xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไข้เลือดออก-ตัวตรวจจับแสงอินฟราเรดคว้าทุนวิจัยแกนนำ 40 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ และ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว 2 นักวิจัยแกนนำประจำปี 2558
2 นักวิจัยจุฬา-มหิดล รับทุนวิจัย 40 ล้านจาก สวทช. เดินหน้าวิจัยต่อยอดองค์ความรู้โรคไข้เลืดดออกที่เกิดจากไวรัสเด็งกี่เพื่อค้นหาสารบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ที่ใช้สำหรับการระบุความรุนแรง และการพัฒนาโครงสร้างสารกึ่งตัวนำเพื่อพัฒนาตัวตรวจจับแสงอินฟาเรดในย่านความถี่ที่ตามองไม่เห็น

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานประกาศผลผู้ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2558 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2558 โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.เป็นประธานในพิธี

สำหรับนักวิจัยที่ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำประจำปี 2558 มี 2 คน ได้แก่ น.พ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จากโครงการวิจัย เรื่อง “การวิจัยแบบบูรณาการเพื่อค้นหาชุดของสารบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ” และ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโครงการวิจัยเรื่อง “ควอนตัมนาโนกลุ่มแอนติโมนีสำหรับการพัฒนาการตรวจจับแสงอินฟราเรด”

น.พ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ กล่าวว่า งานวิจัยที่ทำเป็นความร่วมมือกับทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. รวมถึงภาคเอกชน เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกลไกและปัจจัยที่ส่งผลกับการเกิดโรคไข้เลือดออก ที่เกิดจากโปรตีนของไวรัสชื่อเอ็นเอสวัน (NS1) ซึ่งเชื่อว่ามีบทบาทในการเกิดความรุนแรงของโรค เพื่อนำไปสู่การพัฒาเทคโนโลยีที่ช่วยวินิจฉัยและบ่งชี้ความรุนแรงของโรค เพื่อค้นหาชุดของสารบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขณะนี้ยังไม่พบว่ามีชุดตรวจวินิจฉัยใดที่สามารถทำนายความรุนแรงของโรคได้

ด้าน ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว กล่าวว่า โครงการที่ทำเป็นงานบุกเบิกวิทยาการใหม่ๆ ในด้านวิศวกรรมนาโนด้วยเครื่อง Molecular Beam Epitaxy (MBE) ที่สามารถเตรียมโครงสร้างควอนตัมนาโนในระดับชั้นอะตอมได้ โครงสร้างควอนตัมนาโนของสารประกอบกึ่งตัวนำในกลุ่มแอนติโมไนด์มีคุณสมบัติพิเศษในการตอบสนองต่อแสงอินฟราเรดในย่านที่ตาปกติมองไม่เห็น จึงใช้ประโยชน์ได้ในด้านการทหารมองเห็นศัตรูในที่มืด ด้านความมั่นคง-ป้องกันการลักลอบเข้าเมือง, ค้ายาเสพติด, ก่อการร้าย, ด้านการแพทย์-ใช้สแกนคนมีไข้สูงที่สนามบินในช่วงวิกฤตโรคติดต่อรุนแรง อีกทั้งยังทำงานได้รวดเร็ว กินไฟฟ้าต่ำ ใช้เป็นหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงได้อีกด้วย

ในส่วนของ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการว่า จัดขึ้นพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยที่มีคุณภาพ มีการสร้างสรรค์งานแบบมีอิสระทางวิชาการ จนสามารถเป็นแกนนำให้กับวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การยื่นจดสิทธิบัตร, การผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และต้นแบบในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพต่อการแก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคสังคม อีกทั้งเพื่อเป็นแกนหลักในการผลิตบุคลากรวิจัยสู่วงการวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยทุนนี้จะมีระยะเวลาทุน 5 ปี จำนวนทุนละ 20 ล้านบาท

“ที่ผ่านมาสวทช. ได้สนับสนุนทุนนักวิจัยแกนนำตั้งแต่ปี 2552 ไปแล้วทั้งสิ้น 11 โครงการ โดยแต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพในระดับสูงได้ ทั้งผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 22 ต้นแบบ, ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 459 เรื่อง, สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร 23 เรื่อง การผลิตบุคลากรในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก รวม 276 คน อีกทั้งยังมีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะแล้วด้วย” ผอ.สวทช. กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
นพ.ปรีดา รับช่อดอกไม้จาก ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
น.พ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.
งานวิจัยเรื่องไข้เลือดออกของ นพ.ปรีดา
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว และทีมวิจัย
งานวิจัยด้านวิศวกรรมนาโนที่เกี่ยวข้องกับสารกึ่งตัวนำเพื่อพัฒนาตัวตรวจจับแสงอินฟราเรด
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานในพิธี
พิธีลงนามรับทุนการวิจัยนักวิจัยแกนนำ









กำลังโหลดความคิดเห็น