xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหม? นักวิจัยไทยมีชุดตรวจโรคฉี่หนูและแอนติบอดีพร้อมรักษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย สกว. ผลิตชุดตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนูที่ทราบผลรวดเร็วและแม่นยำตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการ รวมทั้งพัฒนาแอนติบอดีพร้อมใช้ที่สามารถต้านเชื้อโรคฉี่หนูครอบคลุมหลายสายพันธุ์และใช้ได้กับผู้แพ้ยาปฏิชีวนะ หวังช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที

ตามที่มีการระบาดของโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซีส ใน 4 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทั้งนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนกว่าร้อยราย และเสียชีวิตไปแล้ว 2 รายนั้น ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา เมธีวิจัยอาวุโส และศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. เปิดเผยว่า โรคดังกล่าวจัดเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเข้ากระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายที่กลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขใหม่ของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคร้อนและชื้น

โรคนี้สร้างปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เจ้าหน้าที่โรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ สัตวบาล หรือผู้มีกิจกรรมที่ต้องสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค เช่น สุนัข แมว หรือสัตว์พาหะที่ติดเชื้อแต่ไม่ป่วย เช่น วัว ควาย สุกร หนู และสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่มีเชื้อโรคฉี่หนูหรือเชื้อเลปโตสไปราอยู่ในปัสสาวะ หรือติดเชื้อด้วยการสัมผัสกับดินหรือน้ำที่มีเชื้อสายพันธุ์ก่อโรคจากปัสสาวะสัตว์หรือซากสัตว์ที่ป่วยตายปนเปื้อน โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผล ผิวหนังถลอก หรือแช่น้ำนานๆ จนเหี่ยวซีด หรือเข้าทางเยื่อเมือกต่าง ๆ เช่น ทางปากและตา

โรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีและถูกต้องอาจทำให้ไตวายและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ภูมิคุ้มกันโรคในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงและหายป่วยเกิดจากแอนติบอดีและเป็นภูมิคุ้มกันที่มีความเฉพาะมาก คือ เมื่อผู้ติดเชื้อหายป่วยแล้วจะมีภูมิกันเฉพาะต่อเชื้อสายพันธุ์ที่ติดเชื้อนั้นหรือเชื้อที่ใกล้เคียงเท่านั้น และอาจติดเชื้อกลุ่มอื่นได้ใหม่อีก

อย่างไรก็ตามวัคซีนป้องกันโรคในปัจจุบันมีเฉพาะสำหรับใช้ในสัตว์ แต่ป้องกันได้เฉพาะเชื้อที่ตรงหรือใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ใช้เตรียมวัคซีนเท่านั้น วัคซีนป้องกันโรคฉี่หนูสำหรับคนและสัตว์อื่นๆ มีเฉพาะในบางประเทศ และยังไม่มีในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรป้องกันตนเองโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่อาจมีเชื้อปนเปื้อน หรือเมื่อมีไข้หลังการสัมผัสกับสิ่งที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ ศ. ดร.วันเพ็ญและคณะ เพื่อผลิตแอนติบอดีของมนุษย์พร้อมใช้สำหรับรักษาโรคฉี่หนูที่สามารถรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโรคฉี่หนูสายพันธุ์ต่าง ๆ และเพื่อใช้แทนยาปฏิชีวนะในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาปฏิชีวนะ หรือหากใช้ยาปฏิชีวนะแล้วอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ คือกลุ่มอาการจาริชเฮิกซัยเมอร์ด้วย นับได้ว่าเป็นเรื่องท้าทายนักวิจัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื้อโรคฉี่หนูมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ที่ก่อโรคได้

นอกจากนี้คณะวิจัยยังได้พัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคฉี่หนูที่รวดเร็ว แม่นยำ ช่วยบ่งชี้แนวทางรักษาให้ถูกต้อง ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถตรวจเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้กว้างขวางครอบคลุมทุกสายพันธุ์ที่ก่อโรค โดยการตรวจสอบหาโปรตีนสำคัญของเชื้อในร่างกายของผู้ติดเชื้อโรคฉี่หนูตั้งแต่ในขณะเริ่มมีอาการ ด้วยหลักการทางวิทยาภูมิคุ้มกันในแบบเมมเบรนอีไลซา ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เวลาในการวินิจฉัยเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ในขณะที่การตรวจสอบเชื้อก่อโรคด้วยวิธีมาตรฐานในปัจจุบันด้วยวิธีเพาะเชื้อหรือตรวจหาภูมิต้านทานที่เชื้อก่อโรคกระตุ้นให้สร้างขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลานาน 7-10 วัน วิธีเพาะเชื้อมีความไวน้อยเพราะอาจเพาะเชื้อไม่ขึ้น ส่วนวิธีตรวจหาภูมิต้านทานเป็นวิธีที่ยุ่งยากและช้ามาก รวมทั้งไม่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งอาจทำให้รักษาไม่ตรงโรค ไม่ทันการ และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้เพราะอาการป่วยของโรคฉี่หนูคล้ายกับอาการของโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้เด็งกี่ ไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อแบคทีเรียเข้ากระแสเลือด หรือแม้แต่ไข้ซิกาที่อยู่ในกระแสความสนใจในขณะนี้ ดังนั้นการวินิจฉัยแยกโรคที่มีอาการไข้จึงมีความสำคัญมาก และต้องการชุดตรวจสอบที่แม่นยำ เพราะวิธีการรักษาโรคเหล่านี้ต่างกันมาก

ชุดตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนูที่ทีมงานของ ศ. ดร.วันเพ็ญพัฒนาขึ้นนี้ทำได้โดยหยดปัสสาวะของผู้ป่วยลงบนแผ่นกระดาษไนโตรเซลลูโลส แล้วจุ่มลงในน้ำยาที่นักวิจัยผลิตขึ้น เพื่อดูปฏิกิริยาจากเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีไปจากเดิม ชุดตรวจนี้ได้รับการทดสอบว่าใช้ได้ผลดี และได้เคยถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลขอนแก่น เป็นต้น

ศ.ดร.วันเพ็ญกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้นำงานวิจัยต้นแบบของ สกว. ที่เป็นชุดตรวจแบบเมมเบรนอีไลซ่าไปต่อยอดพัฒนาเป็นชุดตรวจอีกแบบหนึ่งที่มีความแม่นยำพอ ๆ กันแต่จะรวดเร็วกว่า และใช้ได้ง่ายข้างเตียงผู้ป่วย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งชุดตรวจใหม่นี้ใช้หลักการอิมโมโนโครมาโตกราฟ หรือ ICT โดยมีลักษณะคล้ายชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ทำการตรวจโดยเพียงหยดซีรัมหรือพลาสมาของผู้ป่วยลงในหลุมของชุดตรวจ ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็ทราบผล คือผลบวกจะปรากฏเป็นแถบสีแดงสองแถบ ทำให้สามารถใช้ข้อมูลไปประกอบการรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที

ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา
กำลังโหลดความคิดเห็น