แม้ว่ากิจกรรมใหญ่ในการสังเกต “ดาวอังคาร” ที่จัดกันหลายพื้นที่ทั่วประเทศจะผ่านไปแล้ว แต่โอกาสในการสังเกตปรากฏการณ์ “ใกล้โลก” ของดาวอังคารยังไม่จบ เพราะดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 11 ปีในวันที่ 31 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.59 ที่ผ่านมามีกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และหน่วยงานพันธมิตรกว่า 100 แห่ง ต่างขนนิทรรศการและอุปกรณ์สังเกตดาวอังคารมาให้ประชาชนที่สนใจได้ใช้งาน รวมถึงสมาคมดาราศาสตร์ไทย ซึ่งจัดกิจกรรมในบริเวณใกล้เคียงกับท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ
ในส่วนของ สดร. ได้จัดกิจกรรมหลักๆ ขึ้นที่ลานน้ำพุ ศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์สไตล์ช็อปปิ้งเซนเตอร์ จ.เชียงใหม่, หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่, ลานพาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา และ จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังร่วมมือกับเครือข่ายโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์กว่า 100 แห่งทั่วประเทศจัดกิจกรรมสังเกตดาวอังคารใกล้โลกในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์
ในวันที่ 22 พ.ค.59 นั้นตรงกับวันที่ดาวอังคารโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (opposition) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลกและดาวอังคาร เรียงกันเป็นเส้นตรง โดยโลกอยู่ตำแหน่งตรงกลาง ซึ่งโลกและดาวอังคารอยู่ห่างกัน 76.3 ล้านกิโลเมตร หากสังเกตจากโลกจะเห็นขนาดปรากฏ 18.4 ฟิลิปดา
ข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของ สดร.ระบุว่า ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์นั้นหมายถึงวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะอยู่ในลองจิจูดห่างจากดวงอาทิตย์ 180 องศา (มีโลกเป็นศูนย์กลาง) ซึ่งพบได้ในดาวเคราะห์วงนอก แต่ไม่พบในดาวเคราะห์วงใน
ในกรณีของดาวอังคารนั้นผู้สังเกตบนโลกจะเห็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ของระบบสุริยะนี้ขึ้นทางทิศตะวันออก ในขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เมื่อดาวอังคารขึ้นจากขอบฟ้าแล้วจะเห็นดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืนจนลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเมื่อดวงอาทิตย์กำลังขึ้นทางทิศตะวันออก
เนื่องจากโลกและดาวอังคารไม่ได้มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม ทำให้ระยะห่างเมื่อดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามแต่ละครั้งไม่เท่ากัน โดยดาวอังคารจะเคลื่อนไปอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ทุกๆ 26 เดือน
31 พ.ค.โลกเข้าใกล้ดาวอังคารที่สุดในรอบ 11 ปี
ในปี 2559 นี้ดาวอังคารจะใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 31 พ.ค.59 เวลา 04.36 น. ที่ระยะ 75.3 ล้านกิโลเมตร โดยมีขนาดปรากฏ 18.6 ฟิลิปดา และเป็นการเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 11 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นดาวอังคารเคยเข้าใกล้โลกที่สุดเมื่อเดือน ส.ค.46 ที่ระยะ 56 ล้านกิโลเมตร จากนี้อีก 2 ปีดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกอีกครั้งที่ระยะ 57.5 ล้านกิโลเมตร ในวันที่ 31 ก.ค.62
ด้านรอยเตอร์ระบุข้อมูลจากองค์การบริหารการบินอวหาศสหรัฐฯ (นาซา) ว่า ระยะห่างระหว่างโลกและดาวอังคารมากได้ถึง 400 ล้านกิโลเมตร โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งระหว่างดาวเคราะห์ทั้งสองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์ และต้องใช้เวลาอีกเกือบ 300 ปี โลกกับดาวอังคารจึงจะเข้าใกล้กันอีกครั้งในระยะเดียวกับเมื่อปี '46
ในจังหวะที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกของปีนี้นาซาก็ได้เผยภาพของดาวเคราะห์เพื่อนบ้านที่เข้ามาใกล้โลก ซึ่งบันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) โดยภาพดังกล่าวเผยให้เห็นทั้งน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วดาวอังคาร และเมฆเหนือพื้นผิวดาวเคราะห์สีอิฐ
22-31 พ.ค.ช่วงเวลาดีสังเกต “ดาวอังคาร”
ในช่วงเวลา 22-31 พ.ค.59 นี้เป็นช่วงเวลาดีสำหรับการสังเกตดาวอังคารซึ่งอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์และยังเข้าใกล้โลก โดยข้อมูลจาก สดร.ระบุว่า สามารถสังเกตเห็นดาวอังคารส่องประกายสีส้มแดง ในกลุ่มดาวแมงป่องทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจากขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงช่วงเช้ามืดก่อนแสงสนธยากลบความสว่างของดาวอังคาร
ช่วงนี้ดาวอังคารมีความสว่างประมาณ -1.8 หรือสว่างกว่าดาวซิริอุส (ดาวโจร) หากสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้วขึ้นไป จะเห็นลักษณะพื้นผิว เมฆในบรรยากาศ และขั้วน้ำแข็ง นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีดาวเคราะห์วงนอกอีก 2 ดวง คือ ดาวพฤหัสบดีซึ่งปรากฏบริเวณกลุ่มดาวสิงโต และดาวเสาร์ซึ่งจะปรากฏให้เห็นหลังดาวอังคารขึ้นไม่นาน
ทางด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้กล่าวไว้ระหว่างแถลงข่าวการจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกว่า ดาวเสาร์มักเป็นที่ดึงดูดแก่ทั่วไปมากกว่า ยิ่งหากได้สังเกตเคราะห์ดังกล่าวผ่านกล้องโทรทรรศน์แล้วจะได้เห็นวงแหวนที่สวยงาม ซึ่งหลายคนยังไม่เคยเห็น และทุกครั้งที่จัดกิจกรรมดาวเสาร์ก็จะได้รับสนใจเสมอ ส่วนดาวพฤหัสก็มีจุดที่น่าสนใจคือพายุขนาดใหญ่และแถบเมฆที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จุดที่ สดร.ชวนให้สังเกตดาวอังคารเมื่อส่องผ่านกล้องโทรทรรศน์ อาทิ มีพืดน้ำแข็งชั่วคราวบริเวณขั้วดาวหรือไม่ ซึ่งพืดน้ำแข็งชั่วคราวจะปรากฏบริเวณขั้วใต้ของดาวอังคาร ส่วนบริเวณขั้วเหนืออาจปรากฏพืดน้ำแข็งเป็นหย่อมๆ หรือมีน้ำค้างแข็งปกคลุมแอ่งกระทะเฮลแลซหรือไม่ หรือมีเมฆตามภูเขาไฟหรือไม่ และในช่วงดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุดมี “เมฆระดับภูมิประเทศ” (Topographic cloud) เพิ่มขึ้นหรือไม่
หลังจากดวงเดือน พ.ค.ไปแล้ว ดาวอังคารจะปรากฏความสว่างลดลงและมีขนาดปรากฏในกล้องโทรทรรศน์เล็กลงด้วย โดยช่วงนี้จะเห็นดาวอังคารปรากฏเคลื่อนถอยหลัง จากนั้นในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ดาวอังคารจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแล้วเข้าสู่กลุ่มดาวแมงป่องอีกครั้งในช่วงต้นเดือน ส.ค. ส่วนช่วงปลายเดือนดังกล่าวจะปรากฏดาวอังคารเคลื่อนที่ผ่านระหว่างดาวเสาร์และดาวแอนทาเรส โดยดาวอังคารมีความสว่างมากกว่าดาวทั้งสองดวง
นับจากวันที่ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์สีแดงอิฐที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็กออกไซด์นี้จะปรากฏให้เห็นนาน 12 เดือน จากนั้นในวันที่ 17 มิ.ย.60 ดาวอังคารจะหายไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์ และจะเคลื่อนไปอยู่ในตำแหน่ง “ร่วมทิศ” (Conjunction) ในวันที่ 27 ก.ค.60 ซึ่งในกรณีดาวเคราะห์วงนอกอย่างดาวอังคารหมายถึงตำแหน่งหลังดวงอาทิตย์ด้านตรงตรงข้ามกับโลก