หัวหน้าพรรคคนไทยหนุน สปช.โหวตคว่ำ รธน.เพื่อชาติ ระบุปล่อยผ่านไปสร้างความขัดแย้งหนัก ขณะเดียวกัน ติงรัฐบาลก้าวไม่พ้นประชานิยม หลังปล่อยแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้าน เชื่อแก้วิกฤตไม่ได้ แนะคุมเข้มปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน ห่วงละลายแม่น้ำซ้ำรอยอดีต ส่วนการเทเงินพันล้านตั้งกองทุนพลิกฟื้น SMEs กลายเป็นยกหนี้ให้ผู้ประกอบการ สร้างวินัยการเงินผิดๆ ให้คนไทย
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.)นี้ว่า เชื่อว่าสมาชิก สปช.ได้มีเวลาในการทำความเข้าใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอจนน่าจะเห็นแล้วว่าร่างนี้มีจุดตำหนิและข้อบกพร่องมากเพียงใด รวมทั้งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเแนวทางไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง สะท้อนให้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความขัดแย้งแตกแยกอย่างมากในสังคม ดังนั้น ด่านแรกคือ สปช.ควรที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดีกว่าปล่อยให้ล่วงเลยไปถึงการทำประชามติ เมื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการยกร่างใหม่ขึ้น แม้จะมีผลทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ ครม.ได้บริหารปกครองประเทศนานขึ้นก็ดีกว่าจุดชนวนความขัดแย้งแตกแยกรอบใหม่ขึ้นมาอีก
“ขอเรียกร้องให้สมาชิก สปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม มิเช่นนั้นก็จะเท่ากับปล่อยผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมออกไป เมื่อถึงขั้นตอนประชามติ ก็จะเท่ากับว่า สปช.และ คสช.ร่วมกันจับประชาชนเป็นตัวประกันในการออกเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
นายอุเทนยังได้กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นวงเงิน 1.3 แสนล้านบาทว่า วันนี้เป็นที่แน่ชัดอย่างยิ่งว่า คสช.และรัฐบาลจะอยู่บริหารประเทศต่อไปอีกนานพอควร ด้วยรัฐธรรมนูญคงไม่สามารถนำมาใช้ได้ในเร็ววันนี้ ด้วยเหตุนี้จึงอยากบอกกล่าวย้ำเตือน ในซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตนได้เน้นย้ำมาโดยตลอด คือ อยากให้ผู้บริหารปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการแก้ไขปัญหา เพราะหลายมาตรการที่ผ่านมาถูกพิสูจน์แล้วว่า สูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากแต่กลับไม่ได้ผลตามต้องการ กับมาตรการใหม่นี้ก็เช่นกันที่ตนไม่มั่นใจว่าจะส่งผลดีหรือสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ เพราะถือเป็นมาตรการในลักษณะประชานิยมซึ่งรัฐบาลนี้ก็เคยดำเนินการมาแล้วโดยทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดเดิม ซึ่งผลที่สุดแล้วก็ไม่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ได้จนเป็นเหตุสำคัญให้มีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ แต่เมื่อคนใหม่เข้ามาก็ยังยึดแนวทางเดิม จึงไม่เห็นทิศทางว่าจะแตกต่างหรือดีกว่าคนเก่าอย่างไร เพราะยังคงนำเงินในอนาคตมาใช้และเป็นเงินของรัฐ จุดนี้เป็นผลมาจากการเลือกใช้แต่คนหน้าเดิมๆ ซึ่งยังมีหลักคิดเดิมๆที่ไม่เข้าใจ และคิดไม่ได้ว่าต้องแก้ไขปัญหาให้ประเทศอย่างไร รวมทั้งขาดความเข้าใจว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม จึงควรมุ่งไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตรมากกว่าที่จะนำงบประมาณซึ่งมาจากภาษีของคนทั้งประเทศไปให้แก่คนเพียงกลุ่มเดียว แต่กลับอ้างว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายอุเทนวิจารณ์ว่า การที่รัฐบาลนี้จะนำงบประมาณถึง 6 หมื่นล้านบาทไปปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน โดยไร้ดอกเบี้ย 2 ปีนั้น แง่หนึ่งยอมรับว่าเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน แต่ก็ยังมีความเป็นห่วงว่า หากบริหารจัดการได้ไม่ดี ก็สุ่มเสี่ยงที่จะล้มเหลวเหมือนกับกองทุนหมู่บ้านในรัฐบาลที่ผ่านๆมา ที่มีการเล่นพวกให้กู้ยืมแต่เฉพาะกลุ่มผู้ใกล้ชิดและมีการเบี้ยวไม่ชำระหนี้ เพราะแม้รัฐบาลนี้จะบอกว่า ได้มีการเข้าไปปรับปรุงฟื้นฟูใหม่แล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่สามรถยืนยันว่า กองทุนหมู่บ้านแต่ละแห่งมีมาตรการในการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพแล้วจริงหรือไม่ จึงขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้งบประมาณที่สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์เพียงเพื่อต้องการภาพลักษณ์ เหมือนที่ตนเคยคัดค้าน และไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมมาโดยตลอดในอดีต
“อยากวิงวอนให้ คสช.พิจารณาทบทวนมาตรการหรือนโยบายที่เป็นประชานิยมซึ่งออกโดยรัฐบาล เพราะผมเชื่อว่าไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืน แต่หากไม่ทบทวน ก็ขอให้กำกับดูแลการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนให้คุ้มค่าที่สุด เพราะไม่อยากให้ซ้ำรอยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านๆมา ซึ่งใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ผล”
นายอุเทนกล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้น คือ การที่กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) งบประมาณ 1 แสนล้านบาทให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติ โดยจะมีกองทุนพลิกฟื้น SMEs เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการนั้น ตนเห็นว่าแม้ SMEs จะเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่การจะใช้งบประมาณถึง 1 พันล้านบาทไปตั้งกองทุนดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ SMEs นั้นไม่น่าจะถูกต้อง เกรงว่าจะเป็นไปในลักษณะการยกหนี้สินให้มากกว่าการพักชำระหนี้ ซึ่งส่งผลเสียหายทั้งในแง่งบประมาณ และวินัยการเงินของ SMEs เอง เช่นเดียวกับแนวคิดนิรโทษกรรมความผิดเกี่ยวกับภาษีที่มีการพูดกันอยู่ ถือเป็นการปลูกฝังแนวคิดผิดๆ และสนับสนุนให้คนหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ ที่สำคัญทำให้ประเทศต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลด้วย
“รัฐบาลไม่ควรส่งเสริมให้คนกระทำผิดด้วยการหนีภาษีหรือเบี้ยวหนี้ และต้องยึดหลักความเป็นจริงที่ว่า จะเป็นใครก็ตามเมื่อเป็นหนี้ต้องชดใช้ คนทำผิดต้องถูกลงโทษ ต้องติดคุก SMEs มีปัญหาเรื่องหนี้สินก็ควรแค่พักชำระหนี้ และชี้ช่องทางที่เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป ดีกว่าการยกหนี้ให้กองทุนการพลิกฟื้น SMEs จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน”