กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือ สวทช.เสริมแกร่ง SMEs ด้วยนวัตกรรม เปิดกว้างผู้ประกอบการเข้ารับการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์รายละไม่เกิน 70,000 บาท เน้น 5 อุตสาหกรรมดาวเด่น รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายสนองรัฐฯ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มภาพรวมอุตสาหกรรมไทยโต 15% เล็งร่วมแบงก์พาณิชย์ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบเข้าร่วมโครงการ
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า ปัจจุบันกาารพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเน้นไปที่การเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อยกระดับการแข่งขันกับต่างประเทศ ดังนั้นทั้งสองหน่วยงานจึงมีเป้าหมายที่จะใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมไทย โดยเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย นำมาเพิ่มมูลค่าในเชิงนวัตกรรม
ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 2559 จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ไม่น้อยกว่า 50 ราย หรือ 50 โครงการ โดยทางกรมฯ จะมีงบประมาณให้รายละไม่เกิน 70,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือเองอีก 50%
“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยยังมีปัญหาในเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทุนในการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น ในฐานะหน่วยงานของภาครัฐฯ ต้องเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงนวัตกรรมใหม่มากขึ้น โดยความร่วมมือกับ สวทช.ในครั้งนี้เป็นความร่วมมืออย่างเป็นทางการมีลงนาม MOU จากเดิมก็มีการร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการไปแล้วบางส่วน และในอนาคตจะร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ” รมต.อุตสาหกรรมกล่าว
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นวัตกรรมในภาคธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่ง สวทช.เป็นหน่วยงานที่มีความเข้มแข็งทางด้านงานวิจัยและพัฒนามีระบบการถ่ายทอดและบริหารจัดการเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความพร้อมด้านบุคลากรในการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และช่วยเหลือให้ภาคอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้เพิ่มผลิตภาพ คุณภาพพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นข้อต่อที่สำคัญทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีไปสู่ภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมนำร่อง 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และไบโอพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ เน้นความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาให้มาตรฐานและมีกระบวนการในการทดสอบ ส่งเสริมการออกแบบ โดยนำเอางานวิจัยและเทคโนโลยีในด้านการผลิตต่างๆ เข้ามาใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในภาพรวมให้แก่อุตสาหกรรมไทยได้ไม่น้อยว่า 15%
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *