xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจช่วยโลกให้รอดจากปรสิตของ “โนเบลแพทย์ 2015”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพผู้ได้รับรางวัลโนเบลแพทย์ประจำปี 2015 (ซ้ายไปขวา) วิลเลียม แคมป์เบลล์,  ซาโตชิ โอมูระ และ ยูยู ตู ณ สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institute) สตอกโฮล์ม สวีเดน (AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND)
โนเบลแพทย์ประเดิมผลรางวัลก่อนสาขาอื่นตามธรรมเนียม ซึ่งผลงานของผู้ทรงคุณวุฒิปีล่าสุดนั้นสอดคล้องกับเจตนารมย์ของ อัลเฟร็ด โนเบล ผู้ก่อตั้งรางวัลที่ปรารถนาให้รางวัลแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เกื้อกูลและนำสันติสุขมาสู่มนุษยชาติ จากการค้นพบหนทางรักษาโรคจชติดเชื้อจากปรสิตที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่มนุษย์โลกหลายล้านชีวิต

เลขาธิการคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีศาสตร์หรือการแพทย์ ประกาศมอบรางวัลประจำปี 2015 ให้แก่ วิลเลียม แคมป์เบลล์ (William Campbell) นักวิจัยเชื้อสายไอริช และ ซาโตชิ โอมูระ (Satoshi Omura) จากญี่ปุ่น สำหรับ “การค้นพบนวัตกรรมบำบัดต้านการติดเชื้อที่มีสาเหตุจากหนอนตัวกลม” โดยทั้งคู่ได้รับรางวัลครึ่งหนึ่งของรางวัลทั้งหมด และรางวัลอีกครึ่งแก่ ถู โยวโยว (Youyou Tu) สำหรับ “การค้นพบนวัตกรรมบำบัดต้านมาลาเรีย” เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 5 ต.ค.2015 ณ สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institute) สตอกโฮล์ม สวีเดน

หลังประกาศผลคณะกรรมการจะอธิบายถึงผลงานและความสำคัญของผู้ได้รับรางวัล พร้อมทั้งแจกจ่ายข่าวประชาสัมพันธ์ สำหรับผลงานของผู้ได้รับรางวัลทั้ง 3 คนนั้น คณะกรรมการได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของผลงานที่ช่วยให้ประชากรโลกพ้นทุกข์จากโรคติดเชื้อปรสิตที่รักษาได้ยาก 3 โรค คือ โรคพยาธิตาบอด โรคเท้าช้าง และโรคมาลาเรีย
ภาพของ ศ.วิลเลียม แคมป์เบลล์ หลังได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตจากวิทยาลัยทรินิตีดับลินเมื่อ 29 มิ.ย.2012 (AFP PHOTO / TRINITY COLLEGE DUBLIN / JUSTIN MAC INNNES)
คณะกรรมการโนเบลระบุว่าในโลกชีววิทยาอันซับซ้อนนั้นมนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์อื่นรวมถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีอยู่มากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงและทำให้เราถึงตาย และโรคที่เกิดจากปรสิตนั้นมีอยู่มากมาย ซึ่งหนอนตัวกลมที่เป็นปรสิตนั้นเป็นกลุ่มหนึ่งมีบทบาทในวงการแพทย์ ประชากร 1 ใน 3 ของโลกได้ผลกระทบจากปรสิตกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะประชากรในแอฟริกาแถบซาฮารา เอเชียใต้ อเมริกากลางและอเมริกาใต้

สำหรับโรคพยาธิตาบอดหรือตาบอดแถบแม่น้ำ (River Blindness) และโรคเท้าช้าง (lymphatic filariasis) นั้นมีสาเหตุจากพยาธิตัวกลม โดยโรคพยาธิตาบอดทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณกระจกตาจนเป็นเหตุให้ตาบอด ส่วนโรคเท้าช้างนั้นก็ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกกว่า 100 ล้านคนที่ติดเชื้อ ซึ่งนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพไปชั่วชีวิต

ส่วนโรคมาลาเรียก็อยู่กับมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน โดยมีสาเหตุจากปรสิตเซลล์เดียวที่มียุงเป็นพาหะได้เข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง จนทำให้เกิดไข้ ในกรณีร้ายแรงก็เป็นเหตุให้สมองถูกทำลายและตาย โดยประชากรโลกมากกว่า 3.4 พันล้านคนมีความเสียที่จะได้รับเชื้อมาลาเรีย และมีข้อมูลยืนยันว่าแต่ละปีมีรายงานยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 450,000 คน
เออร์บัน เลนดาห์ล (Urban Lendahl) เลขาธิการคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ระหว่างแถลงข่าวประกาศผลรางวัลประจำปี 2015 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2015 ณ สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institute) สตอกโฮล์ม สวีเดน (AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND)
ที่ผ่านมามีความพยายามในการรักษาโรคจากปรสิตเหล่านี้ แต่ไม่มีวิธีไหนที่ได้ผลยั่งยืน แต่การค้นพบของผู้รับรางวัลโนเบลปีล่าสุดได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ไปอย่างมโหฬาร ในส่วนของโอมูระนักจุลชีววิทยาชาวญี่ปุ่นและเป็นผู้เชี่ยวชาญการสกัดสารจากธรรมชาติ ได้พุ่งความสนใจไปที่กลุ่มแบคทีเรีย “สเตรปโตไมซิส” (streptomyces) ซึ่งอาศัยอยู่ในดิน และผลิตสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคได้

โอมูระได้ใช้ทักษะที่มีจำแนกแบคทีเรียสายใหม่ของสเตรปโตไมซิสออกจากตัวอย่างดิน และประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียเหล่านั้นในห้องปฏิบัติการ จากจานเพาะเลี้ยงนับพันเขาได้คัดเลือกเพียง 50 จานเพาะเชื้อที่ดูมีศักยภาพมากที่สุด เพื่อศึกษากิจกรรมที่ช่วยต้านจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย

ด้านแคมป์เบลล์ชาวไอริชผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาปรสิตซึ่งทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้นำสเตรปโตไมซิสที่โอมูระเพาะเลี้ยงไปศึกษาประสิทธิภาพ เขาพบว่าแบคทีเรียจากจานเพาะเลี้ยงหนึ่งได้ให้ต้านปรสิตทั้งที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ในฟาร์ม สารออกฤทธิ์ชีวภาพดังกล่าวถูกทำบริสุทธิ์และได้ชื่อว่า “เอเวอร์เมคติน” (Evermectin) และได้รับการปรับปรุงให้เป็นสารประกอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นชื่อ “อิเวอร์เมคติน” (Ivermectin) ซึ่งภายหลังได้นำไปใช้ในคนที่เชื้อปรสิตและได้ผลในการฆ่าตัวอ่อนปรสิต

“ผลงานของแคมป์เบลล์และโอมูระได้นำไปสู่การค้นพบยาชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพไม่ธรรมดาในการต้านโรคจากปรสิต” คำแถลงของคณะกรรมการโนเบล
ฮันส์ ฟอร์สเบิร์ก (Hans Forssberg) สมาชิกคณะกรรมการรางวัลโนเบล ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงข่าวประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2015 เมื่อ 5 ต.ค.2015 ณ สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institute) สตอกโฮล์ม สวีเดน (AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND)
ขณะที่การรักษาโรคมาลาเรียด้วยยากคลอโรควิน (chloroquine) หรือ ควินิน (quinine) เริ่มไม่ได้ผล โดยเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1960 ความพยายามในการกำจัดมาลาเรียล้มเหลว และการติดโรคเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเวลานั้นโยวโยวในจีนได้เปลี่ยนยาสมุนไพรดั้งเดิมสู่การพัฒนาการบำบัดมาลาเรียแบบใหม่ เธอได้ศึกษาการบำบัดโรคมาลาเรียในสัตว์ด้วยสมุนไพร และเห็นว่าสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “อาร์ติมิเซียแอนนัว” (Artemisia annua) นั้นเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

ทว่าการรักษาด้วย อาร์ทีมิเซียแอนนัวได้ผลที่ไม่สอดคล้องกัน โยวโยวจึงศึกษาตำรายาโบราณเพื่อเป็นแนวทางในการสกัดสารสำคัญจากสมุนไพรดังกล่าว และเป็นคนแรกที่แสดงให้เห็นว่าสารประกอบซึ่งภายหลังเรียกว่า “อาร์ติมิซินิน” (Artemisinin) นั้นให้ประสิทธิภาพสูงในการต้านปรสิตก่อโรคมาลาเรีย ทั้งที่ก่อโรคในสัตว์และที่ก่อโรคในคน และเป็นสารบำบัดตัวใหม่ที่ฆ่าเชื้อปรสิตก่อโรคมาลาเรียได้อย่างรวดเร็วในระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นสาเหตุของความสำเร็จในการรักษาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ภาพของซาโตชิ โอมูระ และภาพวาดอธิบายการทำงานของเขาที่แสดงบนหน้าจอของคณะกรรมการรางวัลโนเบลระหว่างแถลงข่าวประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสรีศาสตร์หรือการแพทย์ 2015 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2015 โดยเขาและวิลเลียม แคมป์เลียมได้รับรางวัลครึ่งหนึ่งของรางวัลทั้งหมดร่วมกัน จากการค้นพบยารักษาโรคปรสิตที่ทำให้เกิดโรคเท้าช้างและโรคพยาธิตาบอด ส่วรางวัลอีกครึ่งที่เหลือเป็นของ ถู โยวโยว ผู้ค้นพบยารักษามาลาเรียจากสมุนไพรจีน ( AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND)
คณะกรรมการโนเบลระบุว่าการค้นพบเอเวอร์เมคตินและอาร์ติมิซินินได้เปลี่ยนแปลงการรักษาโรคจากปรสิตไปอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้อิเวอร์เมคตินที่ต่อยอดมาจากเอเวอร์เมคตินถูกนำไปใช้ในทุกพื้นที่ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรคปรสิต อิเวอร์เมคตินมีประสิทธิภาพสูงในการต้านปรสิตที่หลากหลาย และมีผลข้างเคียงน้อย อีกทั้งเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งความสำคัญของตัวยาดังกล่าวที่ช่วยยกระดับสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนหลายล้านคนที่เป็นโรคพยาธิตาบอดและเท้าช้าง โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจนนั้นเป็นส่งที่ประเมินค่ามิได้

“การรักษานั้นได้ผลดีจนโรคเหล่านี้มาถึงจุดที่จะหมดสิ้น ซึ่งจะกลายเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์วงการแพทย์ของมนุษยชาติ ส่วนมาลาเรียนั้นก่อโรคในคนเกือบ 200 ล้านรายในแต่ละปี และยาอาร์ติมิซินินได้ถูกใช้ไปในทุกพื้นที่ของโรคที่มีมาลาเรียซ่อนอยู่ เมื่อใช้ร่วมกับการบำบัดรักษาอย่างอื่นช่วยลดการตายจากโรคมาลาเรียได้มากกว่า 20% และมากกว่า 30 % ในเด็ก เฉพาะที่แอฟริกาแห่งเดียวมีผู้รอดชีวิตมากกว่าปีละ 100,000 ชีวิต” คณะกรรมการโนเบลระบุ
ภาพของวิลเลียม แคมป์เลียม และภาพวาดอธิบายการทำงานของเขาที่แสดงบนหน้าจอของคณะกรรมการรางวัลโนเบลระหว่างแถลงข่าวประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสรีศาสตร์หรือการแพทย์ 2015 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2015 โดยเขาและซาโตชิ โอมูระได้รับรางวัลครึ่งหนึ่งของรางวัลทั้งหมดร่วมกัน จากการค้นพบยารักษาโรคปรสิตที่ทำให้เกิดโรคเท้าช้างและโรคพยาธิตาบอด ส่วรางวัลอีกครึ่งที่เหลือเป็นของ ถู โยวโยว ผู้ค้นพบยารักษามาลาเรียจากสมุนไพรจีน ( AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND)
วิลเลียม แคมป์เบลล์เกิดเมื่อปี 1930 ในราเมลตัน ไอร์แลนด์ เขาจบปริญญาตรีจากวิทยาทรินิตี (Trinity College) มหาวิทยาลัยดับลิน (University of Dublin) ในไอร์แลนด์เมื่อปี 1952 และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวิสคันซิน (University of Wisconsin) ในเมดิสัน สหรัฐฯ เมื่อปี 1957 ในช่วงปี 1957-1990 เขาทำงานที่สถาบันวิจัยบำบัดโรคเมิร์ค (Merck) และช่วงปี 1984-1990 เขายังเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแอสเซย์ (Assay Research and Development) ปัจจุบันเขาเป็นนักวิจัยกิตติคุณของมหาวิทยาลัยดรูว (Drew University) ในเมดิสัน นิวเจอร์ซี สหรัฐฯ

ซาโตชิ โอมูระ เกิดเมื่อปี 1935 ในเมืองยามานาชิ ญี่ปุ่นและเป็นพลเมืองญี่ปุ่น เขาจบปริญญาเอกทางด้านเภสัชศาสตร์เมื่อปี 1968 จากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ญี่ปุ่น และจบปริญญาเอกทางด้านเคมีเมื่อปี 1970 จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โตเกียว (Tokyo University of Science) เขาเคยเป็นนักวิจัยของสถาบันคิตาซาโต (Kitasato University) ในญี่ปุ่นระหว่างปี 1965-1971 และตั้งแต่ปี 2007 เขาเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัยคิตาซาโต

ถู โยวโยว เกิดเมื่อปี 1930 ในจีนและเป็นพลเมืองจีน เธอจบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแพทย์ปักกิ่ง (Beijing Medical University) เมื่อปี 1955 ระหว่างปี 1965-1978 เธอเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของบัณฑิตยสภาจีนทางด้านการแพทย์จีนโบราณ (China Academy of Traditional Chinese Medicine) และขึ้นเป็นรองศาสตรจารย์ระหว่างปี 1979-1984 และเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันเดิมในปี 1985 นับจากปี 2000 เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าศาสตราจารย์ของบัณฑิตยสภาจีนทางด้านการแพทย์จีนโบราณ
ภาพวาดอธิบายงานวิจัยเกี่ยวกับการติดเชื้อจากหนอนตัวกลมของผู้ได้รับรางวัลโนเบลแพทย์ในปี 2015 ซึ่งประกาศผลเมื่อ 5 ต.ค.2015 ณ สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institute) สตอกโฮล์ม สวีเดน (AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAN)
ภาพของ ถู โยวโยว และภาพวาดอธิบายการทำงานของเธอที่แสดงบนหน้าจอของคณะกรรมการรางวัลโนเบลระหว่างแถลงข่าวประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสรีศาสตร์หรือการแพทย์ 2015 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2015 ทั้งนี้เธอได้แบ่งรางวัลครึ่งหนึ่งจากรางวัลทั้งหมด โดยรางวัลส่วนที่เหลือเป็นของ ซาโตชิ โอมูระ และวิลเลียม แคมป์เบลล์ ( AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND)
















กำลังโหลดความคิดเห็น