xs
xsm
sm
md
lg

บาปกรรม! เอากระต่ายเลี้ยงไปปล่อย “เขาใหญ่” ทำรถพลิกคว่ำ พบอีก 15 ตัวขนใส่กระสอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สัตวแพทย์ชื่อดัง พบนักท่องเที่ยวขับรถขึ้นมาพักผ่อนบนเขาใหญ่ เจอกระต่ายวิ่งตัดหน้า ฝีมือคนเอามาปล่อยในเขตอุทยานฯ หักหลบจนพลิกคว่ำ บาดเจ็บ 2 ราย อีกด้านพบอีก 15 ตัว ขนใส่กระสอบ จะเอามาปล่อยตรงทางขึ้นฝั่งปราจีนบุรี แต่เจอ จนท. ขับรถผ่านเลยทิ้งแล้วหลบหนี เตือนเอาสัตว์ต่างถิ่นต่างชนิดมาปล่อยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. เฟซบุ๊ก “ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน” ของนายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพและวิดีโอเหตุการณ์อุบัติเหตุภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวขับรถขึ้นมาพักผ่อนบนเขาใหญ่ ในระหว่างขับรถด้วยความเร็วปกติ ได้ทำการหักหลบกระต่ายเลี้ยงที่วิ่งตัดหน้า โดยคนหวังดี ทำบุญเอามาปล่อยในเขตอุทยาน อย่างกะทันหัน จนเกิดอุบัติเหตุ ผู้ประสบเหตุสองคน คนหนึ่งปวดหัวส่งโรงพยาบาล อีกคนหนึ่งไม่เป็นอะไรมาก รอประกันมาดำเนินการ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะอยู่เป็นพยาน ยืนยันกับประกันว่าอุบัติเหตุเกิดจากการหักหลบสัตว์จริง

ทั้งนี้ ผลกระทบอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตต่างด้าว (Alien Species) ต่อคน คือ คนแอบเอาสัตว์เลี้ยงมาปล่อยในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อหวังได้บุญ เป็นเรื่องบาป หลายต่อหลายครั้ง จุดที่พบกระต่ายเหล่านี้ มักพบดอกไม้ ธูปเทียน จุดอยู่ใกล้ๆ คาดว่า เป็นเพราะทำบุญ ส่วนหนึ่งพวกเกิดปีกระต่าย หรือเพื่อแก้บน หรือ เลี้ยงไม่ไหว ไม่อยากเลี้ยง

นายสัตวแพทย์ ภัทรพล ยังระบุอีกว่า ได้พบกระต่าย 15 ตัว ที่มีคนจอดรถกระบะข้างทาง กำลังจะเอามาปล่อยตรงทางขึ้นเขาใหญ่ ฝั่ง จ.ปราจีนบุรี แต่ นายชัยยงค์ บัวบาน หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.10 (ประจันตคาม) จ.ปราจีนบุรี ขับรถผ่านมาพอดี เห็นผิดสังเกต เลยกลับรถมาดู คนที่เอามาปล่อยตกใจเลยขับรถหนีไป ก่อนที่จะเปิดกระสอบแล้วพบกระต่ายดังกล่าว



อนึ่ง สำหรับเอเลี่ยนสปีชีส์ หรือ สิ่งมีชีวิตต่างด้าว จากการค้นคว้าของผู้สื่อข่าว MGR Online คือ การที่มีพืชหรือสัตว์ต่างชนิดพันธุ์ หรือต่างถิ่นที่้เข้ารุกราน แล้วทำให้พืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ที่มีอยู่เดิมได้รับผลกระทบ ตัวอย่างเช่น ปลาซัคเกอร์ (ปลาเทศบาล หรือ ปลากดเกราะ) ที่มีคนนำไปปล่อยเข้าไปอยู่ในแหล่งน้ำ ทำให้พันธุ์ปลาอื่นๆ ที่เคยมีอยู่กลับลดจำนวนลงและสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ เพราะปลาซัคเกอร์ แก่งแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่า

หรือจะเป็นจอกหูหนูยักษ์ ลอยน้ำปะปนอยู่กับผักตบชวากีดขวางทางไหลของน้ำ โดยไปแย่งพื้นที่พรรณพืชน้ำอื่นๆ ในท้องถิ่น บดบังไม่ให้แสงแดดและออกซิเจนผ่านลงไปใต้ผิวน้ำ ทำให้พืชใต้น้ำไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้และตายลง และทำให้สัตว์น้ำอยู่อาศัยต่อไปไม่ได้ ที่สำคัญ กำจัดยากยิ่งกว่าผักตบชวา เพราะมีลำต้นเปราะบาง หักง่าย เวลาตักหรือช้อนขึ้นมามักหักเป็นท่อนๆ ที่มีใบติดอยู่ด้วย ซึ่งแม้เพียง 1 - 2 เซนติเมตร ก็สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้จากตาตรงซอกใบ

กรณีกระต่ายเลี้ยงเข้าไปอยู่ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งในเฟซบุ๊ก “ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน” ระบุว่า ที่น่าห่วงที่สุด คือ หมาใน เพราะเคยดูในอุจจาระของหมาในแล้วเจอขนกระต่ายเลี้ยง อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นว่า ในตัวกระต่ายอาจจะมีเชื้อที่ติดมากับตัวกระต่าย ต่อให้คนมองว่ากระต่ายสะอาดก็ตาม แต่ที่ไม่ส่งผลกับคนหรือสัตว์บางชนิด เพราะมีภูมิคุ้มกัน แต่กับสัตว์ป่าไม่มีวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันป้องกันบ้างโรคของสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ คนที่นิยมนำสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติ สารคัดหลั่งจากร่างกายสัตว์เลี้ยง เมื่อไปสัมผัสกับต้นไม้ใบหญ้าในเขตอุทยานฯ ที่มีสัตว์ป่าอยู่อาศัย ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงในการแพร่เชื้ออันตรายต่อสัตว์ป่าทั้งสิ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น