xs
xsm
sm
md
lg

นักฟิสิกส์โนเบลหวังผลงานปูทางสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ อาร์เธอร์ แมคโดนัลด์ และภาพอธิบายการทำงานของเขาบนจอแสดงระหว่างประกาศผลโนเบลฟิสิกส์ 2015 เมื่อ 6 ต.ค.2015 ณ สภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ในกรุงสต็อกโฮล์ม สวีเดน (AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND)
“อาร์เธอร์ แมคโดนัลด์” หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีล่าสุด คาดหวังว่า ผลงานเกี่ยวกับนิวทริโนของเขาและนักฟิสิกส์ญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลร่วมกันจะปูทางไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่ เป็นพลังงานรูปแบบใหม่ที่ปลอดภัยกว่านิวเคลียร์ฟิชชันแบบเก่าและอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัย

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2015 ตกเป็นของ อาร์เธอร์ แมคโดนัลด์ (Arthur McDonald) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยควีนส์ (Queen's University) แคนาดา และ ทาคาอากิ คาจิตะ (Takaaki Kajita) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ญี่ปุ่น จากผลงานการพบการแกว่งของนิวทริโน ซึ่งพิสูจน์ว่านิวทริโนมีมวล แต่ทฤษฎีก่อนหน้านี้ระบุว่า นิวทริโนไม่มีมวล

นิวทริโนนั้นเป็นอนุภาคมูลฐานที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ อย่างกระบวนการที่ทำให้เกิดแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ และจากการทำงานต่างคนต่างทำของทีมแมคโดนัลด์และทีมคาจิตะ ผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการใต้ดิน ได้พิสูจน์ว่าจริงๆ แล้วนิวทริโนนั้นมีมวล

เอเอฟพีอ้างถึงคำสัมภาษณ์ของแมคโดนัลด์ที่เผยแก่ CBC ช่องโทรทัศน์สาธารณะของแคนาดา ซึ่งกล่าวว่างานของเขาเกี่ยวกับอนุภาคนั้น ใช้เพื่อวัดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (nuclear fusion) ที่เป็นพลังงานบนดวงอาทิตย์ และการทราบวิธีคำนวณที่ประยุกต์ใช้กับดวงอาทิตย์ก็ช่วยให้เราเข้าใจได้มากถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก

นิวเคลียร์ฟิวชันต่างจากนิวเคลียร์ฟิชชัน (nuclear fission) ตรงที่นิวเคลียร์ฟิวชันมีราคาถูก มีอยู่เหลือเฟือและเป็นพลังงานที่มีความปลอดภัยมากกว่า การเข้าถึงใจปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันบนดวงอาทิตย์ช่วยให้เราย่อส่วนกระบวนการที่เกิดขึ้นมาไว้บนโลกได้ ด้วยขนาดที่เล็กกว่ามากๆ

แมคโดนัลด์ย้อนถึงการทำงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้ว่า เขาและทีม 16 คนได้เรื่มงานวิจัยเมื่อปี 1984 และทำงานดังกล่าวนานอยู่หลายปี ด้วยการสนับสนุนของแคนาดาที่ให้ทำเรื่องไม่ธรรมดา และกลายเป็นความสำเร็จที่ทีมของเขาภูมิใจอย่างยิ่ง

ตอนที่ได้รับโทรศัพท์ในช่วงเวลา 05.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อแจ้งข่าวว่าเขาได้รับรางวัลโนเบล ตอนนั้นเขาก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะทราบว่าสิ่งที่โทรมานั้นเป็นสำเนียงสวีเดน และการได้รับรางวัลดังกล่าวถือเป็นเกียรติ อีกทั้งไม่ธรรมดา แต่เป็นของขวัญล้ำค่าในการทำงานหนักของทีมที่ทำต่อเนื่องมาหลายปี
ภาพเครื่องตรวจวัดอนุภาคซูเปอร์-คามิโอกานเด (Super-Kamiokande detector) ในญี่ปุ่น และภาพอธิบายขอบเขตงานวิจัยของ ทาคาอากิ คาจิตะ หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ 2015 (AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND)
















กำลังโหลดความคิดเห็น