xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.ชูยุทธศาสตร์ปี 59 ติดปีก SMEs สู่โลกยุคดิจิทัลเต็มพิกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.สมชาย  หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กสอ.เผยยุทธศาสตร์หลักในปี 59 เร่งติดปีกผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่โลกดิจิตอลเต็มรูปแบบ ตามเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ แจงเสริมการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย จับคู่ธุรกิจผ่านอี-มาร์เกต และส่งเสริมการบริหารธุรกิจไอที

ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า จากปัจจุบันที่พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางออนไลน์อย่างกว้างขวาง ในปีงบประมาณ 2559 กสอ.ได้จัดทำกิจกรรมการส่งเสริม SMEs เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ด้วยโซเชียล มีเดีย(Social Media) ภายใต้แผนปฏิบัติการ “Digital SMEs ปี 2559 ใน “โครงการพัฒนาศักยภาพ SMEs ด้วยระบบดิจิตอล” เพื่อสร้างเรียนรู้การปรับใช้โซเชียลมีเดียในธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยตั้งเป้าให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ไม่น้อยกว่า 100 ราย

นอกจากนี้ กสอ.ยังมีกิจกรรมการส่งเสริม SMEs ให้ทำธุรกิจในรูปแบบธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business : B2B) ผ่านเว็บไซต์ Alibaba.com เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้และการให้คำปรึกษาแนะนำความรู้ด้านธุรกิจการส่งออก การขนส่งสินค้าและภาษี เพิ่มช่องทางในการขายสินค้าออกไปในต่างประเทศโดยผ่านช่องทางอี-มาร์เกตเพลส (E-Marketplace) ของ Alibaba.com ซึ่งเป็นช่องทางการค้าส่งออนไลน์อันดับ 1 ของโลกที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดจากการเชื่อมต่อผู้ซื้อกับผู้ขายและผู้ผลิตทั่วโลก ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 50 กิจการ

อีกทั้งได้จัดกิจกรรมการส่งเสริม SMEs ใช้ระบบ ERP by DIPและพัฒนาศักยภาพด้วยระบบรายงานผู้บริหาร (BI) กิจกรรมส่งเสริม SMEs ใช้ระบบ ERP ขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ กิจกรรมส่งเสริม SMEs ภาคการผลิต ใช้ระบบไอทีช่วยบริหารซัพพลายเซน เพื่อเพิ่มผลิตภาพ กิจกรรมส่งเสริม SMEs ในส่วนภูมิภาคได้รับการพัฒนาใช้ระบบซอฟต์แวร์ช่วยบริการธุรกิจ กิจกรรมการยกระดับวิสาหกิจสู่การเป็น SMEs แห่งอนาคต (SMEs New Era) เป็นต้น โดยตั้งเป้าให้ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 440 กิจการ หรือ 400 คน

ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณปี 2558 ที่ผ่านมา กสอ.สามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEsหันมาใช้ระบบไอทีเป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และการลดต้นทุน ได้กว่า 420 หรือ 840 คน และจำนวนเงินที่ SMEs สามารถประหยัดได้จากการไม่ต้องลงทุนระบบไอทีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลิตภาพในกิจการกว่า 5.85 ล้านบาท อีกทั้งจำนวนเงินที่ SMEs ได้จากการเพิ่มผลิตภาพไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนในการบริหารงานในกิจการและการมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.19 ร้อยล้านบาท

สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยในปัจจุบัน มีการใช้สมาร์ทโฟน เฉลี่ย 5.7 ชั่วโมง/วัน ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเฉลี่ย 5.4 ชั่วโมง/วัน ใช้คอมพิวเตอร์พกพาเฉลี่ย 5 ชั่วโมง/วัน ใช้แท็บเล็ตเฉลี่ย 3.8 ชั่วโมง/วัน ใช้สมาร์ททีวีเฉลี่ย 3ชั่วโมง/วัน

จากผลสำรวจข้างต้นจะเห็นว่าผู้ใช้งานใช้เวลาไปกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ต่ำกว่า 3-5 ชั่วโมง/วัน ทั้งนี้จากผลสำรวจช่วงอายุที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ คนเจนวาย (GEN Y : ช่วงอายุ15-34 ปี)ประมาณ 54.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ รองลงมาเป็นคนเจนเอ็กซ์ (GENX : ช่วงอายุ 35-50 ปี)ใช้งานอินเทอร์เน็ต 47.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ (ที่มาข้อมูล:รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2558 จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่มีกำลังและอำนาจในการตัดสินใจซื้อพอสมควร

นอกจากนั้น ผู้บริโภคมักค้นหาข้อมูลก่อนจะซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต หรือร้านค้าประเภทอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ผ่านอินเทอร์เน็ตก่อนเสมอ และหลังจากนั้นหากสินค้าใช้ดี มีคุณภาพ ก็จะเกิดการบอกต่อ ผ่านการเขียนวิจารณ์ (Review) โดยการโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย นำไปสู่การซื้อตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันมีการใช้คนดังบนโซเชียลมีเดียช่วยในการรีวิวสินค้าก็ยิ่งทำให้เกิดการคล้อยตามได้ง่ายในกลุ่มผู้ติดตามและชื่นชอบบุคคลนั้นๆ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ 360 องศา” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น