xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 130 ล้านดันอุตฯ เครื่องมือแพทย์ขึ้นชั้นดาวเด่นซูเปอร์คลัสเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กสอ.ชี้อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ถือเป็นพื้นที่มีศักยภาพ ทั้งด้านฝีมือการผลิตและเป็นเมืองท่องเที่ยวรองรับลูกค้าต่างชาติ พร้อมทุ่ม 130 ล้านบาทเสริมแกร่งให้เป็นดาวเด่นในกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์เป้าหมาย

ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงที่กำลังเติบโตอย่างมาก และมีแนวโน้มเป็นอุตสาหกรรมหลักไทย และก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญรองรับการเป็น Medical Hub of Asia โดยตลาดอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2558 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 1.21 มูลค่ารวม 71.5 พันล้านบาท ตลาดการนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 11.62 และตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละร้อยละ 2.90 ส่วนใหญ่ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางและพลาสติก เป็นต้น (ที่มา : รายงานสภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทย ปี 2558, สถาบันพลาสติก)

ดร.สมชายกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่า 400 โรงงาน แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ กลุ่มวัสดุใช้สิ้นเปลือง กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มน้ำยาเคมีและชุดตรวจวินิจฉัย และกลุ่มบริการและซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ในจำนวนของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าว จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เนื่องจากมีสถานบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานกว่า 50 แห่ง ประกอบกับมีโอกาสทางการตลาดจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการให้บริการด้านทันตกรรม ศัลยกรรม และบริการทางด้านสุขภาพอื่นๆ (ที่มา : แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2558-2561)

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีศักยภาพและพัฒนาการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว กสอ.ยังมีแผนที่จะผลักดัน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ตามกรอบแนวทางการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ของรัฐบาล คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าแปรรูปทางการเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอ และกลุ่มอุตสาหกรรมเมดิคัลฮับ ด้วยงบประมาณในการพัฒนาคลัสเตอร์รวมกว่า 130 ล้านบาท

นอกจากนี้ กสอ.ยังมีการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เข้มแข็งและเป็นรากฐานในการรองรับการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น