ชาวกรุงฝันสลายอดชม "ดาวอังคารใกล้โลก" เหตุฝนเทกระหน่ำทั่วทุกพื้นที่ กทม. สมาคมดาราศาสตร์ยันจะจัดตั้งกล้องต่อ แต่ต้องรอให้ฝนหยุด เพราะเป็นคืน "ดาวอังคารเพ็ญ" ตรงข้ามดวงอาทิตย์ 180 องศา พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเปิดห้องเรียนดาวอังคารใต้ตึกสมาคมฯ
นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ปี'59 เป็นปีที่ดีสำหรับการสังเกตดาวอังคารเนื่องจากดาวอังคารจะผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 2 ปี 2 เดือน แม้ว่าปีนี้จะยังไม่ใช่ช่วงที่ใกล้โลกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็ตาม
นายอารี เผยว่า ช่วงต้นปีดาวอังคารอยู่บนท้องฟ้าทำให้สังเกตเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืด ช่วงแรกจะอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว จากนั้นจะเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคันช่าง แมงป่องและคนแบกงู ต้นเดือน เม.ย. จะเห็นดาวอังคาร ดาวเสาร์ และดาวแอนทาเรสอยู่ใกล้กันขณะที่ดาวอังคารและดาวแอนทาเรสต่างก็มีสีส้มเหมือนกัน
ในช่วงกลางปีประมาณเดือน เม.ย. ดาวอังคารเริ่มมีการเคลื่อนที่ปรากฏแบบถอยหลังคือเคลื่อนจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ฉากหลังเนื่องจากโลก ซึ่งมีวงโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าได้เคลื่อนแซงไปข้างหน้า ส่วนต้นเดือน พ.ค. ดาวอังคารจะถอยกลับไปอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่องและคันช่าง ดาวอังคารผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 22 พ.ค. ขณะอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่องมีความสว่างที่โชติมาตร - 2.1 ซึ่งนับว่าสว่างพอๆกับดาวพฤหัสบดี
อย่างไรก็ดีดาวอังคารจะใกล้โลกที่สุดในเช้ามืดวันที่ 31 พ.ค.ที่ระยะห่าง 0.503 หน่วยดาราศาสตร์หรือประมาณ 75 ล้านกิโลเมตร ขณะอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง วันนั้นดาวอังคารจะมีขนาดปรากฏใหญ่ที่สุดประมาณ 18.6 ฟิลิปดาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3/4 ของขนาดใหญ่สุดไปได้ที่ประมาณ 25.1 ฟิลิปดาขึ้นเคยเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมปี'46
”ความจริงแล้วดาวอังคารจะใกล้โลกที่สุดของปีนี้ในวันที่ 30 พ.ค. ที่กำลังจะถึง แต่วันนี้ 22 พ.ค. เป็นวันที่เหมาะแก่การสังเกตยิ่งกว่าเพราะเป็นวันที่ดาวอังคารจะผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2 ปี 2 เดือน และขณะนี้ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง มีความสว่างมากถึงโชติมาตร -2.1 ทางสมาคมดาราศาสตร์จึงจัดกิจกรรมสังเกตดาวขึ้นในวันนี้ เราได้ตั้งกล้องดูดาวแบบสะท้อนและหักเหแสงให้บริการประชาชนเป็นจำนวน 4-5 ตัว ตั้งแต่ช่วงเย็นซึ่งก็มีประชาชนมาร่วมกิจกรรมนับร้อยคน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ฝนตกเสียก่อน เราจึงต้องเปลี่ยนแผนจากส่องกล้องดูดาวอังคารร่วมกัน มาให้ความรู้ผ่านการบรรยายและวิดิทัศน์ที่สำรองไว้แทน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเดินทางมาร่วมกิจกรรม โดยจะบรรยายให้ประชาชนได้รู้จักดาวอังคารมากขึ้น ทั้งฐานะในระบบสุริยะ, องค์ประกอบ, ลักษณะทางกายภาพ, สิ่งแวดล้อมบนดาวอังคาร, งานวิจัยใหม่ๆบนดาวอังคาร และเมื่อฝนหยุดก็จะนำกล้องออกไปตั้งอีกครั้งเพื่อรอชมดาวอังคารจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. และวันที่ 3 มิ.ย. ทางสมาคมฯ ก็จะมีการจีดกิจกรรมอีกครั้งเพื่อชมดาวเสาร์ใกล้โลก" นายกสมาคมดาราศาสตร์กล่าว
ด้านผู้มาร่วมงานอย่างครอบครัวอริยสุนทร ผู้เป็นพ่ออย่าง นายทัศนพร อริยสุนทร กล่าวว่า เขาตั้งใจพาครอบครัวมาชมปรากฏการณ์นี้โดยเฉพาะ เพราะทราบมาว่าวันนี้ดาวอังคารจะใกล้โลก ตลอดทั้งวันจึงพาลูกมาทัศนศึกษาที่ท้องฟ้าจำลองเอกมัย และรอดูดาวต่อที่สมาคมดาราศาสตร์ต่อในตอนเย็น เพราะเห็นแววนักวิทยาศาสตร์ในตัวลูกชาย คือ ด.ช.รังสิมันตุ์ อริยสุนทร หรือ น้องซัน นักเรียนชั้น ป.4 ร.ร.เฟื่องฟ้า ที่เป็นเด็กเรียนดีด้านวิทยาศาสตร์ สามารถสอบแข่งขันได้หลายรายการ จึงอยากผลักดันให้ถึงที่สุดโดยหวังว่าดาราศาสตร์จะทำให้ลูกสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งน้องซัน เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ยังไม่เคยเห็นดาวอังคารเช่นกัน แม้จะเคยผ่านการส่องกล้องโทรทรรศน์มาแล้วหลายครั้ง จึงหวังกับการดูดาวในครั้งนี้ไว้มาก แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะฝนตกจึงอยากให้พ่อพามาดูดาวอีกในครั้งหน้า
เช่นเดียวกับน้องมีน ด.ช.ปริทัศน์ ศรีผุย นักเรียนชั้น ม.1 ร.ร.ราชวินิจบางแก้ว ที่เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รู้สึกผิดหวังมากที่วันนี้ฝนตกทำให้ไม่สามารถสังเกตดาวอังคารแบบที่ต้องการได้ เพราะขอร้องให้ครอบครัวพามาจากย่านรามคำแหง แต่ก็รู้สึกดีที่ได้ฟังบรรยาย และชมภาพ 3 มิติที่ทางสมาคมฯ จัดไว้ให้ดูตั้งแต่ก่อนฝนตก เพราะช่วยทำให้เข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับดาวอังคารได้ดีขึ้นกว่าการอ่านหนังสือแบบปกติทั่วไป