xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกตุลาคม 2558 เดือนดาวเคราะห์ชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมในวันที่ 15 ตุลาคม 2558 เวลา 5.20 น. ทางทิศตะวันออก โดยใช้การถ่ายภาพผ่าน Star Filter และซ้อนกับ Soft Filter อีก 1 ชั้น เพื่อให้ได้ภาพกลุ่มดาวและดาวเคราะห์ที่เด่นชัดมากขึ้นจากพื้นหลัง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 43 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 1600 / Exposure : 8 sec.)
ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจตลอดทั้งเดือน ไม่ว่าจะเป็นทางช้างเผือก Earth Shine ดาวเคียงเดือน หรือดาวเคราะห์ชุมนุม ต่างพามาชุมนุมกันในช่วงเดือนแห่งการถ่ายภาพดวงดาวกันเลยทีเดียว

ช่วงนี้หากลองเช็คสภาพอากาศจากภาพดาวเทียมดูจะเห็นว่า ฟ้าหลังฝนก็มักจะใสเคลียร์ และท้องฟ้ามันก็ใสเคลียร์จริงๆด้วยสิครับ ซึ่งในหลายพื้นที่ของประเทศไทยก็เป็นเช่นนั้น ดังนั้นเมื่อปรากฏการณ์ต่างๆ มาพร้อมกับสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ก็อย่าได้รอช้าออกไปถ่ายดาวกันเถอะครับ

สำหรับตัวผมคิดว่าปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อยเพราะปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ นานๆถึงจะเห็นกลุ่มดาวเคราะห์เคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งมุมปรากฏใกล้กันขนาดนี้ (ปล.หลายคนคงสงสัยว่าทำไมไม่ถ่ายทางช้างเผือกหล่ะ...ผมขอตอบสั้นๆว่า “เราน่าจะถ่ายกันมาเยอะล่ะ”)

อะไรคือสิ่งที่น่าสนใจสำหรับปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมในช่วงเดือนตุลาคมนี้ก็คือ การที่เราจะสามารถเห็นดาวเคราะห์กว่า 4 ดวง ได้แก่ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวพุธ มาอยู่ในตำแหน่งใกล้กันตามแนวสุริยะวิถี ทางทิศตะวันออกของช่วงรุ่งเช้า บริเวณกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งเดือน

นอกจากนั้น เราจะยังเห็นการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวเคราะห์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งการติดตามถ่ายภาพทุกๆ วัน จะทำให้เห็นการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ได้อย่างชัดเจน และยังมีบางช่วงที่ดาวเคราะห์จะเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่ใกล้กันมาก โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงของปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่น่าสนใจดังนี้

9-11 ตุลาคม 2558 : ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน

สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 04.30 น. โดยประมาณ จนถึงช่วงรุ่งเช้า จะสามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์ได้แก่ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวพุธ อยู่ใกล้กับดวงจันทร์ ซึ่งช่วงวันดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในช่วงข้างแรม 11 ค่ำ ถึงแรม 13 ค่ำ ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เสี้ยวอยู่ท่ามกลางกลุ่มดาวเคราะห์ที่มีมุมปรากฏเรียงอยู่ตามแนวเส้นสุริยะวิถี และอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวสิงโต (Leo) โดยมีดาวฤกษ์สุกสว่างคือ ดาวเรกูลัส ซึ่งจะอยู่ตรงตำแหน่งหัวใจของสิงโตอยู่ใกล้กับดาวเคราะห์ทั้ง 4 อีกด้วย

ในช่วงเวลาดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์จะสังเกตได้ง่ายเนื่องจากเป็นสองวัตถุที่มีความสว่างที่สุดบนท้องฟ้า (ไม่นับรวมดวงจันทร์) แต่อาวพุธอาจจะสังเกตเห็นได้ยากเนื่องจากมุมปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้าเพียงเล็กน้อย และยังมีแสงสนธยารบกวน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าวันกล่าวด้วย

17-19 ตุลาคม 2558 : ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม

สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 04.30 น. โดยประมาณ จนถึงช่วงรุ่งเช้า โดยจะสามารถสังเกตเห็นดาวอังคารอยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดี เป็นระยะห่างปรากฏเชิงมุมเพียง 0.6 0.4 และ 0.5 องศา ตามลำดับ

การที่ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงชิดกันบนท้องฟ้าในครั้งนี้ ทางดาราศาสตร์จะเรียก “ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา ซึ่ง 1 กำปั้นของเราเมื่อเหยียดสุดแขนจะมีระยะเชิงมุมประมาณ 10 องศา

โดยในวันที่ 18 ตุลาคม จะเป็นช่วงที่ดาวอังคารเคลื่อนที่มาอยู่ใกล้กับพฤหัสบดีมากที่สุด เพียง 0.4 องศาเท่านั้น และหากผู้สังเกตใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า ก็จะสามารถสังเกตเห็น ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้
ภาพปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมในวันที่ 17 ตุลาคม 2558 เวลา 5.31 น. ทางทิศตะวันออก โดยใช้การถ่ายภาพผ่าน Star Filter และซ้อนกับ Soft Filter อีก 1 ชั้น เพื่อให้ได้ภาพกลุ่มดาวและดาวเคราะห์ที่เด่นชัดมากขึ้นจากพื้นหลัง โดยในวันนี้จะเห็นได้ว่า ดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีเคลื่อนที่เข้ามาใกล้กันมากขึ้น (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 40 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 640 / Exposure : 10 sec.)
25-27 ตุลาคม 2558 ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม

สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 04.30 น. โดยประมาณ จนถึงช่วงรุ่งเช้า โดยจะสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดี เป็นระยะห่างปรากฏเชิงมุมเพียง 1.35 1.0 และ 1.26 องศา ตามลำดับ

โดยในวันที่ 26 ตุลาคม จะเป็นช่วงที่ดาวอังคารเคลื่อนที่มาอยู่ใกล้กับพฤหัสบดีมากที่สุด เพียง 1.0 องศาเท่านั้น และหากผู้สังเกตใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 30 เท่า ก็จะสามารถสังเกตเห็น ดาวศุกร์อยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดี อยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้

เทคนิคและวิธีการ

สำหรับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงเดือนตุลาคมทั้งหมดที่กล่าวมานั้น สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทางทิศตะวันออกในช่วงก่อนรุ่งเช้าของทุกๆวัน เอาหล่ะครับทีนี้เรามาดูเทคนิคและวิธีการที่ผมใช้ในการถ่ายภาพดาวเคราะห์ชุมนุมในเดือนนี้กันบ้างครับ

1. ใช้โปรแกรม Stellarium ในการวางแผนถ่ายภาพ โดยการจำลองวันและเวลา ตามตำแหน่งของผู้สังเกต เพื่อตรวจสอบระยะเชิงมุมของทั้งปรากฏการณ์ว่า มีความกว้างกี่องศา แล้วนำไปใช้ในการเลือกเลนส์ในการถ่ายภาพว่าควรใช้เลนส์ขนาดทางยาวโฟกัสเท่าไร

2. เข้าไปเว็บ www.howardedin.com สำหรับตรวจสอบมุมรับภาพ(Field Of View) ของอุปกรณ์ถ่ายภาพ โดยนำค่ามุมรับภาพที่ได้จากโปรแกรม Stellarium ไปเปรียบเทียบกับมุมรับภาพของกล้องและเลนส์ที่จะใช้ในการถ่ายภาพ แล้วนำไปใช้ในการเลือกเลนส์ในการถ่ายภาพว่าควรใช้เลนส์ขนาดทางยาวโฟกัสเท่าไร

3. ใช้สูตร Rule of 400/600 ในการคำนวณเวลาการถ่ายภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้ดาวยืดเป็นเส้น (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/23fSCl)

4. ใช้ Star Filter ร่วมกับ Soft Filter เพื่อให้ได้ภาพดาวดวงสว่างให้เด่นชัดมากขึ้น โดยมีวิธีการใช้งานในการถ่ายภาพ ดังนี้

4.1 ขั้นแรกก่อนถ่ายภาพให้ติด Soft Filter ไว้ที่หน้าเลนส์ไว้ก่อน เนื่องจาก Soft Filter จะทำให้ดาวดวงที่สว่างบลูมขึ้น เด่นชัดขึ้น ขณะที่ดาวดวงที่สว่างน้อยๆ ซึ่งมักเป็นดาวพื้นหลัง ก็จะดรอปแสงลงไป ทำให้เราได้ภาพกลุ่มดาวและดาวเคราะห์ที่เด่นชัดขึ้น
ตัวอย่าง Star Filter ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปราคาเพียง 300 บาท
ตัวอย่าง Soft Filter แบบแผ่น (อันนี้ที่ไทยอาจหาซื้อยากสักหน่อย...เพราะผมได้มาจากญี่ปุ่น)
4.2 ใช้ Live View ในการช่วยโฟกัสและการถ่ายภาพ

4.3 ก่อนลั่นชัตเตอร์ให้นำ Star Filter ไปซ้อนกับ Soft Filter ที่ติดไว้หน้าเลนส์ในตอนแรกอีกชั้น แล้วจึงลั้นชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ โดยวาง Star Filter ไว้หน้าเลนส์เพียง 3-4 วินาที เท่านั้น ในขณะถ่ายภาพ แล้วจึงยกออกไป ให้เวลาที่เหลือในการเปิดหน้ากล้องถ่ายภาพมีเพียง Soft Filter เท่านั้น

เนื่องจากหากติด Star Filter ไว้หน้าเลนส์ตลอดระยะเวลาการเปิดหน้ากล้องในการถ่ายภาพ มักทำให้ดาวดวงที่สว่างมากๆ เกิดแฉกดาวมากเกินไปจนล้นภาพ จนดูรกหูรกตา (จุดนี้สำคัญมากครับ)
จากภาพเทคนิคที่ผมใช้ Star Filter ร่วมกับ Soft Filter คือการติด Soft Filter ไว้หน้าเลนส์ จากนั้นขณะถ่ายภาพใช้มือจับ Star Filter ซ้อนไว้หน้าเลนส์ขณะถ่ายภาพเพียง 3-4 วินาที แล้วจึงยกออก
DIY Star Filter
สำหรับใครที่อาจอยากลองใช้ Star Filter แต่ยังหาซื้อไม่ได้ หรือไม่อยากเปลืองตังค์ ผมมีวิธีการสร้าง Star Filter ง่ายๆ จากตาข่าย หรืออาจหาเส้นด้าย/เส้นเอ็น เล็กๆ มาติดที่หน้าเลนส์ก็สามารถสร้างแฉกให้กับภาพดวงดาวของคุณได้เช่นกัน แต่อาจจะไม่สวยเท่ากับ Star Filter จริงๆ แต่ก็พอช่วยได้ครับ (ลองดูครับ)
การทำ Star Filter จากตาข่าย (ภาพจาก http://www.instructables.com/id/DIY-Star-Filter/)
ตัวอย่างการใช้เส้นด้าย/เส้นเอ็น เล็กๆ มาติดที่หน้าเลนส์ ก็สามารถสร้างแฉกให้กับภาพดวงดาวได้เช่นกัน
Soft Filter สร้างง่ายๆ จากไอปาก

อีกวิธีหนึ่งสำหรับใครที่ต้องการให้มี Soft Filter โดยไม่เสียตังค์ ก็เอากันง่ายๆ เลยครับ ก่อนลั่นชัตเตอร์ เพียงเราใช้ไอปากเป่าไปที่หน้าเลนส์ให้เกิดฝ้าบางๆ หน้าเลนส์ ขณะถ่ายภาพ ก็พอช่วยให้ได้ภาพดาวสว่างที่บลูม เด่นชัดจากดาวพื้นหลังได้เช่นกันครับ แต่อาจต้องลองผิดลองถูกหลายครั้งหน่อยนะครับ

จากเทคนิคเบื้องต้น จะเห็นว่าเทคนิคและวิธีการสำหรับการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น ไม่มีสูตรตายตัว เราสามารถปรับใช้ตามความเหมาะสมตามความต้องการของผู้ถ่ายภาพครับ แต่สำหรับวิธีดังกล่าวนั้น ผมคิดว่าเราสามารถถ่ายภาพให้จบหลังกล้องได้แบบง่ายๆ ครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน















กำลังโหลดความคิดเห็น