xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: 5 วิธีเลือกอาหารปกป้องทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การบริโภคสัตว์ทะเลอย่างใส่ใจเริ่มได้จากการเลือกซื้อสัตว์ที่โตเต็มวัย ไม่อยู่ในฤดูกาลวางไข่ และถูกจับขึ้นมาด้วยการทำประมงแบบอนุรักษ์
หลายคนคงชอบอาหารทะเล แต่ทราบหรือไม่ว่าสารพัดกุ้ง หอย ปู ปลาแสนอร่อยในจาน มีที่มาจากไหน? ถูกจับมาด้วยวิธีการอย่างไร? ร่วมดำดิ่งไปในโลกแห่งการประมงกับนักอนุรักษ์ ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวและสถานการณ์ของสัตว์ทะเลไทยพร้อม 5 ข้อควรรู้เพื่อการเลือกซื้อปกป้องทะเล



SuperSci สัปดาห์นี้ เอาใจคนรักอาหารทะเล ด้วย 5 วิธีเลือกอาหาร-ได้ปกป้องทะเลจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในวงการประมงมากว่า 30 ปี และจะทำให้มุมมองการเลือกซื้ออาหารทะเลของทุกคนเปลี่ยนไปในแง่ที่รู้เท่าทันมากขึ้น

ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณสัตว์ทะเลในน่านน้ำทะเลไทยมีน้อยลงจนเข้าขั้นวิกฤต จากที่เคยจับได้มากถึง 298 กิโลกรัมต่อการทำประมงหนึ่งชั่วโมง กลับเหลือเพียงแค่ 18 กิโลกรัมต่อชั่วโมงเท่านั้น เหตุเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่มากเกินสมดุลของมนุษย์ โดยไม่ได้คำนึงถึงธรรมชาติ ทำให้มีความต้องการอาหารทะเลเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคย

อุปสงค์ในอาหารทะเลที่สูงขึ้น กระตุ้นให้ผู้จับหันมาทำธุรกิจประมงแบบไร้ความรับผิดชอบ ด้วยการใช้เครื่องมือจับแบบอวนตาถี่ทั้งรุนและลาก ที่นอกจากจะทำให้ลูกปลาตัวเล็กและสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ที่ไม่ต้องการติดขึ้นไปด้วยแล้ว ยังทำให้แนวปะการังได้รับความเสียหาย ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายที่อยู่ของพวกปลาทะเล หลายๆ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมจนออกต่อต้านการทำประมงแบบอวนรุนอวนลาก จนรัฐบาลออกกฎหมายมาดูแลซึ่งทำได้เพียงแค่ควบคุมปริมาณเรือแต่ไม่ได้ทำให้การประมงแบบล้างผลาญเหล่านี้หมดไป

“ตอนนี้เรืออวนลาก อวนรุนที่จดทะเบียนแบบถูกกฎหมายในน่านน้ำทะเลไทยมีอยู่ประมาณ 4,000 ลำ ที่ไม่ถูกกฎหมายอีกกี่ลำก็ไม่ทราบ แต่ที่ทราบคือเยอะมากจนปลา จนสัตว์ทะเลต่างๆ โตแทบไม่ทัน ที่แย่กว่านั้นคือเรือเหล่านี้เขาจับหมด ทั้งปลาใหญ่ ปลาน้อย ตัวใหญ่ก็ขายคน ตัวเล็กก็เอาไปป่นทำอาหารสัตว์ ซึ่งมันไม่คุ้มค่าเลย ที่เราทำได้คือรณรงค์ให้คนกินรู้ว่าอาหารทะเลแบบไหนควรกิน ไม่ควรกิน ประมงแบบไหนที่ไม่ควรสนับสนุน และแม่ค้าแบบไหนที่เอาเปรียบ เพื่อให้การกินอาหารทะเลแต่ละครั้งของเราได้ทั้งอาหารที่ดี มีคุณภาพ คุ้มราคา และไม่ทำร้ายท้องทะเล ด้วย 5 ข้อควรรู้” ดร.สุภาภรณ์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ข้อควรรู้ข้อแรก คือ ต้องรู้จักสังเกตสภาพแวดล้อมของร้าน ว่ามีการดูแลอาหารทะเลอย่างไร มีการใช้น้ำแข็งที่ทั่วถึงและเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่มีน้ำแข็งก็สันนิษฐานได้ว่ามีการใส่สารเคมีเพื่อรักษาความสด

ข้อต่อมา คือ ผู้ซื้อควรมีความรู้ว่าสัตว์ทะเลแต่ละชนิด มีขนาดโตเต็มวัยแค่ไหน และเลือกซื้อเฉพาะสัตว์น้ำตัวโตเต็มวัยเท่านั้น เพราะถ้าซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อนมารับประทานจะเป็นการตัดวงจรชีวิตของสัตว์ เช่น ปลาทูที่เหมาะกับการรับประมานควรมีขนาดตัวที่ความยาวประมาณ 16 เซนติเมตรหรือมากกว่า ซึ่งข้อมูลของขนาดสัตว์ทะเลตัวเต็มวัยแต่ละชนิด สามารถดูได้ที่คู่มือและแอปพลิเคชั่น จาก'เลสู่จาน ที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พัฒนาขึ้น

ข้อที่ 3 ต้องรู้ว่าสัตว์น้ำลักษณะใดที่ไม่ควรรับประทาน เช่น ปลาที่มีไข่เต็มท้อง ปูไข่นอกกระดอง หรือสัตว์ทะเลที่กำลังจะวางไข่ เพราะถ้าสัตว์เหล่านี้มีชีวิตอยู่รอด อีกประมาณ 2-3 วัน พวกมันจะปล่อยไข่ ทำให้เกิดเป็นปูหรือปลาอีกนับหมื่น นับแสนตัว ที่จะเติบโตต่อไปเพื่อเป็นอาหารให้คนทั้งโลก

ข้อที่ 4 ต้องรู้ว่าสัตว์ทะเลแบบไหนที่ยังคงความสด โดยสังเกตง่ายๆ จากดวงตาที่ยังคงความใส ดูลักษณะความยืดหยุ่นของเนื้อปลาหลังจากกดเบาๆ ที่จะเด้งตัวขึ้นมา ไม่บุ๋มลงไปเป็นรอยนิ้ว หรือแข็งจนเกินพอดี และข้อสุดท้าย คือ ต้องรู้ว่าสัตว์น้ำที่จะซื้อ จับมาจากแหล่งไหน ด้วยวิธีการทำประมงแบบใดจากการสอบถามแม่ค้า และพยายามไม่สนับสนุนสัตว์ทะเลที่ได้มาจากการทำประมงแบบทำลายสิ่งแวดล้อม

“เราไม่ได้บอกให้เลิกกินอาหารทะเล กินได้ และถึงทะเลไทยจะเข้าขั้นวิกฤตแล้ว แต่ก็ขอยืนยันว่ายังมีปลาอีกมากให้พวกเรากอนได้ตลอด แต่ถ้าการทำประมงแบบไร้จิตสำนึกยังมีอยู่มากก็ไม่แน่ การอนุรักษ์ทะเลจึงไม่ใช่หน้าที่ของนักอนุรักษ์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของผู้บริโภค โดยเฉพาะเหล่าคนรักอาหารทะเลทุกคน ที่จะต้องช่วยกันตรวจสอบย้อนกลับ และสนับสนุนการทำประมงแบบอนุรักษ์ด้วยตัวเองเพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงให้เกิดการทำประมงที่มีความรับผิดชอบ อย่างยั่งยืน” ดร.สุภาภรณ์กล่าว
ปลาที่สดต้องมีตาใส เนื้อไม่เล็ก ต้องมีน้ำแข็งคอยรักษาความสดอยู่ตลอดเวลา
ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน
กลุ่มกรีนพีซ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นจากเลสู่จาน ออกมารณรงค์ให้ผู้บริโภคอาหารทะเลบริโภคแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม









กำลังโหลดความคิดเห็น