บ้านปู จับมือ มหิดล เปิด “ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 10” ดึงเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพผ่านประสบการณ์ตรงในค่าย 8 วันเต็ม พร้อมหาเยาวชนดาวเด่นบินลัดฟ้าสู่อินโดนีเซีย ชมพื้นที่ความหลากหลายชีวภาพอันดับ 2 ของโลก
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “ความหลากหลายทางชีวภาพ กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” (Biodiversity for Environmental Development and Sustainability) ระหว่างวันที่ 12-19 ต.ค. 58 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี และศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 10 กล่าวว่า ค่ายเพาเวอร์กรีน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 ในสายวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศจำนวน 70 คน มาร่วมสนุกกับกิจกรรมของค่ายเป็นเวลากว่า 8 วัน ซึ่งในปีนี้หัวข้อที่จัดจะเน้นการส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสมดุลและการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ระบุว่า เยาวชนที่เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในหัวข้อต่างๆ เช่น วิวัฒนาการกับความหลากหลายทางชีวภาพ, การสำรวจ, การค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ, สาเหตุการสูญพันธุ์, การนำไปใช้ประโยชน์ และการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตใหม่ของโลก โดยจะเน้นการเรียนรู้เชิงลึก 3 ระดับ ตั้งแต่ความหลากหลายทางพันธุกรรม, ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ และความหลากหลายทางระบบนิเวศ ซึ่งมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันในด้านปัจจัย 4
นอกจากนี้ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ยังเผยด้วยว่า ไฮไลท์ของค่ายครั้งที่ 10 อยู่ที่การเดินป่าและสำรวจความหลากหลายของพืชและสัตว์ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ และศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จ.ชลบุรี ที่ในปีนี้เป็นการเข้าค่ายแบบค้างแรม ต่างจากปีก่อนที่เป็นแบบเช้าไปเย็นกลับ ทำให้เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติมจากกิจกรรมไนท์ซาฟารี อาทิ การส่องสัตว์ประจำถิ่นและการสังเกตแมลง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแท้จริง
"ปีนี้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กำหนดให้ ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Biodiversity for Sustainable Development) เป็นหัวข้อสำคัญของวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบกับไทยก็เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในโลก จึงเป็นการดีที่เราจะสนับสนุนให้เยาวชนจะได้รับความรู้เรื่องนี้ผ่านการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง ที่อาจนำไปสู่การประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและประเทศในอนาคต” รศ.ดร. รัตนวัฒน์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ด้าน นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่ายพาวเวอร์กรีนเป็นค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่บริษัท บ้านปูฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลจัดร่วมกันมาตั้งแต่ปี 49 จนถึงตอนนี้นับเป็นเวลา 10 ปี โดยทุกปีธีมของค่ายจะถูกเปลี่ยนไปตามสถานการณ์บ้านเมืองที่ได้รับความสนใจเช่น ในปี 54 ใช้ธีมเกี่ยวกับการเรียนรู้อุทกภัย และในปีที่ผ่านมาเป็นเรียนรู้ด้านแผ่นดินไหว เพื่อให้เยาวชนนำประโยชน์ที่ได้รับจากค่ายไปประยุกต์ใช้กับชีวิต เพราะหัวใจของค่ายคือ การเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง
นางอุดมลักษณ์ อธิบายว่า ในปีนี้ธีมของค่ายจึงถูกตั้งขึ้นในหัวข้อ “ความหลากหลายทางชีวภาพ กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” (Biodiversity for Environmental Development and Sustainability) เพื่อให้พ้องกับสถานการณ์ที่นานาชาติหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเด่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ บริษัท บ้านปูฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ระหว่างและหลังการทำเหมือง ที่เหมืองบารินโตและเหมืองอินโดมินโค ประเทศอินโดนีเซีย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท PT.Indo Tambangraya Megah (ITM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ้านปูฯ
"นอกจากค่ายพาวเวอร์กรีนจะเปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วประเทศมาเข้าร่วมโครงการกับเราเป็นเวลากว่า 8 วันแล้ว บ้านปูฯ ยังเปิดโอกาสพิเศษให้น้องๆ ที่มีการนำเสนอนิทรรศการโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมดีเด่นจำนวน 3-4 คนได้ไปทัศนศึกษายังประเทศอินโดนีเซีย ในปี 59 เพื่อเรียนรู้เจาะลึกความหลากหลายทางชีวภาพด้วย เพราะเรามีเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศมากถึง 8 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในฐานที่มั่นใหญ่คือ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกโดยเฉพาะบริเวณเกาะกะลิมันตัน ที่ถ้าหากเยาวชนได้ไปทัศนศึกษาก็จะช่วยต่อยอดประสบการณ์ของเยาวชนจากการเข้าค่ายในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี" นางอุดมลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้เยาวชนทั้ง 70 คนที่เข้าร่วมโครงการ ได้รับการคัดเลือกจากผลการเรียน, ความสนใจในความหลากหลายทางชีวภาพ และคลิปวิดิโอหรือเรียงความในหัวข้อ "ความหลากหลายทางชีวภาพในชีวิตประจำวัน" ที่ตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยมหิดล จากเยาวชนทั่วประเทศกว่า 400 คน โดยจะแบ่งเยาวชนออกเป็น 7 กลุ่ม เพื่อทำกิจกรรมและแสดงผลงานต่อคณะกรรมการโครงการและประชาชนทั่วไป เพื่อชิงทุนการศึกษา 30,000 บาท โดยบริษัท บ้านปูฯ จะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายตลอดการทำกิจกรรม