xs
xsm
sm
md
lg

เทคนิคการโปรเซสภาพทางช้างเผือกเบื้องต้น ตอนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายทางช้างเผือกในกิจกรรม Astrophotography Marathon ในช่วงเดือนเมษายน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30sec)
ตอนที่ 2 เทคนิคการโปรเซสภาพทางช้างเผือกเบื้องต้น (How to Post-Process a Milky Way Photo In Photoshop)

ต่อเนื่องจากคอลัมน์ตอนที่ 1 หลังจากทำความเข้าใจกับวิธีการตั้งค่ากล้องถ่ายทางช้างเผือกอย่างไรให้ได้แสงที่พอดี เพื่อให้สามารถเก็บภาพที่สามารถนำมาโปรเซสต่อในภายหลังได้ดีและง่ายขึ้น

สูตรสำเร็จที่อยากแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพทางช้างเผือกก็คือ “เริ่มต้นด้วยเวลาการเปิดหน้ากล้อง > ตามด้วยการปรับไวท์บาลานต์ > และสุดท้ายก็ปรับค่าความไวแสง ISO ตาม เพื่อให้ได้แสงที่พอดี” นี่คือสิ่งที่ผมมักกล่าวย้ำเสมอ เอาหล่ะครับ! คราวนี้ก็มาถึงกระบวนการโปรเซสภาพทางช้างเผือกกันครับ เทคนิคที่ผมจะแนะนำนี้เป็นเพียงขั้นตอนแบบง่ายๆ โดยใช้โปรแกรม Photoshop ในการโปรเซสภาพ อาจลองปรับค่าตามความชอบแต่ละคนนะครับ ซึ่งผมจะอธิบายด้วยภาษาที่อ่านดูง่าย เข้าใจไม่ยาก มาเริ่มกันเลยครับ

1. เริ่มต้นจากเปิดไฟล์ RAW จากโปรแกรม Photoshop และปรับค่า Temperature โดยปรับให้ภาพไม่ออกโทนฟ้าหรือเหลืองมากเกินไป เอาให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ค่า Temperature นี้ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าของภาพถ่ายที่ถ่ายมานะครับ ต้องลองปรับเอาเอง (ในภาพผมใช้ 3500K)

ในขั้นตอนแรกนี้เราควรให้ความสำคัญมากที่สุด ในการปรับค่าอุณหภูมิสี (Temperature) และคำถามที่ถูกถามมากที่สุดว่า ต้องปรับเท่าไรล่ะถึงจะถูกต้องหรือพอดี เราจะใช้อะไรเป็นตัวอ้างอิง หลักการง่ายๆ ก็คือ

- การใช้ดาวพื้นหลังเป็นตัวอ้างอิง เช่น การใช้ดาวที่เรารู้จักในบริเวณใกล้ๆ ทางช้างเผือก ตัวอย่างเช่น ดาวแอนทาเรส บริเวณหัวใจแมงป่อง เป็นเกณฑ์เพื่อเทียบสี ซึ่งหากเราปรับอุณหภูมิสีต่ำเกินไป สีก็จะเพี้ยนไปออกทางโทนสีฟ้า หรือหากปรับอุณหภูมิสีสูงเกินไป สีก็จะออกโทนเหลืองมากเกิน

- การใช้สีของวัตถุฉากหน้า เช่น ต้นไม้สีเขียว วัตถุสิ่งก่อสร้างต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจากภาพตัวอย่างผมใช้สีของยอดเจดีย์ และต้นไม้เป็นเกณฑ์ในการเทียบอุณหภูมิสี ส่วนรายละเอียดผมจะอธิบายอย่างละเอียดในคอลัมน์ต่อไป

2.จากนั้นไปที่ฟังก์ชัน Len Corrections เลือกเมนู Profile และเลือกชนิดกับเลนส์ที่ใช้ถ่าย จากนั้นโปรแกรมจะปรับค่า Distortion และ Vignetting ให้อัตโนมัติ ซึ่งเราสามารถปรับเพิ่มหรือลดเองได้ ขั้นตอนนี้ประเด็นหลักคือ การปรับค่าขอบมืดของภาพให้มีแสงสม่ำเสมอ ซึ่งเกิดจากการใช้ค่ารูรับแสงกว้างนั่นเอง

3. ขั้นตอนต่อมาคือการปรับลดการเหลือมสีบริเวณขอบภาพ โดยไปที่เมนู Color ให้คลิกถูกที่ Remove Chromatic Aberration จากนั้นปรับค่า Purple Amount เพื่อลดการเหลื่อมสีของขอบดาวลง ซึ่งเรามักจะสังเกตเห็นดาวที่บริเวณขอบภาพมีการเหลื่อมสีม่วงๆ ครับ

4. หลังจากปรับความสว่างบริเวณขอบภาพแล้ว ก็เปิดเงามืดของภาพขึ้นมา ซึ่งมักเป็นบริเวณของฉากหน้าเพื่อไม่ให้ภาพดูมืดจนเกินไป ที่เมนู Shadow ส่วนนี้การดึงความสว่างต้องระวังไม่ควรดึงขึ้นมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดสัญญาณรบกวนเพิ่มมากขึ้น

5. ต่อมาคือการเพิ่มความสว่างของของดาวและกระจุกดาวรวมทั้งเนบิวลาบริเวณฉากหลังที่เป็นทางช้างเผือก โดยการปรับที่เมนู Whites ในส่วนนี้จะทำให้ภาพพื้นหลังดูสว่างขึ้นจนเห็นรายละเอียดของทางช้างเผือกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

6. เมื่อเพิ่มความสว่างของดาวเสร็จแล้ว ต่อไปก็ทำการลดความสว่างของท้องฟ้าที่เป็นฉากหลังลดลง โดยปรับที่เมนู Highlights ให้ลดค่านี้ลง ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้รายละเอียดของเนบิวลามืดเด่นชัดขึ้นมา

7. ต่อไปก็ถึงขั้นตอนการเพิ่มรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น โดยปรับเพิ่มที่เมนู Clarity ส่วนนี้จะช่วยให้เนบิวลามืดเด่นชัดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด แต่ต้องระวังอย่าปรับค่าสูงมากเกินไป เพราะจะทำให้ภาพช้ำ และมีเกรนภาพมากเกินไป

8. สุดท้ายในฟังก์ชันของการปรับแต่งค่าใน Camera Raw ก็เพียงเร่งสีให้ดูสดขึ้น โดยปรับที่เมนู Vibrance สำหรับส่วนนี้จะทำให้สีสันบริเวณเนบิวลาสว่างบริเวณใจกลางทางช้างเผือกดูเด่นชัด และมีสีสันมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรเร่งมากเกินไปนะครับ เพราะภาพจะช้ำได้ง่ายเอาพอดูเป็นธรรมชาติ เมื่อพอใจแล้วก็คลิก Open Image เพื่อเปิดภาพไปยังหน้าต่างปกติของ Photoshop

9. หลังจากการปรับค่าต่างๆ ใน Camera Raw แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการปรับสีของทั้งภาพให้ดูสดและสว่างใสมากขึ้น โดยไปที่เมนู Image > Adjustments > Match Color

10. แล้วปรับค่า Color Intensity เพิ่มขึ้น เพียงเท่านี้ภาพทางช้างเผือกของเราก็จะดูมีสีสัน สว่างใสมากขึ้น รวมทั้งทำให้รายละเอียดส่วนต่างของทั้งเนบิวลาสว่าง เนบิวลามืด และกระจุดดาว บริเวณแนวทางช้างเผือกมีรายละเอียดที่ชัเดจนและดูดีมากขึ้น ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการโปรเซสทางช้างเผือกเบื้องต้นแล้วครับ

สำหรับข้างต้นที่กล่าวมา เป็นเพียงกระบวนการส่วนหนึ่งของการโปรเซสทางช้างเผือกแบบง่ายๆ ซึ่งท่านสามารถนำไปต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นการลด Noise หรือทำ Layer Mask ในส่วนฉากหน้ากับฉากหลังแยกกัน หรืออื่นๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่สำหรับมือใหม่ลองใช้วิธีที่ผมแนะนำดูก็น่าจะทำให้ได้ภาพทางช้างเผือกไว้อัดติดผนังบ้านกันแล้วหล่ะครับ

ภาพก่อนและหลังการโปรเซสภาพทางช้างเผือก ด้วยโปรแกรม Photoshop

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน











กำลังโหลดความคิดเห็น