คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันเสาร์ที่ 27 - วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2560 |
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 วารสารทางการแพทย์ชื่อดังของยุโรป ที่ชื่อเดอะ บีเอ็มเจ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาการสังเกตการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างอายุของหมอกับผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วยที่สูงวัยในโรงพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริกาในหัวข้อ “Physician age and outcomes in elderly patients in hospital in the US:observation.” โดยทีมวิจัยของ ยูซูเกะ ซูกาวา และคณะ
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงว่าผลการรักษาของผู้ป่วยในของโรงพยาบาลนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรระหว่างที่รักษาโดยหมอที่อายุน้อยกว่า กับ หมอที่อายุมากกว่า โดยการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีสังเกตการณ์
การศึกษาครั้งนี้ได้เลือกจากการสุ่มตัวอย่าง 20 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยที่ได้ใช้สิทธิ์รักษาสวัสดิการเมดิแคร์ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปกับการรักษาของหมอซึ่งได้ถูกมอบหมายให้ทำการรักษาตามกะเวลาทำงานในโรงพยาบาลระหว่างปี พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2557 อีกทั้งยังได้ทำการวิเคราะห์รวมผู้ป่วยซึ่งไปรักษากับอายุรแพทย์ทั่วไปทั้งในโรงพยาบาลและที่ไม่ใช่ในโรงพยาบาลด้วย เพื่อวัดค่าเฉลี่ย 30 วัน ในเรื่องอัตราการเสียชีวิต อัตราการกลับเข้ามารักษาซ้ำ และอัตราค่าใช้จ่ายในการรักษา
จากการสังเกตการณ์ผู้ป่วนรวมจำนวนทั้งสิ้น 736,537 คน ที่รักษาโดยแพทย์ในโรงพยาบาล 18,854 คน แล้วมาจำแนกลักษณะของผู้ป่วยที่มีความคล้ายคลึงกันที่รักษากับหมอในวัยที่แตกต่างกัน ผลปรากฏสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตค่าเฉลี่ยใน 30 วัน ซึ่งในโรงพยาบาลเดียวกัน ดังนี้
ผู้ป่วยสูงวัยรักษากับหมอที่อายุน้อยกว่า 40 ปี มีอัตราการเสียชีวิต 10.8 เปอร์เซ็นต์
ผู้ป่วยสูงวัยรักษากับหมอที่อายุระหว่าง 40 - 49 ปี มีอัตราการเสียชีวิต 11.1 เปอร์เซ็นต์
ผู้ป่วยสูงวัยรักษากับหมอที่อายุระหว่าง 50 - 59 ปี มีอัตราการเสียชีวิต 11.3 เปอร์เซ็นต์
ผู้ป่วยสูงวัยรักษากับหมอที่อายุมากกว่า 60 ปี มีอัตราการเสียชีวิต 11.6 - 12.5 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ระหว่างหมอที่รักษาผู้ป่วยจำนวนมากๆ ในโรงพยาบาลจะไม่พบความสัมพันธ์ในเรื่องอัตราการเสียชีวิตกับอายุของหมอแต่ประการใด
สำหรับการกลับเข้ามารักษาใหม่ของผู้ป่วยนั้นไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องอายุของหมอ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของหมอที่อายุมากกว่านั้นจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยมากว่าหมอที่อายุน้อยกว่า
ลักษณะดังกล่าวข้างต้นก็คล้ายคลึงกันกับผลการวิเคราะห์อายุรแพทย์ทั่วไปทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและไม่ใช่โรงพยาบาล
ผลการศึกษาสังเกตการณ์ครั้งนี้จึงสรุปได้ว่า ภายในโรงพยาบาลเดียวกัน ผู้ป่วยที่รักษากับหมอที่สูงวัยกว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยที่รักษากับหมอที่อายุน้อยกว่า ยกเว้นหมอที่รักษาผู้ป่วยในปริมาณที่มาก
ผลการศึกษาในครั้งนี้ได้ทำให้หลายคนที่เคยสงสัยว่าหมอที่มีอาวุโสมากว่าซึ่งคาดหวังว่าน่าจะมีประสบการณ์มากกว่านั้น ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะมีวิธีการรักษาที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าหมอที่อายุน้อยกว่าได้เสมอไป เพราะหมอที่อาวุโสมากกว่า อาจจะใช้เวลาในการสอนหนังสือ วิจัย มากกว่าการรักษาคนไข้ก็เป็นไปได้หรือไม่?
ในทางตรงกันข้าม สำหรับบางโรคแล้ว หมอที่อายุน้อยกว่าก็อาจจะมีความแม่นยำมากกว่า เพราะอยู่กับผู้ป่วยมากกว่าทำงานอย่างอื่น ประกอบกับในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีการเปลี่ยนแปลงและพลวัตรสูงในปัจจุบันแล้ว บางทีหมอที่อายุน้อยกว่าอาจได้เปรียบกว่าในเรื่องการเรียนรู้วิธีการและเทคนิคการรักษาใหม่ๆ มากกว่าหมอที่มีอาวุโสมากกว่าก็ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในความจริงแล้วตัวเลขอัตราการเสียชีวิตแล้วจะแตกต่างกันไม่มาก แต่สำหรับผู้ป่วยแล้วแม้จะแตกต่างกันไม่มาก แต่ก็พอเห็นความสัมพันธ์เช่นนี้แล้วก็อาจจะต้องเลือกหมอเพื่อลดความเสี่ยงการเสี่ยงเสียชีวิตให้น้อยลง แม้จะไม่มากก็ตาม จริงหรือไม่?
แต่นั่นก็เป็นตัวเลขสถิติของหมอในโรงพยาบาลที่สหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ประเทศไทย
เพราะของประเทศไทยนั้นอาจจะน่าสนใจไปยิ่งกว่านั้น เพราะโรงพยาบาลของรัฐนั้น คนไข้มารักษาแออัดอย่างมาก โดยเฉพาะหมอในโรงพยาบาลต่างจัดหวัดแล้ว คนไข้มาก เจ้าหน้าที่น้อย ทำงานหนัก เรียกได้ว่าน่าเห็นใจทั้งหมอและคนไข้ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนนั้นก็แพงแสนแพง ทำกำไรกันอย่างมหาศาล จนน่าคิดว่าอนาคตในด้านสาธารณสุขของไทยจะมีจุดจบเป็นอย่างไร?