xs
xsm
sm
md
lg

เทมาเส็กให้ทุนติวเข้มวิศวกรไทยซ่อมอาคารเรียนต้านแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ช่างสาธิตการเสริมกำลังอาคารด้วยวิธี FRP
ทีมวิจัย สกว.ร่วมมือผู้เชี่ยวชาญสิงคโปร์จัดอบรมวิศวกรและช่างก่อสร้างจากท้องถิ่นภาคเหนือ ติวเข้มการเสริมกำลังอาคารเรียนเตรียมรับแผ่นดินไหว ตั้งเป้าซ่อมโรงเรียน 4 หลังเป็นต้นแบบอาคารสำหรับประชาชนทั่วไป

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง สิงคโปร์ จัดอบรม เทคโนโลยีการเสริมกำลังโครงสร้างอาคารเพื่อรับแรงแผ่นดินไหว แก่วิศวกร ช่างท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้อง ระหว่าง 1-4 ต.ค.58 ณ โรงแรมเมอร์เคียวเชียงใหม่

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก 4 สถาบันการศึกษาทั้งของไทยและสิงคโปร์ได้หารือถึงการจัดอบรมแก่วิศวกรและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความรู้เรื่องการเสริมกำลังอาคารต้านแผ่นดินไหวมานานแล้ว แต่คนทั่วไปอาจไม่เห็นความสำคัญ จนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาทำให้คนเริ่มตระหนักว่าแม้แต่อาคารเล็กๆ ก็ถล่มลงมาได้

"แผ่นดินไหวครั้งนั้นทำให้ทราบว่าอาคารที่อ่อนแอก็เสียหายได้ เราแก้ไขได้ด้วยการเสริมกำลังโดยเริ่มจากหาอาคารที่อ่อนแอ และโรงเรียนถือเป็นอาคารที่สำคัญเพราะเป็นสถานที่เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เราจึงเริ่มที่โรงเรียนให้คนได้เห็นเป็นตัวอย่าง ก่อนนำวิธีการไปใช้กับอาคารอื่น หรืออาคารที่อยู่อาศัย เพราะเราไม่สามารถทำได้ทุกอาคาร" ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าว

หนึ่งในแผนของการอบรมนั้น ศ.ดร.เป็นหนึ่งระบุว่าจะสร้างเสริมกำลังให้แก่อาคารเรียน 4 หลัง แบ่งเป็นที่เชียงราย 2 หลัง และเชียงใหม่ 2 หลัง โดยอยู่ระหว่างการคัดเลือกอาคารที่ทีมงานสามารถทำได้ เป็นอาคาร 3 ชั้นและใช้แบบปกติที่มีใช้กันเยอะ ซึ่งมีหลายวิธีสำหรับเสริมกำลัง โดยจะเลือกหลายวิธีเพื่อเปรียบเทียบราคาและเป็นต้นแบบให้ประชาชนเลือก ทั้งนี้จะเริ่มเสริมกำลังอาคารได้ในช่วงปิดภาคการศึกษา

ด้าน รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ นักวิจัย สกว.จาก มจธ.กล่าวว่าก่อนเสริมกำลังให้อาคารนั้นวิศวกรต้องลงพื้นที่สำรวจอาคารเพื่อประเมินความเสี่ยง ของอาคาร ดูการต่อเติมอาคาร ดูรูปร่างหรือรูปทรงของอาคาร ศึกษาระบบโครงสร้างว่ามีพื้น ผนัง และหลังคาเป็นอย่างไร รวมถึงดูแบบของอาคาร จากนั้นจึงวิเคราะห์ตามหลักวิศวกรรมเพื่อหา "จุดอ่อน" ของอาคาร

"หลังจากนั้นต้องพิจารณางบประมาณและเป้าหมายการใช้งานอาคาร เช่น บางโรงเรียนต้องการใช้อาคารเป็นศูนย์อพยพ ก็ต้องเสริมกำลังให้มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ หรือดูว่าอายุของอาคารนั้นคุ้มที่จะเสริมกำลังหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นไม่คุ้มก็สร้างใหม่ดีกว่า” รศ.ดร.สุทัศน์กล่าวและย้ำว่าการเสริมกำลังเป็นวิธีการเสริมความแข็งแรงให้แก่อาคารเก่าที่สร้างมาแล้ว

พร้อมกันนี้ ภายในการอบรมยังได้สาธิตการเสริมกำลังโครงการอาคารด้วยวิธีเอฟอาร์พี (Fiber Reinforced Plastic: FRP) โดยใช้แผ่นเส้นใยคาร์บอนพันรอบเสาคอนกรีต ซึ่ง ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัย สกว.จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรนธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่าวิธีดังกล่าวเหมาะสำหรับอาคารคอนกรีต ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างกันมาก และผลจากแผ่นดินไหวที่เชียงรายก็ทำให้อาคารคอนกรีตจำนวนมากพัง แลจุดที่พังส่วนใหญ่อยู่ที่เสาอาคารบริเวณตอม่อช่วง 1-1.5 เมตร

ศ.ดร.อมร อธิบายว่าแผ่นดินไหวจะทำลายคอนกรีต ทำให้เหล็กเสริมคดงอ เราจึงต้องหาวิธีเสริมกำลังคอนกรีตให้รักษารูปทรงได้ สิ่งที่ได้ศึกาามาภายใต้การสนับสนุนของ สกว.พยายามหาวัสดุที่ทำให้โครงสร้างเคลื่อนไปได้ดี และพบว่าเส้นใยคาร์บอนนั้นทำให้โครงสร้างเคลื่อนไปจากเดิมได้ 3-4 เท่า เมื่อวิธีนี้ได้ผล ต่อไปคือการนำไปสู่การประยุกต์ว่าจะใช้เส้นใยกี่ชั้น ซึ่งวิศวกรต้องคำนวณตามความเหมาะสมของคอนกรีต โดยเสา 15-20 เซ็นติเมตรใช้ประมาณ 1-2 แผ่น

“วิธีนี้ใช้เวลารวดเร็ว เสา 1 ต้นใช้เวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง ทำให้ไม่รบกวนผู้ใช้งานอาคาร โดยจุดโครงสร้างวิบัติหรือจุดที่โดนทำลายมากที่สุดอยู่ที่โค่นเสาและปลายเสาที่ระยะ 50 เซ็นติเมตร แต่สำหรับโครงสร้างใหม่การใช้เหล็กปลอกจะถูกกว่า ส่วนโครงสร้างเก่าใช้เส้นใยคาร์บอนจะดีที่สุด โดยเส้นใยคาร์บอนนั้นมีความแข็งแรงมากกว่าเหล็ก 10 เท่า

ทางด้าน น.ส.สุจิตรา จงเจริญ และนายเสกสรรค์ ชื่นจิตกุลถาวร วิศวกรโยธาจากเทศบาลนครเชียงราย จ.เชียงราย ผู้เข้ารับการอบรมกล่าวว่า วิธีที่ได้เรียนรู้จากการอบรมนั้นเป็นความรู้ใหม่ แต่เป็นวิธีที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายวิธีในการเสริมกำลังอาคาร เช่นเสริมเหล็กเส้นตรงข้างๆ เสาแล้วเทคอนกรีตทับ ซึ่งเรียกว่าวิธีคอนกรีตแจ็คเกตติง (concrete jacketing) นั้นมีราคาถูกกว่า และเหมาะสมกับชาวบ้านทั่วไปมากกว่า

“หน้าที่ความรับผิดชอบของเราในเทศบาลนครเชียงรายคือการอนุญาตก่อสร้างอาคาร ตรวจแบบตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร หลังแม่ดินไหวแม่ลาว(เชียงราย) เราได้ระดมช่างท้องถิ่นเข้าไปสำรวจความเสียหาย ดุว่าควรจะซ่อมแซมแบบไหน แต่ทางที่ดีตอนเริ่มก่อสร้างอาคารควรสร้างให้ได้มาตรฐาน ดีกว่าเสริมกำลังในภายหลัง” ทีมวิศวกรโยธาจากเชียงรายให้ความเห็นแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาตร์

ขณะที่ นายประจักษ์ เปรมจิตร ผู้เข้าอบรมจาก บริษัทเอส ซี บี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ให้ความเห็นว่า วิทยากรให้ความรู้ในเชิงวิชาการซึ่งเป็นที่ดีและถูกต้องตามทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับเป็นเรื่องยาก เพราะอาคารเรียนนั้นมีกฎหมายที่ควบคุมต่างหาก และการสร้างอาคารเรียนคอนกรีตในเมืองไทยหลายพื้นที่ยังมีปัญหา ตัวอย่างเช่นการสร้างอาคารเรียนใน จ.นครราชสีมา พบว่าเสาตอม่อของอาคารเป็นสนิมและระเบิดออกมาหมดเนื่องจากพื้นที่นครราชสีมาเป็นเกลือ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นคอนกรีตนั้น “เป็นมิตร” เฉพาะพื้นที่ ในพื้นที่ภาคกลางใช้อีกแบบ พื้นที่ใกล้ทะเลใช้อีกแบบ แต่กลายเป็นว่าวิศวกรกลับออกแบบแค่เรื่องความแข็งแรงแต่ไม่ได้คำนึงถึงความคงทน

สำหรับการอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้มีบทบาทสำคัญในการเสริมกำลังอาคารในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ โดยมี รศ.หลี ปิง (Li Ping) จากมหาวิทยาลัยนานยาง สิงคโปร์ มาร่วมเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ

"คณะทำงานและวิทยากรบางส่วนในงานอบรมได้ร่วมงานกันมานาน โดยทำงานวิจัยทั้งอาคารขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. ส่วนสิงคโปร์ก็มีความช่วยเหลือชาติอื่นๆ ในเอเชีย เช่น อินเดียและเนปาลที่เดือดร้อนจากแผ่นดินไหว มีการเสริมกำลังให้แก่อาคารในหลายพื้นที่ แล้วก็วนมาถึงไทย จริงๆ เราคุยกันมานานก่อนแผ่นดินไหวที่เชียงราย จนกระทั่งเกิดเหตุจึงได้ทุนจากเทมาเส็ก สิงคโปร์" ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าว

ด้าน รศ.ปิงกล่าวว่า การสนับสนุนการอบรมแก่ไทยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของในการช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้กับชาติอาเซียน ซึ่งนอกจากไทยแล้วสิงคโปร์ยังให้การสนับสนุนแก่ชาติอื่นๆ ในอาเซียนอีก และการอบรมให้ความรู้เรื่องการเสริมกำลังอาคารเรียนนี้มีความสำคัญเพราะเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของอาเซียน

สำหรับสิงคโปร์นั้น รศ.ปิงกล่าวว่าไม่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวมากเท่าไทย โดยรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้สิงคโปร์มากที่สุดคือรอยเลื่อนสุมาตราที่อยู่ห่างออกไป 900 กิโลเมตร ส่วนงานวิจัยเรื่องแผ่นดินไหวของสิงคโปร์นั้นยังไม่ได้ทำมากนัก โดยอยู่ในขั้นเริ่มต้นศึกษาและค้นคว้าข้อมูล อย่างไรก็ตามอาคารในสิงคโปร์ต้องรองรับแผ่นดินไหวได้ตามกฎหมายที่เริ่มมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และสิงคโปร์ยังมีความเสี่ยงแผ่นดินไหวจากแผ่นดินอ่อนเนื่องจากการถมทะเลด้วย

แผ่นเส้นใยคาร์บอนสำหรับเสริมกำลัง
ตัวอย่างแผ่นเส้นใยคาร์บอนสำหรับเสริมกำลัง
ช่างสาธิตการเสริมกำลังอาคารด้วยวิธี FRP
ช่างสาธิตการเสริมกำลังอาคารด้วยวิธี FRP
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ
ทีมวิศวกรและช่างท้องถิ่นสำรวจอาคารเรียนเพื่อคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบสำหรับเสริมกำลังอาคารเรียน
รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย
 รศ.หลี ปิง (Li Ping) จากมหาวิทยาลัยนานยาง สิงคโปร์
















กำลังโหลดความคิดเห็น