xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซตัดเกรด! 14 ทูน่ากระป๋องในไทยสอบตกเพราะทำประมงไม่ใส่ใจทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรีนพีซจัดอันดับความยั่งยืนผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องในไทย ชี้หลายยี่ห้อตรวจสอบย้อนกลับไม่ได้-ใช้ทูน่าชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์-ไม่ระบุวิธีประมง หวั่นเสียความเชื่อมั่นฐานะผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 โลก ชวนคนไทยตื่นรู้ด้วยการอ่านฉลาก สะกิดต่อมผู้ประกอบการทำธุรกิจแบบรับผิดชอบต่อทะเล

อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า สืบเนื่องจากโครงการก่อนหน้าที่ได้จัดทำโครงการจาก'เลสู่จาน เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคทราบถึงข้อมูลสัตว์ทะเลที่ควรบริโภครวมถึงการให้ความรู้ด้านการทำประมงแบบทำลายล้างต่างๆ ทำให้คนในสังคมเริ่มตื่นรู้และตระหนักถึงความเป็นมาของอาหารทะเลรวมไปถึงวัตถุดิบและกระบวนการก่อนที่ทุกอย่างจะถูกบรรจุลงกระป๋อง

กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงดำเนินโครงการจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทยคล้ายกับที่เคยดำเนินการมาแล้วในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน โดยมีการใช้ทูน่าจากมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตก มากถึง 800,000 ถึง 850,000 ตันต่อปี สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมทูน่าที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศกว่า 50 โรงงานที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก

เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยถูกสหรัฐฯ จัดอันดับให้อยู่ในเทียร์ 3 ซึ่งเป็นอันดับที่แย่ที่สุดในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี 58 (Trafficking in Persons Report : TIP) และยังได้รับใบเหลืองจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เนื่องจากมีรายงานหลายฉบับที่ระบุว่าไทยล้มเหลวในการดำเนินมาตรการต่อกรกับการประมงผิดกฏหมาย และมีการปฎิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกเป็นอย่างมาก จนทำให้ประเทศคู่ค้าเริ่มเกิดข้อจำกัดและต้องการตรวจสอบย้อนกลับว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องของไทยใช้วัตถุดิบจากแหล่งใด ทำการประมงรูปแบบใดและเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่

"ไม่ใช่ว่าไทยติดเทียร์ 3 แล้วเราถึงจะทำ เพราะเมื่อหลายปีก่อนกรีนพีซสหรัฐ, กรีนพีซสหราชอาณาจักร และกรีนพีซแคนาดาได้เริ่มโครงการนี้แล้ว เพราะผู้บริโภคเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพราะเขาอยากทราบว่าปลาในกระป๋องที่เขาทานมันมาด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำนี่แหละน่าจะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะจะช่วยลดช่องว่างของการทำประมงแบบทำลายล้าง ขับในเขตหวงห้ามหรือแม้กระทั่งการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็จะลดลง" ผู้ประสานงานกรีนพีซ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ส่วนของขั้นตอนดำเนินการเพื่อจัดอันดับ อัญชลี เผยว่าเริ่มจากการส่งทีมงานออกไปสำรวจตามร้านค้าและซูเปอร์มาเก็ตว่ามีปลากระป๋องแบรนด์ใดบ้างที่คนไทยบริโภค โดยสรุปออกมาได้ทั้งสิ้น 14 แบรนด์ ประกอบด้วย ทีซีบี, คิงส์คิทเช่น, นอติลุส, ซีคราวน์, ซีเล็ค, โอเชี่ยนเวฟ, เทสโก้โลตัส, แอโร่, บรูก, ท็อปส์, อะยัม, บิ๊กซีโฮม, เฟรช มาร์ท และโรซ่า

จากนั้นจึงส่งแบบสำรวจอย่างละเอียดไปยังผู้ผลิตทั้งหมด โดยสอบถามถึงนโยบาย การปฎิบัติในการจัดหาวัตถุดิบปลาทูน่า, ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ถึงแหล่งที่มา, เครื่องมือประมงที่ใช้ในการจับปลา, ความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงสภาพการทำงานและการปฎิบัติต่อแรงงานในอุตสาหกรรมปลาทูน่า โดยให้ผู้ผลิตตอบแบบสอบถามพร้อมแนบเอกสารเชิงนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมายังกรีนพีซภายในเวลา 30 วัน เพื่อให้คณะกรรมการของกรีนพีซที่ประกอบไปด้วยนักวิจัย, นักวิชาการ, นักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายประเทศเป็นผู้ร่วมตัดสินให้คะแนน

สำหรับผลการประเมินผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง 14 แบรนด์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย อัญชลี ระบุว่าไม่มีแบรนด์ใดเลยที่อยู่ในเกณฑ์ดีหรือดีมาก โดยมี 9 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ส่วนอีก 5 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ควรปรับปรุง จากการจัดอันดับพบว่า ทีซีบี ได้รับคะแนนสูงสุดกว่าแบรนด์อื่น แต่ยังไม่ได้จัดอยู่ในระดับที่ “ดี” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลากระป๋องที่คนไทยนิยมรับประทานส่วนใหญ่ยังขาดความเข้มแข็งด้านการดำเนินนโยบายความยั่งยืนซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนประชากรของปลาทูน่าในระยะยาว
การทำประมงแบบเบ็ดตวัด เป็นการทำประมงแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (PHOTO CREDIT: GREENPEACE/ PAUL HILTON)
ผลการสำรวจทำให้ทราบว่าผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องทุกแบรนด์ได้คะแนนต่ำมากในแง่การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค เพราะไม่มีแม้กระทั่งการระบุว่าทูน่าที่นำมาใช้เป็นสายพันธุ์ใด ทำให้กรีนพีซเพิ่งตรวจพบว่าบางแบรนด์มีการนำทูน่าสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่าง ปลาทูน่าพันธุ์ตาโต (Bigeye Tuna) และปลาทูน่าพันธุ์ครีบเหลือง (yellowfin) มาใช้สำหรับการผลิตเป็นปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งอัญชลีกล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล

"ปลาทูน่าที่คนกินปกติจะมีอยู่ 5 สายพันธุ์ด้วยกัน อันดับแรกคือทูน่าครีบน้ำเงิน ตัวนี้ไม่ใช่เป้าหมายทูน่ากระป๋องเพราะมีราคาแพงไว้สำหรับทำซาซิมิหรือโอโทโร่ที่เราทาน ที่นำมาทำปลากระป๋องคือทูน่าครีบยาว (Albacore Tuna), ทูน่าท้องแถบ (skipjack), ทูน่าตาโตและทูน่าครีบเหลือง ซึ่ง 2 ชนิดหลังเสี่ยงมาก เพราะไม่ใช่แค่เหลือน้อย แต่ประมงยังคงจับอยู่เรื่อยๆ ตัวเล็กๆก็จับ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนให้มันโต ที่สำคัญคือประมงสมัยใหม่ใช้เครื่องมือจับแบบไม่เลือกชนิดปลา"

อัญชลี อธิบายเพิ่มเติมว่า เครื่องมือจับปลาที่นิยมใช้กับปลาทูน่าในธุรกิจประมงปัจจุบัน มีด้วยกัน 3 เครื่องมือคือ อวนล้อม, เบ็ดราวและเครื่องมือล่อปลา (Fish Aggregation Devices : FADs) ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงทำลายเพราะเป็นการจับแบบสุ่มทำให้ปลาทูน่าตัวเล็ก หนูปลาชนิดอื่นๆ เช่น เต่า กระเบนและฉลามพลอยติดมาด้วย โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องมือล่อปลาที่ค่อนข้างไฮเทคเพราะมีหน้าตาคล้ายทุ่นหลายมุม ลอยอยู่เหนือผิวน้ำที่โดยรอบประกอบไปด้วยอวนที่จะมีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณระหว่างเรือเมื่อมีเหยื่อมาติดซึ่งทำให้เกิดสัตว์น้ำพลอยได้มากเกินจำเป็น
เครื่องมือล่อปลา (Fish Aggregation Devices : FADs) (PHOTO CREDIT: GREENPEACE/ ALEX HOFFORD)
สำหรับการแก้ปัญหา อัญชลี กล่าวว่า แก้ได้ด้วยการทำประมงแบบเดิม คือ การใช้ "เบ็ดตวัด" ซึ่งอาจช้ากว่าแต่ให้ผลลัพธ์เท่ากันเพราะโดยปกติทูน่าจะอยู่รวมกันเป็นฝูงทำให้การจับไม่ยากเย็น และจะจับได้เฉพาะทูน่าตัวโตเท่านั้น เพราะหัวเบ็ดตวัดมีขนาดใหญ่ ที่จะช่วยลดปัญหาการจับสัตว์น้ำพลอยได้ลงได้มาก

ในปีหน้า อัญชลี เผยว่า กรีนพีซจะจัดอันดับความยั่งยืนผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทยอีก โดยอาจจะมีการเพิ่มความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ที่มีความรู้ความชำนาญเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงและทิศทางการดำเนินงานของบริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องต่อไป

“การออกมาจัดอันดับปลาทูน่ากระป๋องในครั้งนี้ กรีนพีซไม่ได้ต้องการโจมตี หรือสนับสนุนผู้ผลิตรายใด เพราะเราอยากให้ข้อมูลนี้เป็นตัวช่วยในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ อยากให้ผู้บริโภคตระหนักว่าอาหารในกระป๋องที่เรากำลังจะทานมาจากไหน ด้วยวิธีการอะไร โดยการดูจากข้อมูลการจัดอันดับที่เราแสดงไว้ในเว็บไซต์ขององค์กรหรือบนฉลากผลิตภัณฑ์ก็ได้ เพราะผู้บริโภคเป็นผู้มีอิทธิพลที่จะทำให้ผู้ผลิตหันไปมองย้อนดูตัวเองและสิ่งแวดล้อม ว่าที่ผ่านมากว่าจะถึงมือคนกิน เขาผ่านกระบวนการอะไร และดีพอที่จะให้ตรวจสอบย้อนกลับได้หรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าพลังของคนกินนี่แหละที่จะเป็นกลไกเล็กๆ ที่ช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตเกิดนโยบายที่รับผิดชอบต่อท้องทะเลและสังคม” อัญชลีกล่าวทิ้งท้ายผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
การทำประมงแบบทำลายล้างทำให้ได้ปลาพลอยได้อย่างฉลามติดขึ้นมาด้วย  (PHOTO CREDIT: GREENPEACE)
การทำประมงแบบอวนล้อม (PHOTO CREDIT: GREENPEACE/ GAVIN NEWMAN)
*******************************************************************************

ทั้งนี้กรีนพีซได้จัดอันดับผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องดังนี้ (จากคะแนนสูงสุดไปคะแนนต่ำสุด)

1.ทีซีบี 2.คิงส์คิทเช่น 3.นอติลุส 4.ซีคราวน์ 5.ซีเล็ค 6.โอเชี่ยนเวฟ 7.เทสโก้โลตัส 8.แอโร่ 9.บรูก 10.ท็อปส์ 11.อะยัม 12.บิ๊กซีโฮม 13. เฟรช มาร์ท 14.โรซ่า (อ่านข้อมูลและเหตุผลการจัดอันดับผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ www.greenpeace.or.th)
อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
















กำลังโหลดความคิดเห็น