ในการโปรเซสภาพถ่ายทางช้างเผือกสำหรับผู้เริ่มต้นนั้น สิ่งที่เป็นคำถามในใจว่า แล้วเราปรับภาพอย่างไรให้ถูกต้องหรือใกล้เคียงกับที่นักดาราศาสตร์เค้าทำกัน ในคอลัมน์นี้ผมจะขออธิบายด้วยหลักการง่ายๆ และแนะนำวิธีการในการอ้างอิงสีของดาวเพื่อนำไปใช้เป็นตัวอ้างอิงในการปรับภาพทางช้างเผือกต่อไปครับ
โดยสีของภาพทางช้างเผือกในแต่ละช่วงเดือนนั้น ก็มักแตกต่างกันในส่วนของโทนสีของภาพโดยรวม ทั้งนี้มักขึ้นกับสภาพท้องฟ้าซึ่งเป็นพื้นหลังโดยรวมของภาพ ตัวอย่างเช่นการถ่ายภาพที่ค่าอุณหภูมิสีที่เท่ากัน โดยใช้ค่า WB 3800 K เท่ากัน แล้วนำค่า WB ที่เท่ากันนี้ไปถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงเดือนกันยายน กับช่วงเดือนเมษายน แล้วนำภาพมาเปรียบเทียบกัน เราก็มักจะเห็นความแตกต่างของสีท้องฟ้าพื้นหลังของทั้ง 2 เดือน คือ สีท้องฟ้าเดือนกันยายนจะออกโทนสีฟ้า เนื่องจากช่วงนั้นประเทศไทย ท้องฟ้ามักจะใสเคลียร์ ส่วนเดือนเมษายน ท้องฟ้าจะออกโทนมีส้มเหลือง เนื่องจากฟ้าหลัวนั่นเองครับ
แล้วเราจะใช้อะไรเป็นตัวอ้างอิงการปรับสีของภาพล่ะ
ส่วนตัวผมแนะนำให้ใช้ดาวฤกษ์สว่างบริเวณ ใกล้กับทางช้างเผือกเป็นตัวอ้างอิงในการเปรียบเทียบสีของภาพ ซึ่งเราสามารถใช้ “ไดอะแกรมของแฮร์ทสชปรุง-รัสเซลล์” เรียกย่อว่า H-R Diagram เป็นแผนภาพคู่ลำดับระหว่างสีของดาวฤกษ์กับความสว่างของดาว ซึ่งแผนภูมิจะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างค่าความส่องสว่างสัมบูรณ์ ความส่องสว่าง ประเภทของดาวฤกษ์ และอุณหภูมิของดาวฤกษ์
โดยเราสามารถใช้ ไดอะแกรมของแฮร์ทสชปรุง-รัสเซลล์ บอกว่าดาวฤกษ์ที่เราเห็นในภาพถ่ายทางช้างเผือกนั้นๆ มีอุณหภูมิของดาวฤกษ์เท่าไหร่ สีอะไรแล้วนำไปใช้เป็นตัวอ้างอิงในการปรับสีของภาพได้
แต่ในการปรับสีขอย้ำว่า “ให้ดูที่สีของดาวเท่านั้น” อย่านำเอาอุณหภูมิของดาวไปใช้ในการปรับค่า WB นะครับไม่งั้นภาพคุณก็จะเพี้ยนออกไปทางฟ้ามากๆ หรือ เหลืองมากๆ (อันนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อน)
สีของดาว
สมบัติของดาวอีกอย่างหนึ่งคือสี ดาวเคราะห์มีสีของมัน บางดวงเห็นสีได้เด่นชัด เช่นดาวอังคารมีสีแดง ดาวฤกษ์ก็มีสีเหมือนกัน หลายคนอาจคิดว่าดาวมีสีเดียว คือขาวเหลือง แต่หากดูให้ดีจะเห็นว่าดาวฤกษ์มีหลายสี บางดวงสีค่อนข้างแดง บางดวงขาวใส บ้างมีสีออกฟ้า แต่เราจะไม่สามารถเห็นดาวสีเขียวได้ เนื่องจากสีขาวกับสีเขียนมันใกล้กันมากจนไม่สามารถแยกสีได้ชัดเจน ซึ่งสีของดาวฤกษ์เป็นไปตามสมบัติการแผ่รังสีของวัตถุดำ ซึ่งจะแผ่รังสีเป็นแสงอินฟราเรด แสงสีแดง ส้ม ไปจนถึงฟ้า และรังสีอัลตราไวโอเลตเมื่ออุณหภูมิในวัตถุดำสูงขึ้นเป็นลำดับ
เทคนิคการอ้างอิงเปรียบเทียบสีของดาว
เอาล่ะครับทีนี้ผมจะขออนุญาตแนะนำเอาเทคนิคการปรับค่าอุณหภูมิสีของภาพทางช้างเผือก โดยเราจะใช้ 2 สิ่งหลักๆ จากในภาพเป็นตัวอ้างอิงในการปรับสีภาพ ดังนี้
1. การใช้ดาวพื้นหลังเป็นตัวอ้างอิง โดยการใช้ดาวที่เรารู้จักในบริเวณใกล้ๆ ใจกลางทางช้างเผือก ตัวอย่างเช่น ดาวแอนทาเรส(Antares) บริเวณหัวใจแมงป่องซึ่งจะมีสีส้มเหลืองเป็นเกณฑ์เพื่อเทียบสี ซึ่งหากเราปรับอุณหภูมิสีต่ำเกินไปสีก็จะเพี้ยนไปออกทางโทนสีฟ้า หรือหากปรับอุณหภูมิสีสูงเกินไปสีก็จะออกโทนเหลืองมากเกิน ดังนั้นเมื่อปรับอุณหภูมิสีของภาพแล้ว ควรดูว่าดาวอ้างอิงของเราสีเพี้ยนจากความจริงหรือไม่
2. การใช้สีของวัตถุฉากหน้า เช่น ต้นไม้สีเขียว วัตถุสิ่งก่อสร้างต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจากภาพตัวอย่างผมใช้สีของยอดเจดีย์ และต้นไม้เป็นเกณฑ์ในการเทียบอุณหภูมิสี
ดั้งนั้นในการถ่ายภาพทางช้างเผือก อาจเลือกฉากหน้าที่มีสีสันที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด ประกอบเข้าไปในภาพขณะถ่ายภาพร่วมด้วย ก็จะช่วยเป็นตัวอ้างอิงการปรับสีของภาพได้อีกทางหนึ่ง
3. นอกจากสีของดาวแล้ว ในบริเวณของกลุ่มดาวแมงป่องใกล้กับดาว แอนทาเรส ยังมีเนบิวลา Rho Ophiuchi ที่สามารถใช้เทียบสีได้เช่นกัน
จากภาพข้างบน ในวงกลมคือ เนบิวลา Rho Ophiuchiที่สามารถนำไปใช้เป็นอีกตัวอ้างอิงได้เช่นกัน แต่เนบิวลา Rho Ophiuchi นี้อาจถ่ายติดยากสักหน่อย สำหรับคนที่สามารถถ่ายบนขาตามดาวได้ในเวลาที่นานขึ้นหลายๆ นาที ก็จะสามารถเก็บสีของเนบิวลาได้ ซึ่งตรงส่วนของดาว แอนทาเรส นั้นจะมีเนบิวลาสีเหลืองอย่างชัดเจน และในส่วนดาวข้างเคียงก็จะมีเนบิวลาเป็นสีแดงและฟ้าตามลำดับ ดังในภาพตัวอย่างข้างต้น
ดังนั้นในการปรับอุณหภูมิสีของภาพ หากเราใส่ใจรายละเอียดในส่วนประกอบต่างๆในภาพ ก็จะช่วยให้เราปรับภาพในแนวทางที่ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนเกินจริง และทำให้การปรับแต่งภาพเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งหากเราถ่ายภาพทางช้างเผือกบ่อยแล้วนำภาพในแต่ละช่วงที่เราได้ออกไปถ่ายภาพมารวมกันดูก็จะเห็นได้ถึงความแตกต่างของสภาพท้องฟ้าที่เป็นพื้นหลังได้อย่างชัดเจน แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ภาพแนวใจกลางทางช้างเผือกของเราจะยังคงมีสีสันหรืออุณหภูมิสีของภาพได้ถูกต้องเหมือนกับที่นักดาราศาสตร์ให้ความสำคัญเสมอ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน