กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยญี่ปุ่นมีมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนในพื้นที่ซึ่งภาครัฐจะมีการให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ให้ต่างชาติขยายการลงทุนสู่เอเชีย ล่าสุดเซ็น MOU จังหวัดมิเอะ (MIE) นำไทยสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง หวังช่วยไทยได้รับองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี แถมส่งผลให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตเข้ามาไทยและเกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้วางเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรม SMEs ของไทย ให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของเทคโนโลยีขั้นสูง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน พึ่งพาซึ่งกันและกันในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยได้ลงนามความร่วมมือกับจังหวัดมิเอะ (MIE) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นลำดับที่ 13 และหน่วยงานประเทศญี่ปุ่นลำดับที่ 16 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีการลงนามความร่วมมือด้วย ซึ่งมีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ในแง่ที่จังหวัดมิเอะนั้นมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมชั้นสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เทคโนโลยีการผลิต และวัสดุชั้นสูง อีกทั้งยังมีการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น ยานยนต์ ผลึกเหลว (Liquid Crystal) เป็นต้น
ทั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทยจะได้เรียนรู้นวัตกรรมชั้นสูงจากญี่ปุ่นเพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป โดยการลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าวดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวคิดและความร่วมมือในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เช่น การจัดโครงการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรม การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ ภายใต้แนวคิด “Otagai Business Concept” การจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการจัดประชุมทางธุรกิจร่วมกัน เป็นต้น
ดร.อรรชกากล่าวต่อว่า ความพิเศษในการร่วมมือกับจังหวัดมิเอะครั้งนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้ประกอบการไทยให้ได้รับองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการของญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยและเกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการสร้างโอกาสให้นักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของไทยได้ขยายการลงทุน เนื่องจากจังหวัดมิเอะมีมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งภาครัฐจะมีการให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การสนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ หรือสนับสนุนบริษัทต่างชาติที่จะขยายการลงทุนสู่เอเชีย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีบริษัทของจังหวัดมิเอะลงทุนในประเทศไทยถึง 20 บริษัท ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอาหารแปรรูป เกษตรกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ และเหล็กแม่พิมพ์ และแปรรูปอาหาร เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำ เช่น Okitsumo International (Asia) Co.,Ltd , Bestex (Thailand) Co.,Ltd, Yasunaga (Thailand) Co., Ltd เป็นต้น
ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดมิเอะเป็นจังหวัดที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองโอซากา และเมืองนาโกยา จึงมีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานที่เป็นฐานการผลิตและการขนส่งที่สำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น มีสัดส่วนธุรกิจในภาคการผลิตมากถึงร้อยละ 31.5 ของประเภทธุรกิจในจังหวัดมิเอะ รองลงมาก็คือภาคบริการ และอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 15.6 และ 11.2 ตามลำดับ
นอกจากนี้ จังหวัดมิเอะได้มีการจัดตั้งศูนย์ Advanced Materials Innovation Center: AMIC ซึ่งเป็นศูนย์เพื่อการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะ SMEs และพัฒนาวัสดุชั้นสูง (Advanced Materials) และเซลล์เชื้อเพลิง โดยมีความร่วมมือกับนักวิจัยจากประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส อีกทั้งจังหวัดมิเอะยังเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Greater Nagoya Initiative (GNI) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีเมืองนาโกยา (Nagoya) เป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ รวมถึงดึงดูดการลงทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคลให้เข้ามาในพื้นที่
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *