xs
xsm
sm
md
lg

อยากเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ “เก่ง-รวย” ไปที่ “กสอ.” ช่วยได้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ครอบคลุมรอบด้าน วางเป้าหมายตั้งแต่เฟ้นหาผู้ประกอบการหน้าใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย จนกระทั่งเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ ต่อยอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนธุรกิจที่กำลังเจ๊งก็ช่วยฟื้นธุรกิจให้กลับมาแข็งแกร่ง พร้อมจับมือ ททท. สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงแหล่งท่องที่ยวเพื่อสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้โด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลก นำร่อง 3 ผลิตภัณฑ์ ‘ผ้าฝ้ายเชียงใหม่-บาติกภูเก็ต-ผ้าไหมปักธงชัย’

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศยกระดับเอสเอ็มอี ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมทยอยออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือ โดยเฉพาะปัจจุบัน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้ระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ (เอสเอ็มอีแบงก์) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมไปถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น เข้ามาร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเดินหน้าไปได้

ทั้งในเรื่องของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาผู้ประกอบการ การจัดหาตลาดให้ทั้งภายในและการส่งออกไปยังต่างประเทศ หรือธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ขาดแหล่งเงินทุน ให้กลับเข้ามาสู่ตลาดได้อีกครั้งหนึ่ง รวมไปถึงการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ (New Entrepreneurs)

ที่สำคัญการจะผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้ามาเป็นกำลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้นั้น จะต้องมีการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการให้แข็งแกร่งด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งแต่การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ การยกระดับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เข้าไปสู่ขนาดกลาง และพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับใหญ่ รวมถึงการสร้างทายาทธุรกิจ จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งมีหลากหลายธุรกิจที่กำลังเติบโตและช่วงชิงตลาดโลกในขณะนี้
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่รับบทบาทในการสร้างและส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บอกกับทีม special scoop ว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ กสอ. รับช่วงต่อโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีจาก สสว. ซึ่งล่าสุดตามหลักกการที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลนโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอี ภายใต้งบประมาณ 630 ล้านบาท จะมีการจัดสรรแบ่งงานกันตามบทบาทหลักของแต่ละหน่วยงาน ทั้ง สสว. สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย สมาคมเอสเอ็มอีไทย และ กสอ. ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้

ฟื้นธุรกิจจากปัญหายอดตก-ขาดแหล่งทุน

โดยเฉพาะการเปิดโครงการใหม่ๆ ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีกว่า 2 หมื่นราย ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ กสอ.แบ่งเป็นหลายกลุ่ม นับตั้งแต่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีประสิทธิภาพที่ประสบปัญหาช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเรียกว่ากลุ่ม Turn Around ซึ่งมีประมาณ 10,000 คนนั้น กสอ.จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งกลุ่มที่มีปัญหาด้านยอดขายตก หรือในบางรายนั้นต้องการเพิ่มทุน โดยได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีโครงการทางด้านการตลาดไว้รองรับกลุ่มเอสเอ็มอี

รวมถึงการประสานกับกระทรวงการคลังและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนให้ผู้ประกอบการได้รับสินเชื่ออีกด้วย นอกจากนี้ กสอ.ยังวางแนวทางจะตั้งคอร์สอบรมเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่ง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนธุรกิจให้คำปรึกษาด้านปรับแผนธุรกิจ การเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจให้ดำเนินไปข้างหน้า โดยใช้เวลาการอบรมประมาณ 10 วัน

ปั้นเด็กจบใหม่ - หนุนธุรกิจที่กำลังเติบโต

นอกจากนี้ กสอ.ยังมีโครงการภายใต้งบประมาณประจำปี 1,500 ล้านบาท ที่จะช่วยผู้ประกอบการ เริ่มตั้งแต่การอบรมในโครงการปลูกต้นกล้า ที่เจาะเข้าไปในในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ศึกษาระดับปี 4 ปี 5 ที่อยากหาประสบการณ์ ได้เข้าใจและมีจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ยังมีโครงการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (New Entrepreneurs Creation : NEC) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการจากผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ดี เน้นเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจ การหาทุน การวิเคราะห์ตลาด

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีโครงการที่เตรียมไว้สำหรับกลุ่ม Start -up ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีที่ตั้งตัวได้แล้ว โดยจะเข้าไปสนับสนุนเรื่องการต่อยอด ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องด้านการผลิต (Production) การบริหารจัดการด้วยระบบไอทีเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ในส่วนผู้ประกอบการกลุ่ม Growth ที่สถานะธุรกิจเริ่มอยู่ตัวหรืออิ่มตัวแล้ว ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มแฟชั่น ซึ่งธุรกิจดีอยู่แล้วแต่ต้องการจะขยาย ยกระดับขึ้นมาอีกนั้น กสอ.ก็มีแนวทางเข้าไปสนับสนุนด้านการสร้างแบรนด์ใหม่ เพื่อขยายตลาดโกอินเตอร์ หรือการปัดฝุ่นปรับปรุงธุรกิจ อาทิ การขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ การเพิ่มดีไซน์ใหม่เข้าไปในผลิตภัณฑ์

สำหรับการคิดโครงการอบรมนั้น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ใน 4 ภาคทั่วประเทศไทยของ กสอ. จะเป็นผู้ออกแบบโครงการที่จะรองรับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดนั้น ซึ่งจะมีทั้งการบริหารจัดการด้านการเงิน หรือกลุ่มธุรกิจที่เป็นสาขาแฟชั่น สอนการออกแบบให้ Young Designer การออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) แบบที่เน้นการใช้งาน หรือมีความสวยงามมีดีไซน์ อีกตัวอย่างในกลุ่มนี้ คือ เครือข่ายกลุ่มธุรกิจ เป็นการรวมกลุ่มของธุรกิจในย่านสยามสแควร์ เพื่อยกระดับภาพลักษณ์เสิ้อผ้าโดยการเพิ่มดีไซน์ที่มีลักษณะเฉพาะผสมผสานระหว่างแฟชั่นยุคเก่าและใหม่

ทั้งนี้ในผู้ประกอบการกลุ่ม Growth ยังแยกออกเป็นกลุ่มย่อย ที่เรียกว่า New Business Creation-NBC ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ดี แต่เป็นการส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น ในรุ่นที่เป็นทายาทธุรกิจก้าวเข้าสู่ยุคนี้จึงต้องมีการปรับปรุงธุรกิจโดยใช้วิธีผสมผสานระหว่างจุดแข็งเดิมและการเพิ่มนวัตกรรมให้ธุรกิจทันยุคทันสมัยมากขึ้น

สร้างนักรบใหม่ตามยุทธศาสตร์การพัฒนา

ดร.สมชาย กล่าวถึงการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลนี้ กสอ.จะมีบทบาทและหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง เช่น การประสานงานให้ผู้ประกอบการ เชื่อมโยงธุรกิจกับนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ เรียกว่า New warrior หรือ นักรบใหม่ ที่มีการแยกเป็น 6 สาขา ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น ด้านเทคโนโลยี (Techno planners) แฟชั่น การสร้างอินโนเวชันด้านอาหาร หรือกลุ่มที่มีแนวโน้มดีและกำลังมาแรง คือ ธุรกิจด้านไบโอพลาสติก ที่จะเน้นการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอย่าง สถาบันพลาสติก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แพทย์ผู้ใช้และซื้อสินค้าตัวนี้

เพราะการดำเนินธุรกิจนี้ตั้งแต่ต้นน้ำมีการลงทุนสูงมาก และผู้ประกอบการในประเทศยังมีไม่มากนัก ซึ่งผลผลิตจากการนำไบโอพลาสติกของไทย ที่นำมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างสายยางนั้นทำให้ต้นทุนลดลงมาจากหลักพันเหลือเพียงหลักร้อยบาท

ทั้งนี้จากความได้เปรียบของประเทศไทย คือ เป็นฐานการผลิตสำหรับส่งออกประเทศอาเซียน ถือว่าเป็นจุดแข็งที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีเฉพาะตัว (only one technology) สนใจจับมือกับประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทเป็นตัวกลางในการติดต่อกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยมีการดึงนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความสามารถหรือมีจุดเด่นด้านเทคโนโลยีให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักลงทุนไทยกับนักลงทุนญี่ปุ่น ล่าสุดนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวน 250 คน ได้เดินทางเข้าพบกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา

จับมือ ททท. - ท้องถิ่น สร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์

ดร.สมชาย กล่าวถึงแนวทางที่ กสอ.จะเข้าไปสนับสนุนยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้โด่งดังเป็นที่รู้จักว่า จุดเริ่มต้น คือ ต้องสร้างคอนเซ็ปต์ใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างมุมมองของคนใน และมุมมองจากคนนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะแม้ว่าคนพื้นที่มีความภูมิใจและผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้แต่ไปไม่ได้ไกล

ดังนั้นโจทย์คือ การสร้างเครือข่ายชาวบ้านเข้มแข็ง โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเข้าไปผสมผสาน โดยมองหาจุดขาย พร้อมทั้งยกระดับเพื่อโกอินเตอร์ เริ่มจากคนในชุมชนท้องถิ่นร่วมกันสร้างเครือข่าย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์เพื่อสอดคล้องกับธุรกิจอื่นๆ ไม่เช่นนั้นขายแบบเดิมๆ ก็จะขายไม่ได้
(แฟ้มภาพ) ผ้าฝ้ายจังหวัดเชียงใหม่
โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คือ โครงการผ้าไทย 2 กลุ่ม คือ ผ้าฝ้ายจังหวัดเชียงใหม่ และผ้าบาติกของจังหวัดภูเก็ต ตั้งแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ผ้าไทยขายได้ด้วยตัวเอง และขยายไปถึงระดับส่งออกต่างประเทศ ต้องมีการดำเนินการภายใต้ 3 แนวทาง

แนวทางแรกคือ การสร้าง Awareness ต้องพยายามสร้างมุมมองใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น ถ้าคนนีกถึงผ้าฝ้าย ก็ต้องนึกถึงเชียงใหม่ ซึ่งการสร้างภาพลักษณ์ผ้าฝ้ายแบบคนรุ่นใหม่ ให้กับผ้าฝ้ายที่จังหวัดเชียงใหม่ ต้องพยายามหาจุดเด่นของผ้าฝ้ายที่มีความแตกต่างจากแนวคิดเดิม โดยให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เป็นนางแบบอินเตอร์ และช่างภาพมืออาชีพ บล็อกเกอร์เขียนบทความให้เข้าไปเที่ยวที่เชียงใหม่แล้วให้แสดงความคิดเห็นว่ามองเห็นอะไรที่แตกต่างจากคนทั่วไป ซึ่งในมุมมองของเชียงใหม่ ที่คนทั้ง 3 กลุ่มนี้แสดงออกมานั้นต่างจากภาพลักษณ์เดิมอย่างสิ้นเชิง จนทำให้งานที่ออกมานั้นทำให้คนเชียงใหม่รู้สึกตื่นเต้น ขณะที่คนต่างชาติมองว่าอันซีนไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน
(แฟ้มภาพ) ผ้าบาติกจังหวัดภูเก็ต
แนวทางที่สองคือ การสร้างเครือข่ายกลุ่มในชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง เช่นที่ผ่านมาได้มีการสร้างเครือข่ายสำเพ็งชุดมุสลิม ซึ่งเป็นเครือข่ายของมีนบุรี หรือย่านสำเพ็งจะนึกถึงค้าส่ง หรือตลาดค้าส่งย่านโบ๊เบ๊ หรือการหยิบจุดเด่นด้านแฟชั่นเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับเสื้อผ้าย่านประตูน้ำ

ดังนั้นต้องช่วยกันสร้างอัตลักษณ์ผ้าฝ้ายเชียงใหม่ที่มีจุดเด่นต่างจากผ้าฝ้ายจากพื้นที่อื่น และที่สำคัญสามารถตอบโจทย์นำมาสวมใส่ใช้กับชีวิตประจำวันได้ อย่าง กลุ่มแฟชั่นผ้าไหมด้วยผ้าลายปักธงชัย ที่เป็นการเพิ่มโอกาสการสวมใส่ผ้าไหม ที่เดิมใส่เฉพาะเทศกาลแล้ว ยังมีการดีไซน์เป็นชุดสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
(แฟ้มภาพ) ผ้าไหมปักธงชัย
แนวทางที่สามคือ การขยายตลาดใหม่ ด้วยการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น “ผ้าไหมปักธงชัย” ที่ กสอ.หารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจบริเวณนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าอุปสรรคและปัญหานั้นอยู่ที่ระยะทาง นักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวบริเวณใกล้เคียงแต่จะไม่ได้เข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าทั้งที่ผ้าไหมปักธงชัย มีคุณภาพและชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่ง กสอ.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ โดยจะเชื่อมโยงเส้นทางมาที่แหล่งผ้าไหมปักธงชัยกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์ วังน้ำเขียว รวมถึงการจัดงานตามประเพณีท้องถิ่นที่องค์กรท้องถิ่นจัดขึ้นด้วย

อีกตัวอย่างความสำเร็จ กลุ่มเครื่องเงินของจังหวัดเชียงใหม่ ที่คนท้องถิ่นร่วมกันให้มีถนนคนเดิน ที่เมื่อนึกถึงเครื่องเงินต้องนึกถึงถนนวัวลาย ถือว่าประสบความสำเร็จมาก สร้างความน่าสนใจให้ที่นี่้กลายเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต้องแวะ นี่คือการสร้างเครือข่ายผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่ต้องเชื่อมโยงหล่านี้ เป็นเรื่องที่ กสอ.ต้องร่วมดำเนินการกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย

โดยเฉพาะการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น จะประสบความสำเร็จได้การท่องเที่ยวก็ต้องดีด้วย หากการท่องเที่ยวไม่ดี การจะกระตุ้นผลิตภัณฑ์ชุมชนก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน

“สินค้าวิสาหกิจชุมชน สินค้าโอทอป ในวันนี้ไม่ได้หายากเหมือนสมัยก่อน แต่กลายเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ทั่วไป นักท่องเที่ยวมักจะไม่หิ้วของจากในพื้นที่ แต่จะแวะซื้อของฝากในขากลับที่มีวางขายในสนามบินซึ่ง ททท.นับว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทมากที่สุด ในการผลักดันให้สินค้าโอทอปและเอสเอ็มอีเติบโตไปข้างหน้า”

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ย้ำว่า หากจะทำให้การท่องเที่ยวกับผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งก็คือต้องมาเที่ยวที่ตรงนี้เท่านั้นจึงจะหาซื้อผลิตภัณฑ์นี้ได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นนั้นเติบโตไปพร้อมๆ กับการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่มีการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น