จากเสียงบ่น "ผมเหม็นควัน" ของคนรอบข้างเมื่อไปกินหมูกระทะ ทำให้เด็ก ม.6 จากสกลนครปิ๊งไอเดีย ศึกษาคุณสมบัติซับแก๊สพิษและกลิ่นบุหรี่ของเส้นผมจนเกิดเป็นโครงงานนาโนเทคโนโลยีเก๋ๆ อีกตัวอย่างของความสงสัยสู่แล็บวิจัยที่ไม่ธรรมดา
ในการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศ ครั้งที่ 6 โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่ผ่านมา มีผลงานของนักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งเตะตาทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีกระปุกบรรจุน้ำบรรจุไว้มากมาย พร้อมด้วยซองตาข่ายหน้าตาประหลาดบรรจุเส้นผมไว้ เราจึงซักถามนักเรียนชายเจ้าของโครงงานว่าผลงานอันน่าประหลาดเหล่านั้นคืออะไร
นายศุภณัฐ เดชภูมี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร กล่าวว่า โครงงานที่เขานำมาเสนอในวันนี้เป็นการศึกษาสมบัติของเส้นผมซับกลิ่น ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเสียงบ่นของคนรอบข้างเวลาไปรับประทานอาหารปิ้งย่าง หรืออยู่ในที่ๆ มีควันแล้วมีกลิ่นผมที่เหม็นมากกว่าปกติ
ด้วยความสงสัยเขาและเพื่อนจึงนำปัญหานี้มานั่งถกเถียงกัน จนเกิดเป็นสมมติฐานว่าเส้นผมสามารถดูดซับกลิ่นได้จริงหรือไม่ และมุ่งเป้าทำการทดลองกับกลิ่นบุหรี่ เพราะเป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์และมีสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอยู่มากมายนับ 10 ตัว โดยจะใช้เส้นผมเหลือทิ้งจากร้านตัดผมใกล้บ้าน ก่อนจะนำมาทำความสะอาด ซัก ตากแดดให้แห้งเพื่อความสะอาด ก่อนจะนำมาใช้ในการทดลอง โดยชั่งและบรรจุในถุงผ้าตาข่ายที่พวกเขาเย็บมือด้วยตัวเอง
การทดลองของพวกเขาจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือการหาว่าปริมาณผมเท่าไรที่มีผลต่อการซับแก๊สมากที่สุด จากนั้นจะนำไปเข้าสู่การทดลองที่ 2 ที่จะนำปริมาณผมที่สรุปแล้วว่ามีประสิทธิภาพดูดซับมาแช่เข้ากับสารละลายนาโน เพื่อทำการทดลองต่อไปว่าจะช่วยให้มีประสิทธิภาพการดูดซับเพียงใด
นายธรรมรงค์ ตาลประดิษฐ์ นักเรียนชั้น ม.4 สมาชิกกลุ่มอีกคนกล่าวว่า พวกเขาเริ่มทำการทดลองจากการนำผมมาใส่ถุงตาข่าย แบ่งเป็นน้ำหนัก 0, 0.5, 1, 1.5 แล้วเย็บปิดให้เรียบร้อย จากนั้นนำขวดน้ำอัดลมพลาสติกขนาดใหญ่มาบรรจุน้ำเล็กน้อยตวงให้มีปริมาตร 100 มิลลิลิตรเท่ากัน โดยที่ฝาขวดเจาะรูให้มีขนาดเท่ามวนบุหรี่ จากนั้นจุดบุหรี่แล้วหันด้านก้นกรองบุหรี่ให้เสียบเข้าด้านในขวด จากนั้นจึงบีบไล่อากาศจากในขวด 1 ครั้ง แล้วจึงเดินหน้าเก็บควันด้วยการบีบขวดเพื่อดึงควันเข้าสู่ด้านใน ทำแบบนี้ติดต่อกัน 30 ครั้งกับขวดในลักษณะเดียวกันอีก 4 ขวด
"พอครบ 30 ครั้งเราจะดับบุหรี่รีบอุดฝาขวดแล้วเขย่า เพื่อให้ควันบุหรี่ผสมกับน้ำที่อยู่ในขวด ขั้นตอนนี้เราจะได้น้ำดำๆ ที่ได้จากน้ำบริสุทธิ์ผสมกับควันบุหรี่ในอัตราที่เท่าๆ กัน นำมาเทใส่กระปุกแล้วทำการหย่อนถุงเส้นผมลงไปจับเวลา 3 ชั่วโมง แล้วจึงเอาขึ้น ซึ่งผลการทดลองครั้งแรกค่อนข้างชัดเจนมากเลยว่า ถุงบรรจุผมปริมาณ 1.5 กรัมซับควันได้ดีที่สุด เพราะสีของน้ำในกระปุกนี้ใสขึ้นที่สุดเมื่อเทียบกับกระปุกน้ำบุหรี่อันอื่นๆ ที่ยังค่อนข้างดำและขุ่น"
เมื่อได้ข้อสรุปข้อแรก ธรรมรงค์กล่าวว่า ส่วนถัดไปคือการทำให้เส้นผมมีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้นด้วยการใช้สารไททาเนียมนาโน ด้วยการใช้ไททาเนียมปริมาณต่างกัน คือ 0.04, 0.06 และ 0.08 กรัมที่นำมาละลายในเอทานอล แล้วนำถุงเส้นผมลงมาแช่เป็นเวลา 3 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนจะไปทดลองอีกครั้งกับน้ำควันบุหรี่เหมือนขั้นตอนแรก ซึ่งผลการทดลองสรุปว่าเส้นผมที่แช่ไทเทเนียม 0.08 กรัม สามารถซับแก๊สได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงกว่าชุดการทดลองที่ไม่ได้ผสมนาโน เพราะนอกจากน้ำที่ได้จะมีความใสเหมือนน้ำบริสุทธิ์แล้ว ยังมีค่าพีเอช (pH) เกือบเทียบเท่ากับพีเอชน้ำประปาที่ 6.4 ในขณะที่น้ำผสมควันบุหรี่แบบไม่มีไส้กรองมีค่าพีเอชอยู่ที่ 5.83
"ที่สนใจนาโน เพราะผมได้ยินบ่อยตามทีวี เลยศึกษาเพิ่มและก็ปรึกษาอาจารย์ เผื่อว่าอนุภาคที่เล็กมากๆ ของมันจะช่วยให้มีพื้นที่ผิวสำหรับดูดซับก๊าซพิษมากขึ้นแล้วมันก็ทำได้จริง และถึงจะไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไร เพราะผมทราบดีว่ายังมีช่องโหว่อยู่มาก แต่ที่ดีที่สุดคือโครงงานนี้มันเป็นการตอบข้อข้องใจของผม แล้วผมก็คิดว่ามันสามารถต่อยอดได้ด้วยนะ อาจเอาเส้นผมไปทำเป็นพวกไส้กรองต่างๆ เพราะผมเห็นคุณค่าของผมมากกว่าที่จะเป็นขยะอยู่ในร้านเสริมสวย" ธรรมรงค์กล่าว