นักวิจัยทุนแกนนำ ปี’58 รับทุน สวทช. 20 ล้านเดินหน้าค้นหาสารบ่งชี้ความรุนแรงไข้เลือดออก หวังพัฒนาชุดตรวจพยากรณ์ความรุนแรงโรค ล้อมคอกผู้ป่วยทาสยุงลายก่อนถึงวิกฤตหนัก ต่อยอดงานวิจัยขั้นพื้นฐานหลังทำงานวิจัยไข้เลือดออกต่อเนื่อง 20 ปี
นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก เป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขของประเทศในเขตร้อนชื้น รวมทั้งประเทศไทย มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมากในทุกปี ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีการพัฒนาก้าวหน้าที่สุดยังไม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากความซับซ้อนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและความหลากหลายของเชื้อไวรัสแม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกแล้วก็ตาม เพราะยังไม่สามารถแยกแยะผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรงออกจากกลุ่มผู้ป่วยทั่วไปได้
นักวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องแสวงหาองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อให้เข้าใจถึงกลไกการเกิดโรคในคนไข้ที่มีอาการของโรคที่มีความรุนแรงต่างกัน โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อค้นหาตัวบ่งชี้ที่จะนำไปพัฒนาเป็นชุดตรวจวินิจฉัยที่มีความแม่นยำและสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้ เป็นที่มาของโครงการวิจัยแบบบูรณาการเพื่อค้นหาชุดของสารบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ เผยว่า โครงการวิจัยนี้ เป็นโครงการที่มุ่งเป้าศึกษาถึงกลไกและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกจากโปรตีนเอ็นเอสวัน (NS1) ของไวรัสเด็งกี่ซึ่งเชื่อว่ามีบทบาทในการเกิดความรุนแรงของโรค โดยเป็นงานวิจัยต่อยอดจากงานวิจัยในข่ายเดียวกันที่ดำเนินมากว่า 20 ปีร่วมกับทีมนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
นพ.ปรีดา กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เหตุที่ต้องศึกษาโปรตีนเอ็นเอสวัน (NS1) เพราะเป็นโปรตีนในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างของไวรัสเด็งกี่ โดยพบได้ในหลายรูปแบบทั้งภายในเซลล์ บนผิวเซลล์ และถูกปลดปล่อยออกมานอกเซลล์ที่มีการติดเชื้อในรูปแบบเฮกซะเมอริก ลิโพโปรตีน (hexameric lipoprotein) โดยสามารถตรวจพบได้ในเลือดของผู้ป่วยไข้เลือดออก ในระดับที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ทำให้โปรตีนเอ็นเอสวัน เป็นตัวบ่งชี้การวินิจฉัยโรคที่สำคัญ (diagnostic marker)
“ไข้เลือดออกจะไม่ฆ่าคน ถ้ามาหาหมอเร็ว และหมอวินิจฉัยถูก เพราะไข้เลือดออกจะมีช่วงพิเศษพักหนึ่งที่เป็นจุดอันตราย หน้าที่ของนักวิจัยไข้เลือดออกจึงเป็นการพยายามทำความเข้าใจช่วงวิกฤตนั้นว่าจะมีสารหรือโปรตีนอะไรที่ปรากฏออกมา ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ทำให้เรารู้ว่าโรคนั้นจะรุนแรงระดับไหน ซึ่งตอนนี้เราพบโปรตีนตัวหนึ่งชื่อเอ็นเอสวันที่มันมีความพิเศษและน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดี ซึ่งเราก็จะศึกษาต่อไปว่ามันมีกลไกอย่างไร รวมถึงศึกษาสารหรือโปรตีนตัวใหม่ๆ ด้วยแล้วรวบรวมออกมาให้รู้ชัดเพื่อจัดทำทำเนียบตัวบ่งชี้ต้นแบบ หรือ โปรโตไทป์ (Prototype) ที่อาจต่อยอดไปสู่การผลิตเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าระวังหรือรักษาโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพได้ในอนาคต”
สำหรับการนำโปรโตไทป์ไปต่อยอดเพื่อใช้งาน นพ.ปรีดา เผยว่า ยังตอบเป็นผลิตภัณฑ์ที่แน่นอนไม่ได้ แต่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาออกมาในรูปแบบของ “ชุดตรวจทดสอบระดับความรุนแรงโรคไข้เลือดออก” หรือรูปแบบอื่นๆ แล้วแต่การออกแบบของบริษัทหรือหน่วยงานที่มาซื้อสิทธิบัตรเพื่อรับช่วงต่องานวิจัย เพราะงานหลักของทีมวิจัย คือการทำวิจัยขั้นพื้นฐานเพื่อสะสมฐานข้อมูลความรู้จากเดิมที่ดำเนินมากว่า 20 ปี มาประยุกต์ใช้ซึ่งเขาหวังว่าภายใน 5 ปีต่อจากนี้จะสามารถสร้างองค์ความรู้ที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาเป็นชุดตรวจไข้เลือดออกได้ เพราะทีมวิจัยมีคลังตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไข้เลือดออก มีคลังโมโนโคลนอลแอนติบอดีต่อไวรัสเด็งกี่ที่เพียงพอ และมีบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่คอยสนับสนุนการทำงาน
“ถ้าทำสำเร็จจะเป็นผลดีต่อวงการสาธารณสุขไทยและโลกเป็นอย่างมาก เพราะงานวิจัยลักษณะนี้ยังไม่มีใครทำ เพราะฝรั่งเขาก็ไม่มีโรคนี้ และมันจะช่วยชีวิตคนได้อีกมากเพราะไข้เลือดออกยิ่งรู้เร็วยิ่งรักษาง่ายและที่สำคัญคือเรายังไม่มียาหรือวัคซีนรักษาโดยตรง แต่ถ้าถามว่าตอนนี้งานเดินไปกี่เปอร์เซ็นแล้วก็ตอบยากเหมือนกัน แต่งานหลายๆ ส่วนก็ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการนานาชาติเรียบร้อยแล้วนะ เอาเป็นว่าเรากำลังพยายามทำงานแบบเชื่อมต่อจุดเอาองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนในโครงการมาเชื่อมต่อกันและพยายามทำงานแบบใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมเพื่อให้โปรโตไทป์เข้าถึงข้างเตียงคนไข้ได้เร็วที่สุด เพราะปัญหาของงานวิจัยไทยที่ผมมองเห็นมานานคือการทำแล้ววางไว้บนหิ้งไม่ผลักออกสู่อุตสาหกรรม และการไม่มีหน่วยงานให้ทุนสนับสนุน” นพ.ปรีดา เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยแบบบูรณาการเพื่อค้นหาชุดของสารบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการตรวจวินิจฉัยการพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับเลือกให้เป็นนักวิจัยทุนแกนนำ ประจำปี 2558 ได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยเป็นจำนวน 20 ล้านบาทจาก สวทช. เพื่อดำเนินการด้วยระยะเวลาทุน 5 ปี