xs
xsm
sm
md
lg

สสว.คาด GDP SMEs แตะ 5% เล็งปล่อยกู้ ผปก.แบบไร้ดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมต.อุตสาหกรรมจับมือ 8 หน่วยงาน ทุ่ม 5,100 ล้านบาทช่วย SMEs 1 แสนราย คาดปี 59 จีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะโตเทียบเท่าจีดีพีประเทศ ด้าน ผอ.สสว.เชื่อจีดีพีเอสเอ็มอีปี 58 แตะ 5% สวนกระแสเศรษฐกิจ มั่นใจโตกว่าจีดีพีประเทศแน่ ล่าสุดจับมือ กสอ.สนองนโยบายรัฐฯ ช่วย SMEs ฝ่าวิกฤต ทุ่มงบฯ 630 ล้านบาทช่วย SMEs 17,000 ราย พร้อมปล่อยกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาทแบบไร้ดอกเบี้ย หวังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงนโยบายการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ว่า ได้ร่วมมือกับ 8 หน่วยงานด้าน SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้งบประมาณ 5,100 ล้านล้านบาท คาดจะช่วยเหลือได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนรายภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขจีดีพีภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่า 5 ล้านล้านบาท จากมูลค่ารวมของทั้งประเทศ 12-13 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าในปี 59 จีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะมีอัตราการเติบโตเทียบเท่าจีดีพีของประเทศ ที่คาดการณ์ไว้ที่ 3-5% โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะทำโครงการเพื่อช่วยเหลือ SMEs อย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายใน 10 เดือนข้างหน้านี้ผู้ประกอบการ SMEs จะแข็งแกร่งและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในพิธีเปิดโครงการปรับแผนธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถ SMEs (Kick Off) ภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามนโยบายรัฐบาลว่า ในช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยเติบโตมากนัก ภาค SMEs ก็ได้รับผลกระทบตามได้ด้วย แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 GDP SMEs โต 5% ซึ่งมากกว่า GDP ของประเทศ ขณะที่ไตรมาส 3 GDP ประเทศโต 2.9% เพราะฉะนั้นเชื่อว่า GDP SMEs จะโตมากกว่านี้แน่นอน ซึ่งยังไม่สามารถสรุปเป็นตัวเลขออกมาได้ ต้องรอดูในช่วงสิ้นปีอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ สสว.ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการประเภท Turn Around จำนวน 10,000 ราย ในปี 2559 เน้นภาคการค้าและบริการ รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจภาคการเกษตร โดยกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกผู้ประกอบการได้ 3 ส่วนหลัก คือ 1. ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าธนาคารของรัฐฯ มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท และมีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระหนี้ แต่ยังมีความตั้งใจในการประกอบธุรกิจ 2. ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของ สสว.ซึ่งมียอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง และปัญหาทางการผลิต และ 3. เป็นผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลขนาดเล็ก มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยมีการส่งงบการเงินให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ แต่มียอดขายลดลง 20% ในช่วง 3 ปี หรือประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ ขาดสภาพคล่อง หรือไม่มีช่องทางจำหน่าย

สำหรับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ประเภท Turn Around ในส่วนแรกทาง สสว.จะเก็บข้อมูลผู้ประกอบการที่เข้าข่าย และต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องมีการวินิจฉัยเป็นรายธุรกิจ เน้นผู้ที่มีศักยภาพที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่ง สสว.จะประสานงานให้ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิม ในกรณีที่ SMEs ได้มีการปรับโครงสร้างแล้ว จำเป็นต้องได้รับสภาพคล่องเพิ่ม จะพิจารณาให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อมของ สสว. จะจัดตั้งขึ้นวงเงิน 1,000 ล้านบาท เนื่องจาก SMEs กลุ่มนี้จะไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้แล้ว ดังนั้น ทาง สสว.จะให้กู้เพิ่มไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท โดยไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลาการผ่อนชำระ 5-7 ปีตามความจำเป็น และมอบให้เจ้าหนี้เดิมของ SMEs รายนั้นๆ ทำหน้าที่ในการเก็บชำระหนี้ต่อไป

ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงโครงการนี้ว่า ทางกรมฯ ได้รับมอบหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคการผลิตจำนวน 7,000 กิจการ เน้นแนวคิดในการพัฒนาจัดการธุรกิจให้เป็นระบบ สามารถจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูธุรกิจ พร้อมต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงนวัตกรรมได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาและแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้ตรงจุด เพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เป็นจริง

ทั้งนี้ ลักษณะการวินิจฉัยและประเมินผล จะมีการส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเฉพาะด้านเป็นรายกิจการเพื่อการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งปัญหาที่ผู้ประกอบการ SMEs ประสบอยู่ เช่น ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน ปัญหาด้านบุคลากร ซึ่ง SMEs มีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพแรงงานที่มีทักษะฝีมือความรู้และระดับฝีมือต่ำ ปัญหาด้านการตลาดเชิงลึกในเรื่องข้อมูลคู่แข่งขันและด้านข้อมูลผู้บริโภค ไปจนถึงการขาดโอกาสทางการตลาด ปัญหาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ขาดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การทำวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรม โดยเฉพาะการสร้างความต่างและสร้างตราสินค้า เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น