xs
xsm
sm
md
lg

อลูมิเนียมไม่สูญเปล่า มจธ.พบวิธีแยกจากกล่องยูเอชที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย มจธ.ค้นพบวิธีแยกอลูมิเนียมและกระดาษจากกล่องยูเอชทีและถุงขนมขบเคี้ยวด้วยวิธีสกัดตัวทำละลายสำเร็จเป็นรายแรก ชี้ช่วยลดขยะ เพิ่มโอกาสอลูมิเนียมหมุนเวียน เพิ่มโอกาสเปลี่ยนขยะเป็นเงิน พร้อมขยายผลสู่ผู้ประกอบการ

กล่องยูเอชที (UHT) ที่บรรจุผลิตภัณฑ์นม, น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มหลายชนิด เป็นขยะที่พบได้มาก หากกำจัดไม่ถูกวิธีจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคโดยเฉพาะไข่แมลงวัน และที่ผ่านมาการกำจัดกล่องยูเอชทีที่ใช้แล้ว เป็นเพียงการนำไปแปรรูปเป็นแผ่นกรีนบอร์ด หรือ นำไปทำเป็นสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ เช่น กระดาษสมุด หรือหมวกรีไซเคิล

ทว่าวิธีเหล่านั้นยังคงไม่สามารถลดปริมาณขยะจากกล่องยูเอชทีที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นได้ ประกอบกับร้านรับซื้อของเก่าจะไม่รับซื้อกล่องยูเอชที เพราะไม่สามารถขายต่อให้กับโรงงานรีไซเคิลได้ เพราะส่วนประกอบของกล่องยูเอชทีนั้นมีกระดาษ พลาสติก และอลูมิเนียมฟอยล์ รวมกันหลายชั้น ทำให้ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

ล่าสุดคณะนักวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำโดย ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ หัวหน้าโครงการวิจัย “กรรมวิธีการแยกอลูมิเนียมและกระดาษ ออกจากกล่องบรรจุอาหารเหลวประเภทยูเอชที โดยใช้วิธีการสกัดด้วยตัวทำละลาย” เป็นวิธีการช่วยลดขยะและลดมลพิษจากกล่องยูเอชทีใช้แล้วได้สำเร็จเป็นรายแรก

ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย เปิดเผยว่า จากส่วนประกอบของกล่องยูเอชทีที่นอกจากกระดาษ และพลาสติกแล้ว ยังมีแผ่นอลูมิเนียมในบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่า หากเราสามารถแยกอลูมิเนียมออกมาได้ก็จะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการนำอลูมิเนียมกลับมาทำอะไรได้นอกจากเผาทำลายทิ้งในโรงกำจัดขยะ เป็นที่มาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถเอาอลูมิเนียมออกจากกล่องภายใต้โจทย์ที่ว่าต้องเป็นอลูมิเนียมบริสุทธิ์เท่านั้น

ศ.ดร.นวดล อธิบายว่า เริ่มจากหาวิธีการที่จะแยกอลูมิเนียมออกจากกระดาษ เราจึงต้องหาตัวทำละลายที่เหมาะสมเพื่อมาละลายกาว สำหรับตัวทำละลายที่เหมาะสมนั้น เราได้เลือกนำมาศึกษาวิจัยหลายกลุ่มเพื่อหาสภาวะที่เหมาะสม พบว่าตัวทำละลายที่เหมาะสมที่สุดคือ กลุ่มที่มีสารประกอบจำพวก “โทลูอีน” เพราะมีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลายกาวที่ติดอยู่ระหว่างกระดาษกับอลูมิเนียมได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับตัวทำละลายในกลุ่มอื่นๆ จากการทดลองพบว่าเมื่อเราสามารถหาตัวทำละลายที่เหมาะสม ในระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม และระยะเวลาที่เหมาะสมก็จะสามารถแยกอลูมิเนียมที่บริสุทธิ์ออกจากกระดาษได้

“ขั้นตอนทำไม่ยุ่งยาก ตัดกล่องยูเอชทีที่ใช้แล้วเป็นชิ้นๆ ใส่ลงถังรีแอคเตอร์ และใส่ตัวทำละลายที่เหมาะสมลงไป ต้มด้วยอุณหภูมิ 70-80 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็สามารถแยกอลูมิเนียมบริสุทธิ์ออกจากกระดาษได้ ซึ่งกระบวนการเพียงเท่านี้ สามารถทำให้อลูมิเนียมบริสุทธิ์หลุดแยกออกจากกระดาษไปคนละชั้น ไม่ต้องยุ่งยากในการคัดแยกอีก โดยอลูมิเนียมบริสุทธิ์จะหลุดออกจากกระดาษและตกลงไปรวมกันอยู่ด้านล่างถัง ส่วนกระดาษจะลอยขึ้นด้านบนอย่างชัดเจน ขณะที่พลาสติกละลายไปกับตัวทำละลาย" ศ.ดร.นวดลอธิบาย

ข้อดีของตัวทำละลาย “โทลูอีน” คือ มีจุดเดือดต่ำ เมื่อใช้แล้วสามารถระเหยทิ้งด้วยวิธีการควบแน่นและนำกลับมากลั่นใช้ได้เรื่อยให้กรรมวิธีที่ใช้นี้มีจุดเด่น คือ ง่าย ต้นทุนค่าพลังงานต่ำและไม่มีของเสียตกค้างในกระบวนการผลิตเพราะไม่ต้องใช้น้ำและทำในระบบปิด โดยอลูมิเนียมบริสุทธิ์ที่แยกออกมาได้นั้น สามารถนำไปใช้ต่อในภาคอุตสาหกรรมเพื่อทำประโยชน์อื่นๆ หรือขายให้กับโรงงานผลิตอลูมิเนียมได้ ส่วนกระดาษก็สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานในโรงงาน หรือสามารถนำไปทำประโยชน์อื่นๆได้อีก

"ถือได้ว่าเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ดีวิธีหนึ่ง แม้อาจดูง่ายๆ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครทำ” ศ.ดร.นวดลกล่าว

ศ.ดร.นวดล กล่าวว่า งานวิจัยบางอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นใช้เทคนิคลึกหรือยาก ซึ่งการค้นพบวิธีการดังกล่าว จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ก่อให้เกิดขยะและมลพิษเพิ่มขึ้น เป็นวิธีที่มีประโยชน์ สามารถใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ และได้ราคาดีกว่าการนำไปเผาทำลายทิ้ง ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

"ถึงแม้ว่า “โทลูอีน” จะเป็นสารทำละลายกลุ่มหนึ่งที่ใช้กันในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครใช้กรรมวิธีการแยกอลูมิเนียมบริสุทธิ์และกระดาษออกจากล่องยูเอชที โดยวิธีการสกัดด้วยตัวทำละลายดังกล่าว นอกจากกล่องยูเอชทีที่บรรจุนม หรือ น้ำผลไม้ต่างๆ แล้ว วิธีนี้ยังสามารถนำไปใช้แยกอลูมิเนียมบริสุทธิ์ออกจากถุงบรรจุขนมขบเคี้ยว หรือถุงฟอยล์ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน" นักวิจัย มจธ.กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการเอกชนที่มีความสนใจต้องการนำงานวิจัยหรือกรรมวิธีการแยกอลูมิเนียมและกระดาษ ออกจากกล่องบรรจุอาหารเหลวประเภทยูเอชที โดยใช้วิธีการสกัดด้วยตัวทำละลายเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) 0-2470-8309-10


ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)









กำลังโหลดความคิดเห็น