xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาโครงสร้าง 3 มิติสมุนไพรไทยต่อยอดยาเคมีบำบัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นักวิจัยทุนลอรีอัลฯ เดินหน้าศึกษาโครงสร้าง 3 มิติสมุนไพรไทยเชิงลึก หาโครงสร้างสารเคมีแท้จริง ด้วยเทคนิคสังเคราะห์เคมีอินทรีย์แบบอสมมาตร ต่อยอดยาเคมีบำบัด ยกระดับวงการสมุนไพร

ผศ.ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยสรรพคุณอันโดดเด่นของสมุนไพรไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ทำให้ปัจจุบันมีผู้นิยมนำสมุนไพรไทยไปใช้เป็นจำนวนมาก แต่ถึงจะมีประโยชน์อีกด้านของสมุนไพรก็ให้โทษได้เช่นกันหากนำไปใช้ผิดชนิด หรือผิดขนาด ในฐานะที่เธอศึกษาวิจัยเกี่ยวเคมีอินทรีย์สังเคราะห์มานานนับ 10 ปี จึงพยายามคิดหาวิธีเพื่อสร้างบรรทัดฐานและบันไดต่อยอดให้วงการสมุนไพร

ผศ.ดร.ดรุณี เผยว่า คนส่วนใหญ่รู้จักสมุนไพรแต่ไม่รู้โครงสร้างสารเคมีที่แท้จริงในสมุนไพร ทำให้ผู้ใช้ไม่มีความมั่นใจและถูกจำกัดการใช้เพียงวงแคบๆ เพื่อแก้ปัญหา จึงได้ดำเนินงานวิจัย "การสังเคราะห์แบบอสมมาตรของสารประเภทเซโคลิกแนนที่สกัดได้จากพืชสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ" เพื่อหาโครงสร้างสารเคมีที่แท้จริงของสมุนไพร ด้วยการสังเคราะห์แบบอสมมาตรที่จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีโครงสร้างสามมิติอย่างจำเพาะเจาะจง

ผศ.ดร.ดรุณี ระบุว่า สารอินทรีย์บริสุทธิ์ที่สกัดได้จาก รา พืช และสมุนไพร แม้จะมีส่วนประกอบทางเคมีที่เหมือนกัน แต่หากมีโครงสร้างสามมิติที่แตกต่างกันแล้ว ก็มักจะมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่แตกต่างกันด้วย จุดประสงค์ของงานวิจัยจึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิธีการสังเคราะห์แบบอสมมาตร และนำไปประยุกต์ใช้สร้างสารที่มีฤทธิ์ชีวภาพใหม่ๆ ที่อาจนำไปทำเป็นยา หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

"งานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการยืนยันโครงสร้างทางเคมี และโครงสร้างสามมิติของสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เป็นสารเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตเพื่อให้ได้สารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้นและเพียงพอสำหรับการวิจัยเชิงลึก รวมถึงนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นยาเคมีที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้งานวิจัยยังนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้ได้สารใหม่ที่จะนำไปใช้ในการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างทางเคมีที่เปลี่ยนแปลงกับฤทธิ์ทางชีวภาพที่อาจจะดีขึ้นด้วย" ผศ.ดร.ดรุณีกล่าว

ด้วยประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับวงการเคมีเภสัช และบทความวิจัยในขอบข่ายเดียวกันกว่า 42 เรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ทำให้ ผศ.ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักวิจัยผู้ได้รับทุน "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" สาขาวิทยาศาสตร์เคมี ประจำปี 2558
โครงสร้างเคมี 3 มิติจำลอง
ผศ.ดร.ดรุณี สู้รักรัมย์  รศ.ดร.ศิวพร มีจู สมิธ และ ผศ.ดร.ภัทรพร คิม 3 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับเลือกให้เป็น 3 ใน 6 นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ จากลอรีอัล ประจำปี 2558









กำลังโหลดความคิดเห็น