
md
lg

ช้าก่อน...อย่าเพิ่งโรยเกลือ “หนอนนิวกินี” อาจไม่เป็นภัยอย่างที่กลัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพหนอนตัวแบนนิวกินีกำลังกินหอยทาก บันทึกโด ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Siamensis.org
นักวิชาการด้าน “สัตว์เอเลี่ยนรุกราน” ให้ความเห็นกรณี “หนอนนิวกินี” สัตว์ต่างถิ่นที่พบกระจายอยู่ทั่วไทย อาจไม่น่ากลัวอย่างที่กังวล เพราะอาจเข้ามาในไทยนานแล้ว แต่ยังไม่มีรายงานผลกระทบที่ชัดเจน

จากกรณีการพบ “หนอนตัวแบนนิวกินี” (Platydemus manokwari De Beauchamp) ในเมืองไทยนั้นได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรายงานว่าหนอนดังกล่าวกินหอยทากเป็นอาหารจนอาจเป็นเหตุให้หอยทากในไทยสูญพันธุ์ และยังเป็นพาหะการแพร่เชื้อพยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่งที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบในมนุษย์จนเสียชีวิตได้

ขณะที่สังคมกำลังตื่นตระหนกและโรยเกลือบนตัวหนอนตัวแบนนิวกินี ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีกำจัดสัตว์ต่างถิ่นดังกล่าวนั้น ก็มีความกังวลว่า วิธีกำจัดดังกล่าวอาจไปทำลายสัตว์ท้องถิ่นที่หน้าตาคล้ายคลึงกัน จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในอีกทางหนึ่งก็ได้

ทั้งนี้ ยิ่งยศ ลาภวงศ์ ผู้ศึกษาทางด้านชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien) และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในเรื่องดังกล่าว ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (University of Technology Sydney) ออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า หนอนตัวแบนนิวกินียังไม่ใช่สัตว์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยน (Alien) ที่น่ากังวลมาก

เหตุผลที่ไม่ต้องกังวลมากนั้น ยิ่งยศอธิบายว่า เพราะนิวกินีและเมืองไทยนั้นไม่ห่างไกลกันมาก และยังมีธรรมชาติที่คล้ายๆ กัน ไม่เหมือนปลาซักเกอร์ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอเมริกาใต้ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากไทยอย่างชัดเจน เมื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ จึงสร้างผลกระทบได้มาก นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศ แสดงว่าหนอนชนิดนี้เข้ามาในไทยนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีรายงานผลกระทบทีั่ดเจน ไม่เหมือนปลาหมอสีที่มีรายงานผลกระทบที่รุนแรง

“หนอนชนิดนี้อาจอยู่แค่ในเขตชุมชน ยังไม่แพร่ไปสิ่งแวดล้อมอื่น วิธีที่ดีสุดไม่ใช่การไล่ฆ่า เพราะเราไม่รู้ว่า สัตว์ที่หน้าตาคล้ายๆ กันนี้อาจจะเป็นสัตว์ท้องถิ่น และการไล่ฆ่าทุกตัวก็ไม่ใช่ทางออก เหมือนให้เราทุกคนไปไล่เก็บผักตบชวา ก็ไม่สามารถกำจัดได้หมดอยู่ดี จริงๆ เราควรมาร่วมกันศึกษาดีกว่าจะจัดการอย่างไรดี” ยิ่งยศ

