สสว.เผยบอร์ดอนุมัติจัดสรรงบ 1,000 ล้านบาท จัดตั้ง “กองทุนพลิกฟื้น SME” ปล่อยให้ยืมแบบไร้ดอกเบี้ย ระยะเวลาคืน 5-7 ปีให้สำหรับ SMEs ที่มีอนาคต และต้องการฟื้นฟูธุรกิจ แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เพราะติดประวัติการเงินมีปัญหา แจงให้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ระบุต้องผ่านกระบวนการวินิจฉัยเชิงลึก ลั่นต้องไม่เกิดเป็นหนี้เสียแม้แต่รายเดียว
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) มีมติให้ความเห็นชอบจัดสรรเงินกองทุน มูลค่า 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้ง “กองทุนพลิกฟื้น SME” โดยให้ สสว.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี และธุรกิจการเกษตรในกลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูธุรกิจ โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดี รวมถึงได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้แล้วแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือไม่สามารถได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน เพราะที่ผ่านมาเคยมีปัญหาด้านประวัติการเงิน ซึ่งกลุ่มนี้ สสว.จะนำเข้ามาพิจารณาให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นฯ โดยเป็นเงินกู้ระยะยาว เวลาใช้คืน 5-7 ปี โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และให้กู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท
นางสาลินีระบุต่อว่า การคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิ์จากโครงการนี้ เบื้องต้นจะนำมาจากลูกค้าธนาคารของรัฐ ซึ่งมีประวัติดี มีความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาที่จะทำกิจการต่อไป อีกทั้งธุรกิจมีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวได้ นอกจากนั้น ต้องเป็น SMEs ที่เป็นนิติบุคคล ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และส่งงบการเงินให้กระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ แต่ที่ผ่านมามียอดขายลดลงค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3 ปี นอกจากนั้น หาก SMEs รายอื่นๆ ที่ไม่เป็นลูกค้าธนาคารแต่อยากได้รับสิทธิ์ดังกล่าว เบื้องต้นขอให้มาลงทะเบียนกับทาง สสว.ได้เพื่อจะเข้ากระบวนการพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากลงทะเบียนแล้ว ทาง สสว.จะมีทีมวินิจฉัยเชิงลึกเป็นรายกิจการเพื่อหาประเด็นที่จำเป็นต้องปรับปรุงทั้งในด้านการผลิต และการจำหน่าย และหาก SMEs รายใดมีความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจต่อไป และ สสว.เชื่อว่ามีศักยภาพเพียงพอ สสว.จะประสานงานกับเจ้าหนี้เดิมเพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในกรณีที่ SMEs ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำเป็นต้องได้รับสภาพคล่องเพิ่ม สสว.จึงพิจารณาให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นดังกล่าว
ผอ.สสว.เผยด้วยว่า ขณะนี้ ในส่วนของ สสว. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีประวัติผู้ประกอบการที่เข้าข่ายจะต้องการฟื้นฟูธุรกิจกว่า 17,000 ราย นอกจากนั้น สสว.ได้ประสานไปยังธนาคารต่างๆ เพื่อให้รับรู้ในกองทุนดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ทางธนาคารได้ส่งลูกค้ามาให้พิจารณาแล้วกว่า 4,000 ราย ซึ่งหลังจากนี้จะต้องเข้ากระบวนการวินิจฉัย ซึ่งใช้เวลารายละประมาณ 1 เดือน โดยคาดว่าจะมี SMEs ได้รับสิทธิ์ประมาณ 10,000 ราย และตั้งเป้าว่า SMEs ที่ได้รับการพิจารณาให้ยืมเงินจากกองทุนนี้จะต้องไม่เกิดเป็นหนี้เสียแม้แต่รายเดียว เนื่องจากเป็นเงินของภาครัฐที่ต้องจัดสรรช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น กระบวนการคัดสรรและพิจารณาต้องรอบคอบที่สุด
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *