xs
xsm
sm
md
lg

การถ่ายภาพเพื่อบรรยายความรู้ทางดาราศาสตร์/ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


ในช่วงนี้คงต้องบอกว่าเป็นช่วงฤดูแห่งการดูดาวก็คงไม่ผิดอะไร ส่วนตัวผมช่วงนี้จริงๆ ก็อยากออกไปถ่ายภาพดวงดาว หรือทางช้างเผือกเหมือนกันคนอื่นๆ แต่งานในช่วงนี้แต่ละวันในช่วงเย็นต้องให้บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เช่น การบรรยายความรู้เนื้อหาดาราศาสตร์ การจัดกิจกรรมค่ายดาราศาสตร์ และการจัดการจัดกิจกรรมดูดาวในภาคกลางคืนเกือบทุกวัน ซึ่งแต่ละครั้งในการจัดกิจกรรมนั้น สิ่งหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ประกอบกับการบรรยายได้เป็นอย่างดีก็คือ “ภาพถ่าย” นั่นเองครับ

ใช่แล้วครับวันนี้ผมจะมาพูดถึงการถ่ายภาพเพื่อประกอบกับการบรรยายความรู้ทางดาราศาสตร์ เนื้อหาในคอลัมน์นี้อาจดูเหมาะกับครูหรือคนที่จะเป็นวิทยากรในการบรรยายเนื้อหาความรู้และปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมเองก็ใช้วิธีการถ่ายภาพนี้มาร่วมกับการนำเสนอถ่ายทอดเนื้อหาอยู่บ่อยครั้ง และในการถ่ายภาพเพื่อประกอบการบรรยายนั้น เราก็แค่เพียงถ่ายภาพสัก 1-2 ภาพแบบง่ายๆ ก็สามารถสร้างคำอธิบายจากภาพถ่ายได้มากกว่าการบรรยายปากเปล่า เพราะภาพถ่ายสามารถแทนคำพูดได้นับพันคำ

การที่เราต้องการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางดาราสาสตร์ได้เห็นถึงรายละเอียดต่างๆ ของวัตถุท้องฟ้า ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ หรือแม้แต่การแสดงการหมุนของโลกนั้น ด้วยปากเปล่าคงยากจะอธิบาย หรือด้วยตาเปล่าก็คงยากที่จะมองเห็น ดังนั้นการถ่ายภาพก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ประกอบการบรรยายได้เป็นอย่างดี โดยผมจะขอเล่าถึงประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมาว่า เราจะสามารถนำเอาเทคนิคการถ่ายภาพดวงดาว หรือท้องฟ้ามุมกว้างมาใช้ควบคู่กับการบรรยายในเนื้อหาอะไรกันบ้าง

1. การถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light)
ตัวอย่างภาพถ่ายแสงจักรราศี ในช่วงการบรรยายกิจกรรมดูดาวให้กับกลุ่มนักเรียน โดยภาพถ่ายสามารถช่วยให้เด็กๆ มองเห็นภาพได้ง่ายมากขึ้น (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Sigma 24mm.F1.4 DG HSM Art / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.6 / ISO : 2500 / Exposure : 8sec.)
ในการบรรยายเรื่องการถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light) นั้น หลายครั้งที่เราอธิบายว่าแสงดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นแสงเรืองจางๆ รูปสามเหลี่ยม ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนหลังจากที่แสงสนธยาของตะวันตกดินลับฟ้าไปแล้ว โดยปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยะวิถี ก็มักจะมีอยู่หลายๆคนที่มองไม่ออกว่า แสงดังกล่าวเป็นรูปสามเหลี่ยมอย่างไร หรืออยู่ตรงไหน การถ่ายภาพให้ดูและอธิบายหลังกล้องดิจิตอล ก็ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายและเร็วมากขึ้น
***เทคนิคการถ่ายภาพแสงจักรราศี ตามลิงค์ http://goo.gl/Vca21v

<>2. การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star trails)
ตัวอย่างภาพถ่ายเส้นแสงดาว (Star trails) ในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 5-10 นาที ทางทิศเหนือเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าที่ ใช้อธิบายการหมุนของโลกได้เช่นกัน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/4 / ISO : 800 / Exposure : 480sec.)
ในการบรรยายเรื่องโลกหมุนรอบตัวเองในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา จากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก โดยจากมุมมองจากโลก เมื่อมองไปยังขั้วเหนือของท้องฟ้าเราจะสามารถสังเกตเห็นดาวทุกดวงโคจรหมุนรอบดาวเหนืออย่างช้าๆ ซึ่งการถ่ายภาพโดยการตั้งกล้องถ่ายภาพทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาทีก็จะสามารถแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของดาวที่โคจรหมุนรอบดาวเหนือได้แล้ว
***เทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงดาว ตามลิงค์ http://goo.gl/k8mfyT

3. การถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep sky Object)
ภาพถ่ายเนบิวลา M42 ในกลุ่มดาวนายพรานด้วยการถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์แบบ 1 shot ธรรมดาๆ ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดต่างๆของกลุ่มแก๊สในอวกาศได้เป็นอย่างดี (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon EOS DIGITAL REBEL XSi / Lens : Takahashi Epsilon 180ED / Focal length : 500 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 200 / Exposure : 30sec.)
ในการบรรยายเรื่องวัตถุท้องฟ้าในห่วงอวกาศลึกนั้น นอกจากการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดูดาวได้มองดูวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ เช่น เนบิวลาสว่างใหญ่ในกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆหมอกของฝุ่น แก๊ส และพลาสมาในอวกาศ โดยภาพที่ปรากฏในกล้องโทรทรรศน์จะมีลักษณะเป็นเพียงกลุ่มแก๊สสีขาวๆ จางๆ เท่านั้น หากเราใช้การถ่ายภาพร่วมประกอบการอธิบายก็จะสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจการการดูดาวได้เป็นอย่างดี
***เทคนิคการถ่ายภาพกลุ่มดาว ตามลิงค์ http://goo.gl/H46QKp

4. การถ่ายภาพกลุ่มดาวกับทางช้างเผือก (Constellation and Milky Way)
ภาพถ่ายคณะครูในโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการทางดาราศาสตร์ขั้นกลาง กับแนวใจกลางทางช้างเผือก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ใสเคลียร์เหมาะกับการดูดาว ณ ยอดดอยอินทนนท์ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Sigma 24mm f/1.4 DG HSM Art / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.6 / ISO : 2500 / Exposure : 20sec.
ในภาพดังกล่าว ด้วยตาเปล่านั้นเราไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดต่างๆ ของแนวทางช้างเผือกได้เหมือนกับในภาพ และประกอบกับในภาพนั้นช่วงเวลาที่ผมถ่ายภาพตรงบริเวณใจกลางทางช้างเผือกก็ยังมีแสงของดวงจันทร์มารบกวน ซึ่งเป็นดวงจันทร์เสี้ยวในช่วงข้างแรม 13 ค่ำ ทำให้ด้วยตาเปล่าเราจะเห็นแนวทางช้างเผือกได้เพียงรางๆเท่านั้น แต่ในการถ่ายภาพนั้น ก็ทำให้คณะครูได้เห็นรายละเอียดของทางช้างเผือกสามารถสร้างความตื่นเต้นในการจัดกิจกรรมดูดาวในช่วงเช้าได้เช่นกัน
***เทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือก ตามลิงค์ http://goo.gl/SOk3Og

จากตัวอย่างภาพถ่ายข้างต้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนำเอาเทคนิคการถ่ายภาพท้องฟ้าไปใช้ร่วมการการบรรยายเนื้อหาความรู้ทางดาราศาสตร์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการดูดาวได้เป็นอย่างดี เห็นอย่างนี้แล้วช้าอยู่ทำไม ออกไปถ่ายดาวกันเถอะครับคุณครู

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน











กำลังโหลดความคิดเห็น