ยิ่งยศยังได้แสดงความเห็นว่าสัตว์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป แต่แนวคิดว่า สัตว์เอเลี่ยนจะต้องเป็นตัวร้ายนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งก็มีสัตว์เอเลี่ยนหลายตัวที่ส่งผลกระทบรุนแรง แต่ก็มีกลุ่มศึกษาที่พบว่าสัตว์เลี่ยนบางชนิดไม่ได้ส่งกระทบในทางลบ แต่กลับส่งผลกระทบในทางบวก เช่น ดอกไม้หรือไม้ประทับที่นำเข้าจากต่างประเทศ ถือเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ แต่เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็สร้างสัมพันธ์อันดีกับผีเสื้อในท้องถิ่น หรือวัวแดงซึ่งหายากในเมืองไทย แต่เมื่อไปอยู่ที่ออสเตรเลียก็เพิ่มจำนวนมากและสร้างสัมพันธ์อันดีกับนกท้องถิ่นหายากที่มากินแมลงบนตัววัวแดง จนนกที่ใกล้สูญพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ยิ่งยศ ลาภวงศ์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Credit: FB ยิ่งยศ ลาภวงศ์)
นอกจากนี้ ยิ่งยศกล่าวอีกว่ามีการศึกษาที่อาจจะขัดกับความรู้สึกทั่วไปว่า มีจำนวนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่สร้างผลกระทบในทางบวกในจำนวนมากกว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่สร้างผลกระทบด้วยซ้ำ ทว่าเราถูกข่าวหรือสื่อที่ทำให้ภาพของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้นดูน่ากลัว

สำหรับประเด็นของหนอนตัวแบนนิวกินีในตอนนี้ ยิ่งยศกล่าวว่าในวงวิชาการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลัวและแนะว่าต้องกำจัดทิ้ง และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่รอข้อมูลที่มากกว่านี้ก่อน ซึ่งก็ไม่มีใครถูกหรือผิด และกำลังคุยกันในเรื่องนี้อยู่ อีกทั้งตอนนี้หากตรวจสอบดูจะพบว่ามีสัตว์ชนิดอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงหนอนตัวแบนนิวกินีถูกกำจัดไปด้วย ซึ่งที่สุดแล้วอาจกลายเป็นว่ามนุษย์เรานั่นเองที่ทำร้ายระบบนิเวศ

ส่วนความกังวลที่ว่าหนอนตัวแบนนิวกินีเป็นพาหะของพยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่งนั้น ยิ่งยศกล่าวว่าเราจะติดพยาธิตัวนี้ได้ก็เนื่องจากเรากินหนอนชนิดนี้ที่เป็นพาหะเข้าไป หรือความกังวลว่าไข่ของหนอนจะติดตามผัก ผลไม้ วิธีง่ายซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่แล้วคือการทำความสะอาดผักผลไม้ก่อนรับประทาน

สำหรับรายงานการพบหนอนตัวแบนนิวกินีนั้น ทางกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือกลุ่ม Siamensis.org ได้รับแจ้งจากประชาชนในแถบอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อ 31 ต.ค.60 ว่า พบสัตว์หน้าตาแปลกกำลังกินหอยทาก ตัวแทนของกลุ่มจึงได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่า สัตว์ดังกล่าวคือหนอนตัวแบนนิวกินี ซึ่งจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จากนั้นทางกลุ่มก็ได้รับรายงานว่าพบหนอนชนิดนี้ในหลายจังหวัด เช่น จันทบุรี เชียงใหม่ สงขลา ชุมพร อุบลราชธานี นครราชสีมา ขอนแก่น

การพบหนอนนิวกินีในเมืองไทยนี้ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Siamensis.org ระบุไว้ในรายงานว่า เป็นรายงานการพบหนอนชนิดนี้ในผืนทวีปหลักของเอเชีย (Mainland Asia) เป็นครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้หนอนดังกล่าวเคยสร้างปัญหาให้ประเทศในแถบหมู่เกาะแปซิฟิก ที่ตั้งใจปล่อยหนอนเพื่อกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เป็นศัตรูพืช แต่หนอนกลับไปไล่ล่าหอยทากที่เป็นสัตว์จำเพาะถิ่นจนสูญพันธุ์ไปจำนวนมาก และนอกจากการสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศแล้ว หนอนชนิดนี้ยังเพิ่มจำนวนได้ตามจำนวนร่างที่ขาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ดร.สมศักดิ์ ปัญหา” เจ้าพ่อหอยทากไม่หวั่น “หนอนนิวกินี” รุกราน
https://mgronline.com/science/detail/9600000113940

ดูให้แน่ก่อนโรยเกลือว่าใช่ “หนอนนิวกินี”
https://mgronline.com/science/detail/9600000113950
กำลังโหลดความคิดเห็น