ความต้องการใช้พลังงานยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่พลังงานจากธรรมชาติกลับร่อยหรอลงทุกที หน้าที่หนึ่งของนักวิทยาศาสตร์จึงเป็นการหาทางออกใหม่ให้กับโลกด้วยยการเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่จากสิ่งรอบตัวต่างๆ แม้กระทั่ง “จุลินทรีย์”
รศ.ดร.เบญจมาส เชียรศิลป์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งสูงขึ้นตามการขยายของชุมชนเมือง ซึ่งพลังงานส่วนใหญ่ล้วนถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ที่นอกจากจะมีราคาแพงยังทำให้ประเทศเสียเปรียบด้านพลังงาน
ในช่วง 20 ปี หลังนักวิจัยไทยจึงหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นับวันยิ่งมีลดน้อยลง รวมถึงตัวเธอที่ปรับเปลี่ยนแนวทางการวิจัยจากการศึกษาการทำงานของจุลินทรีย์เชิงพื้นฐาน มาเป็นการประยุกต์ใช้เชื้อราไขมันสูงสำหรับการสกัดไบโอดีเซล เพราะเธอทราบดีว่านอกจากจุลินทรีย์จะเป็นได้ทั้งยารักษาโรค และอาหารแล้วยังมีคุณสมบัติพิเศษในการผลิตน้ำมันและสะสมน้ำมันได้ด้วย โดยมุ่งศึกษาเชื้อราไขมันสูงที่พบขึ้นอยู่มากมายในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
“ตัวเองเป็นคนใต้ คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กๆ เห็นว่าปัญหาขยะยังคงแก้ไม่ตก และในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มก็จะมีเชื้อราจำพวกนี้ขึ้นอยู่ เลยคิดว่าถ้าเราผลิตน้ำมันจากขยะพวกนี้ได้น่าจะดี 3 ปีก่อนเลยไปเก็บเชื้อกลุ่มตัวอย่างมาทดลองเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อเฉพาะ แล้วแยกให้เป็นโคโลนีเดี่ยวเพื่อค้นหาเชื้อราสายพันธุ์แอสเพอจิลัสกลุ่มที่สะสมน้ำมันได้แล้วจึงนำมาเลี้ยงให้เพิ่มจำนวน ก่อนจะนำไปหมักกับเส้นใยปาล์มจนได้เส้นใยเชื้อราที่ภายในมีน้ำมันสูง แล้วจึงนำมาสกัดเป็นน้ำมันอีกรอบด้วยคลอโรฟอร์มและเมทานอล” รศ.ดร.เบญจมาส เล่าถึงวิธีดำเนินการ
รศ.ดร.เบญจมาส กล่าวว่า นอกจากเชื้อราที่จะผลิตน้ำมันได้แล้ว ยีสต์บางชนิดก็สามารถผลิตน้ำมันได้เช่นกันแต่ต้องเลี้ยงบนอาหารที่เป็นน้ำตาลเท่านั้น แต่เชื้อราไม่ต้องเพราะสามารถใช้เส้นใยปาล์มเป็นอาหารได้เลย เนื่องจากเชื้อราไขมันสูงมีเอนไซม์ย่อยเซลลูโลสให้เป็นน้ำตาลอยู่แล้ว ผู้เลี้ยงจึงไม่ต้องใช้กรดหรือเอนไซม์ในกรช่วยย่อยเศษปาล์มแต่อย่างใด ซึ่งการลัดกระบวนการนี่เองที่ทำให้การผลิตน้ำมันจากเชื้อราไขมันสูงเป็นข้อได้เปรียบกว่าการใช้ยีสต์ช่วยผลิต โดยเส้นใยประมาณ 10 กิโลกรัมจะให้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำมันประมาณ 6-7 ลิตร ส่วนเส้นใยที่เหลือจะเป็นโปรตีนจากเชื้อราที่สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกต่อหนึ่ง
“นอกจากจะลดขั้นตอนการผลิตน้ำมันได้มากแล้ว และยังทำให้เราได้น้ำมันที่มีองค์ประกอบของกรดไขมันที่หลากหลาย ซึ่งเป็นทางเลือกในการนำกรดไขมันมาใช้ต่อด้วย โดยน้ำมันที่ผลิตได้ตอนนี้ตกต้นทุนลิตรละ 6 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างคุ้มทุนแต่ยังขยายผลนำไปใช้จริงไม่ได้ เพราะแล็บที่ทำเป็นสเกลเล็ก ผลิตน้ำมันได้เพียงคราวละ 600-700 กรัมเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันกำลังออกแบบตัวถังเพื่อขยายการผลิตอยู่ คาดว่าอีกสักประมาณ 10-15 ปีน่าจะได้เห็นน้ำมันไบโอดีเซลจากขยะปาล์มในถังน้ำมันรถ แต่ที่น่าจะเห็นเร็วกว่านั้นคือปริมาณขยะปาล์มที่ลดลงซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักวิจัยคนใต้แท้ๆ คนนี้อยากจะทำให้สำเร็จ” รศ.ดร.เบญจมาสกล่าว
ทั้งนี้ รศ.ดร.เบญจมาส เชียรศิลป์ ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 6นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี 2558 ด้วย