สำหรับในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2558 นี้ผมอยากชวนมาถ่ายภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกคนคู่กันบ้าง หลังจากที่ปีก่อนๆ หลายคนอาจยังไม่เคยลองถ่ายภาพ อีกทั้งในช่วงเดือนก่อนๆ ก็มีข่าวเกี่ยวกับดาวตกที่เป็นลักษณะของไฟร์บอล (Fireball) ซึ่งอาจมีสีสันต่างๆที่น่าสนใจ และในคืนวันที่ 14 ธ.ค. นี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการสังเกตการณ์และถ่ายภาพฝนดาวตก ซึ่งคืนดังกล่าวในปีนี้ตรงกับช่วงคืนเดือนมืดทำให้สามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืนนั่นเองครับ
ดังนั้น คอลัมน์นี้เราจะมาแนะนำวิธีการถ่ายภาพฝนดาวตกเจมินิดส์กันแบบละเอียดกันครับ แต่ก่อนอื่นเรามาดูความรู้เกี่ยวกับฝนดาวตกเจมีนิดส์ครั้งนี้กันก่อนว่า ต้องดูทิศไหน เวลาเท่าไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไรกันก่อนครับ
ความรู้เกี่ยวกับฝนดาวตก
ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกคนคู่ ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2558 สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 20:00 น. จนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีจุดศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวคนคู่ ซึ่งมีอัตราการตกเฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง โดยมีอัตราเร็วเฉลี่ย 35 กิโลเมตรต่อวินาที (ปี 2558 ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต มีอัตราเร็วเฉลี่ย 71 กิโลเมตรต่อวินาที)
ปรากฏการ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว ทำให้สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย ถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็น ลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball)
โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือหลังเที่ยงคืน เพราะเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ซึ่งช่วงเวลาที่ดาวตกเกิดก่อนเที่ยงคืนหรือช่วงหัวค่ำนั้นจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เราจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง แต่ถ้าฝนดาวตกที่เกิดหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า
ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมของทุกๆ ปี โดยจะอยู่ในช่วงประมาณระหว่างวันที่ 4 - 17 ธันวาคม จากข้อมูลระบุว่าปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์นี้มีอัตราการตกต่อชั่วโมงที่สูงมาก ซึ่งในคืนดังกล่าวตรงกับช่วงคืนเดือนมืดทำให้สามารถสังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่เหมาะแก่การชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก
การถ่ายภาพฝนดาวตก
ในอดีตช่างภาพดาราศาสตร์เรายังไม่มีกล้องดิจิตอลและยังไม่มีโปรแกรมในการ Stack ภาพ ก็ยังสามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่สวยงามมาได้เช่นกัน ดังตัวอย่างภาพด้านล่าง ด้วยวิธีการถ่ายภาพแบบเปิดหน้ากล้องไว้นานๆ แล้วก็รอว่าช่วงไหนที่อาจมีฝนดาวตกติดมาในภาพบ้าง ซึ่งจะได้เป็นเส้นแสงดาวที่มีดาวตกติดมาในภาพ
ในสำหรับปัจจุบันเรามีโปรแกรมที่ใช้ในการ Stack ภาพที่เจ๋งๆ แล้ว ดังนั้นรอช้าทำไม ใช้เทคนิคการ Stack ภาพมาช่วยในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายฝนดาวตกของเรากันเลยสิ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพในแบบนักดาราศาสตร์
1. กล้องดิจิตอลพร้อมสายลั่นชัตเตอร์
2. เลนส์ไวแสง มุมกว้าง
ข้อได้เปรียบของเลนส์ไวแสงคือ ทำให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องดัน ISO สูงๆ และช่วงเลนส์มุมกว้างก็ยังทำให้เพิ่มโอกาสการได้ภาพฝนดาวตกที่ติดมาในภาพได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้เลนส์คิตธรรมดาก็ยังสามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้เช่นกัน
3. ขาตั้งกล้องและอุปกรณ์ตามดาว
อุปกรณ์ตามดาวถือเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องมีไว้ เพื่อใช้ในการถ่ายภาพเพื่อติดตามวัตถุท้องฟ้า ซึ่งในการถ่ายภาพฝนดาวตกช่วยให้เราสามารถนำภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวเดียวกัน กลุ่มดาวเดียวกันมาใช่ในการ Stack ภาพในภายหลังได้นั่นเอง
หากเราไม่ถ่ายภาพแบบตามดาว ภาพฝนดาวกที่ได้แต่ละภาพก็จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ยากแก่การนำภาพมา Stack ในภายหลัง
4. อุปกรณ์ป้องกันการเกิดฝ้าหน้ากล้อง
อุปกรณ์ป้องกันการเกิดฝ้าหน้ากล้องนั้น เราสามารถสร้างเองแบบ DIY หรืออาจซื้อจากร้านขายอุปกรณ์ดูดาวทั่วไปได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่สนใจอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ก็สามารถเข้าไปดูได้ตามลิงค์ http://www.darasartcenter.com หรือหากต้องการสร้างแบบ DIY ก็สามารถอ่านรายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/U4IdGV
เทคนิคและวิธีการสำหรับการถ่ายภาพ
1. ตั้งค่ากล้องก่อนการถ่ายภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพควรเริ่มตั้งแต่ 30 วินาที หรือมากกว่า
ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.4 f/2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือไฟล์บอลของฝนดาวตก
ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูงๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่า
ตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode) เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดช่วงการเกิดฝนดาวตก
ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame
เปลี่ยนโหมด Color space ให้เป็น Adobe RGB เพื่อให้ขอบเขตสีที่มีช่วงสีที่กว้างกว่าแบบ
sRGB
ปิดระบบกันสั่นและระบบออโตโฟกัสของเลนส์
โฟกัสที่ระยะอินฟินิตี้ ซึ่งควรเลือกโฟกัสที่ดาวดวงสว่างให้ได้ภาพดาวที่คมชัดที่สุดเล็กที่สุด โดยใช้ระบบ Live view ช่วยในการโฟกัส
2. ตั้งกล้องห่างจากฉากหน้า โดยให้อยู่ห่างตามค่าระยะไฮเปอร์โฟกัส ซึ่งอาจคำนวณได้จากเว็บไซต์ ตามลิงค์ http://www.dofmaster.com/dofjs.html หรือควรห่างไม่น้อยกว่า 3-4 เมตร โดยประมาณ
3. ตั้งกล้องบนขาตามดาว เพราะดาวตกจะพุ่งออกจากบริเวณจุดเรเดียน ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราได้ภาพฝนดาวตกออกมาจากจุดเรเดียนจริงๆ และที่สำคัญคือ เราจะได้ภาพฝนดาวตกมากกว่าการถ่ายภาพบนขาตั้งแบบนิ่งอยู่กับที่ เพราะตำแหน่งจุดเรเดียน จะเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (อันนี้แหละที่ทำให้นักดาราศาสตร์ได้เปรียบ...)
4. หันหน้ากล้องไปที่จุดศูนย์กลางการกระจายตัวของฝนดาวตก หรือจุดเรเดียน (Radiant) โดยให้จุดเรเดียนอยู่กลางภาพ
5. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง โดยใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือมากกว่า
6. ช่วงเที่ยงคืน คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ
7. อยากได้ดาวตกยาวๆ ต้องหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก จึงทำให้เห็นดาวตกวิ่งช้า
8. นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน จากหลายร้อยภาพก็เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน