กินพริกกันมาก็มาก แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า นักวิจัยไทยยังไม่หยุดนิ่งและพัฒนาทั้งสายพันธุ์พริกและผลิตภัณฑ์จากพริก และไม่ใช่แค่เครื่องชูรสจัดจ้าน แต่สารสกัดจากพริกยังใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยได้
"พริกทับทิมมอดินแดง" พริกพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น แม้จะมีหน้าตาน่ารักแต่ใครเผลอชิมอาจทุกข์ทรมาน จากอาการลิ้นไหม้ เพราะมีความเผ็ดระดับ 300,000 สโควิลล์ฮีตยูนิต (Scoville heat unit) หรือเอสเอชยู (SHU) ขณะที่พริกขี้หนูมีความเผ็ดในหลักหมื่นเอสเอชยูเท่านั้น
ความเผ็ดของพริกทับทิมมอดินแดง อาจยังไม่สาแก่ใจ ทางศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชฯ ยังมีพันธุ์ "พริกอัคนีพิโรธ" ที่มีความเผ็ดระดับ 500,000 เอสเอชยู ความเผ็ดระดับนี้ไม่ได้ถูกพัฒนามาเพื่อใช้ปรุงอาหาร แต่เป้าหมายคือเพื่อใช้ผลิตยาสำหรับทาแก้ปวด
นายชัชวาล แสงฤทธิ์ นักศึกษาปริญญาเอกจากศูนย์วิจัยดังกล่าว อธิบายว่า สารให้ความเผ็ดของพริกชื่อ “แคปไซซิน” (capsaicin) จะทำให้ร่างกายปลดปล่อยสารสร้างความเจ็บปวดออกมาจนหมด จึงช่วยลดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ และการปรับปรุงพันธุ์พริกให้เผ็ดมากขึ้นจะช่วยลดปริมาณวัตถุดิบสำหรับผลิตยาทาแก้ปวดได้
ผลงานปรับปรุงพันธุ์พริกของศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชฯ มข.ยังได้ไปอวดโฉมภายในงาน "มหกรรมนวัตกรรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2558" ที่จัดขึ้นโดยประทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา สอดคล้องกับการจัดงานภายใต้แนวคิด "มหกรรมเพื่อความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน"
ชัชวาลนอกจากพริกเผ็ดหฤโหดแล้ว ศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชฯ มข.ยังมีตัวอย่างพันธุ์พริกอื่นๆ เช่น พริกขี้หนูเม็ดเล็กหรือหยกเขียวมอดินแดงที่มีความเผ็ด 70,000 เอสเอชยู และการแปรรูปพริกเป็นอาหาร อาทิ ซอสพริกแบบน้ำปรุงรสให้ถูกปากคนไทย พริกดอง หรือพริกแผ่นที่นำซอสพริกมาแปรรูปเป็นแผ่นให้สะดวกต่อการปรุงอาหารแทนการใช้พริกป่น