xs
xsm
sm
md
lg

สสว.จัดหนัก! ผุด “กองทุนคืนชีพ SMEs” ให้ยืมฟรีไร้ดอก นาน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดแถลงข่าวแนวทางปฏิบัติของ สสว. เพื่อรองรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs เร่งด่วน โดยนางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สสว. ขานรับมาตรการช่วยเหลือ SMEs ระยะ 2 เทงบ 2,467 ล้านบาท แบ่งให้ 3 กระทรวง ไปดำเนินการ วงเงิน 867 ล้านบาท และแบ่ง 1,600 บาท มาหนุนSMEs ผ่าน 3 กลุ่ม ตั้งแต่ดำเนินธุรกิจอยู่ เริ่มต้นใหม่ และประสบปัญหา พร้อมผุด “กองทุนฟื้นฟู” ต่อชีวิต SMEs กรณีปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบได้ แจงให้ยืมไร้ดอกเบี้ย วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ระยะใช้คืนภายใน 5ปี

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยเป็นการทำงานระหว่าง 3 กระทรวงและ 1 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และสสว. โดยมี สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน

ทั้งนี้ ในการดำเนินมาตรการดังกล่าว ได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนของ สสว. ซึ่งมีเหลือไม่ได้ใช้อยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกมาใช้จำนวนรวม 2,467 ล้านบาท โดยจะเหลือเงินกองทุนของ สสว. อีกประมาณ 600 ล้านบาท

สำหรับการจัดสรรงบประมาณ รวม 2,467 ล้านบาท ดังกล่าว ในส่วนแรก จำนวน 867 ล้านบาทจะกระจายไปยัง 3 กระทรวงได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม 530 ล้านบาท กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทโนโลยี 187 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 150 ล้านบาท และจะตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามผลการพัฒนา SMEs ของแต่ละหน่วยงานโดยมีสสว.เป็นแกนหลักทำหน้าที่เจ้าภาพประสานงานและประเมินผล
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ส่วนต่อมา ดำเนินการในส่วนของ สสว. เองตั้งเป้าที่จะพัฒนา SMEs รวม 3 หมื่นราย ใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยจะพัฒนา SMEs 3 กลุ่ม วางเงินรวมส่วนนี้ 600 ล้านบาท ได้แก่

3.1 กลุ่ม SMES ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว (Strong/Regular SMEs) สสว. จะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาทในการพัฒนา SMEs โดยมีเป้าหมาย 10,000 ราย หรือประมาณ 20,000 ราย ในปี 2559 และการคัดเลือกจะพิจารณาจาก 1.ลูกค้าธนาคารของรัฐ และ2.คัดจากฐานข้อมูล สสว. ซึ่งปัจจุบัน จากข้อมูลมีประมาณ 4 แสนรายที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์และส่งงบการเงินสม่ำเสมอ อีกทั้ง ยอดขายเพิ่มขึ้นในอัตราระดับค่อนข้างสูงในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และSMEs ที่มียอดขายทรงตัวในระดับปานกลาง ซึ่งSMEs ทั้ง 2 กลุ่มนี้ ทาง สสว. จะคัดมารวมกันประมาณ 1.2 แสนราย

“สสว. จะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าวินิจฉัยในเชิงลึกเป็นรายกิจการและหาทางช่วยปรับปรุงการผลิต การให้บริการ และการจำหน่าย รวมทั้งให้คำแนะนำทางด้านการเงินในกรณีที่ SMEs ต้องการขยายกิจการด้วย ตัวอย่างเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้ ได้แก่ SMEs ในกลุ่มที่มีศักยภาพ เช่นอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สปา แฟชั่น อัญมณีและเครื่องหนัง ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ว่า ให้ช่วยดูแลเอสเอ็มอีในกลุ่มที่มีศักยภาพรวมถึงให้พิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้มีแบรนด์สู่ตลาดโลก”

นางสาลินี กล่าวต่อว่า กลุ่มต่อมา คือ 3.2.กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) สสว. มีเป้าหมายจะสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 10,000 ราย ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2559 - 2561 โดยจะใช้งบประมาณ จำนวน 200 ล้านบาท ในปี 2559
วิธีการคือ สสว.จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีจุดเด่น ในเรื่องการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ เช่น การช่าง การออกแบบ และการบริหารธุรกิจ โดยจะคัดนักศึกษาที่จบใหม่ หรือเพิ่งประกอบธุรกิจไม่เกิน 5 ปี มาเข้าหลักสูตรที่ศูนย์บ่มเพาะของมหาวิทยาลัย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

และเมื่อนักศึกษารายใดที่จบหลักสูตรการบ่มเพาะ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะเริ่มต้นกิจการได้ สสว. จะสนับสนุนให้จดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นนิติบุคคล และจะประสานกับธนาคารของรัฐ เช่น SME Bank เพื่อให้การสนับสนุนด้านการเงินในรูปการให้กู้เงินหรือร่วมลงทุน สสว. จะติดตามดูแลผู้ประกอบการใหม่โดยผ่านทางศูนย์บริการ SMEs ครบวงจร หรือศูนย์ OSS ของสสว.

และ 3.3.กลุ่มที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ (Turn Around) โดยสสว. มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ 10,000 ราย ในปี 2559 โดยจะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือ SMEs ขนาดเล็ก ซึ่งคัดเลือกมาจาก
ก. ลูกค้าธนาคารของรัฐ ซึ่งมีปัญหาในการจ่ายชำระหนี้ แต่มีความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาที่จะทำกิจการต่อไป
ข. SMEs ที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งส่งงบการเงินให้กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ และมียอดขายลดลงค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3 ปี ซึ่ง SMEs ในกลุ่มนื้ มีจำนวนประมาณ 36,000 ราย

วิธีการช่วยเหลือของ สสว. คือ วินิจฉัยเชิงลึกเป็นรายกิจการเพื่อหาประเด็นที่จำเป็นต้องปรับปรุง ทั้งในด้านการผลิต และการจำหน่าย และหาก SMEs รายใด มีความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจต่อไป และยังมีศักยภาพเพียงพอ สสว. จะประสานงานกับเจ้าหนี้เดิมเพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ผอ.สสว. กล่าวต่อว่า ในกรณีที่ SMEs ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำเป็นต้องได้รับสภาพคล่องเพิ่ม แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของระบบสถาบันการเงินได้ เพราะSMEs เหล่านี้ยังมีประวัติการเงินที่มีปัญหา ทาง สสว. จึงได้ต้องกองทุนพลิกฟื้นธุรกิจ โดยจะพิจารณา ให้กู้ยืมจากกองทุน ซึ่งจะจัดตั้งขึ้น เป็นวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขไร้ดอกเบี้ย วงเงินให้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ระยะใช้คืนภายใน 5ปี ตั้งเป้าจะช่วย SMEs ได้ประมาณ 10,000 ราย และปล่อยเงินได้หมดภายในปี 2559

“สำหรับ SMEs ที่จะมาใช้กองทุนพลิกฟื้น สสว. ต้องเป็นรายที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นระหว่าง สสว. กับสถาบันการศึกษา และสถาบันการเงินเจ้าของลูกค้า ว่าเป็น SMEsชั้นดีแล้ว แต่ไม่สามารถเข้ากู้ยืนเงินในระบบได้ เพราะติดเงื่อนไขของสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งเราเชื่อว่า ถ้า SMEs กลุ่มนี้มีเงินมาช่วยพยุงธุรกิจ จะช่วยไม่ให้ธุรกิจเขาต้องตายลง” นางสาลินี กล่าว

ทั้งนี้ ขั้นตอนดำเนินงานในขั้นต่อไปคือ สสว. จะนำเสนอแผนต่างๆ เหล่านี้ต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) เพื่อจัดสรรเงินจากกองทุน สสว. เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริงต่อไป ซึ่งหากได้รับการอนุมัติเร็วเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้การช่วยเหลือเกิดขึ้นได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น
มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs  ที่ผ่าน ครม. วานนี้ (27 ต.ค.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น