ก.คลังประสาน ก.อุตฯ เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อ ครม.ในสัปดาห์หน้า ระบุแนวทางอุ้มเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกันเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมุ่งให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวเป็นแผนการช่วยเหลือเฟส 2 หลังจากรัฐบาลอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือรายย่อย ด้วยการปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยไปแล้ว
“ในส่วนของการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ต้องการหาแนวทางให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบ รวมทั้งยังต้องการดึงผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบฐานภาษี โดยกระทรวงการคลังพร้อมนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจัดทำระบบบัญชีมาตรฐาน ลดการทำบัญชีหลายเล่ม ด้วยการดึงเอกชนเข้าระบบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ให้เกิดการได้เปรียบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน” รมว.คลังกล่าว
ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะสรุปเป็นแพกเกจในการช่วยดำเนินการเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ก.ย.นี้ โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเบื้องต้นจะเสนอแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ SMEs ที่ประสบปัญหาประมาณ 10,000 ราย โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.)
“ตามแผนเบื้องต้นในแพกเกจช่วยเหลือ SMEs ของรัฐบาลจะประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเงิน 2.การคลัง 3.การเพิ่มรายได้ และ 4.มาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยในส่วนของด้านการเงินกรอบใหญ่จะแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1. สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูจากสถาบันการเงิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท 2. กองทุนพลิกฟื้น SMEs ที่ประสบปัญหาทางการเงิน 1,000 ล้านบาท และ 3. กองทุนสตาร์ทอัพนักรบใหม่ วงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการพัฒนา SMEs ใหม่ๆ” นางอรรชกากล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงอุตฯ เสนอช่วยเหลือ SMEs 10,000 ราย โดยให้ สสว.คัดเลือกและแยกกลุ่ม SMEs ดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. SMEs ที่ประสบปัญหาทางการเงินค่อนข้างมากหรือค่อนข้างวิกฤต 10% ก็จะต้องช่วยเหลือระยะด่วนในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านการเงินซึ่งจะมีการดึงเงินมาจาก สสว.ที่เดิมได้รับงบประมาณมาดำเนินกองทุนตั้งตัวได้ 1,000 ล้านบาท โดยจะขอ ครม.อนุมัติโยกงบมาตั้งเป็นกองทุนพลิกฟื้น SMEs ที่ประสบปัญหาการเงิน 2. SMEs ที่มีปัญหาไม่มาก 40% ก็จะต้องเยียวยา และ 3. SMEs 50% มีปัญหาไม่มากแต่ต้องการพัฒนา
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *