xs
xsm
sm
md
lg

ดาวเคราะห์ชุมนุมเช้ามืด 17-19 ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สดร.ชวนชาวไทยชม ดาวเคราะห์ชุมนุม 17-19 ต.ค.นี้ ดาวอังคารเคียงชิดดาวพฤหัสบดี ห่างเพียงปลายนิ้วก้อย ช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก ยังมีดาวศุกร์และดาวพุธปรากฏให้เห็นในตำแหน่งใกล้เคียงกันอีกด้วย หากฟ้าใสเห็นชัดด้วยตาเปล่าทั่วไทย เป็นการชุมนุมของดาวเคราะห์หลายดวงบนท้องฟ้ายามใกล้รุ่งที่ไม่ควรพลาด

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.58 ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม ที่น่าสนใจคือดาวอังคารจะเคียงชิดดาวพฤหัสบดี ระยะห่างปรากฏเชิงมุมท้องฟ้าเพียง 0.6 0.4 และ 0.5 องศา ตามลำดับ โดยเฉพาะวันที่ 18 ต.ค. ดาวอังคารเคลื่อนที่มาอยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดีมากที่สุด เพียง 0.4 องศาเท่านั้น

การที่ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงชิดกันบนท้องฟ้าในครั้งนี้ ดร.ศรัณย์อธิบายว่าทางดาราศาสตร์เรียกว่า “ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา ดังนั้น หากมองด้วยตาจะเห็นดาวทั้งสองห่างเพียงปลายนิ้วก้อยเท่านั้น โดย 1 นิ้วก้อยของเราเมื่อเหยียดสุดแขนจะมีระยะเชิงมุมประมาณ 1 องศา

"ผู้สนใจสามารถชมความสวยงามของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.30 น. จนถึงรุ่งเช้า และหากผู้สังเกตใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า ก็จะสามารถสังเกตเห็นดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้ นอกจากนี้เช้าวันดังกล่าว ยังคงมองเห็นดาวศุกร์ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปและดาวพุธซึ่งอยู่ถัดลงมาด้านล่างในทิศเดียวกันอีกด้วย" ดร.ศรัณย์กล่าว
















กำลังโหลดความคิดเห็น