xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจพิชิตสุริยุปราคา ใต้ฟ้าขั้วโลกเหนือ ตอนที่ 2 : ทดสอบ ตรวจสอบสภาพอากาศ

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สภาพอากาศยามเช้าท้องฟ้ายังเต็มไปด้วยเมฆบางๆ ทั่วทั้งท้องฟ้า โดยตำแหน่งของดวงอาทิตย์อยู่ในมุมที่สูงไม่มากนัก
ในตอนที่ 2 นี้ สำหรับภารกิจพิชิตสุริยุปราคา ใต้ฟ้าขั้วโลกเหนือ ครั้งนี้เราเริ่มต้นการสำรวจสถานที่จุดถ่ายภาพและจุดสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ ซึ่งหลังจากการตรวจสอบเบื้องต้นจากภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth เพื่อดูแนวคราสและเวลาการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้น
ภาพแสดงจุดสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 20 มีนาคม 2558 บริเวณ หมู่เกาะสฟาลบาร์ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ โดยแสดงเวลาและสถานที่ในการสังเกตการณ์ ซึ่งใช้ Google Earth เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการสำรวจเบื้องต้น
​โดยทางทีมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ฯ ได้เดินทางล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2558 เพื่อวางแผนเลือกสถานที่สังเกตการณ์ และตรวจสอบมุมเงยของดวงอาทิตย์ขณะเกิดปรากฏการณ์ ว่าสามารถสังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งปรากฏการณ์หรือไม่ และตำแหน่งไหนที่จะไม่ถูกภูเขาบดบัง รวมทั้งเป็นพื้นที่โล่งกว้างที่เหมาะกับการสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดควบคู่ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เช่น ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) เป็นต้น

1. สำรวจสถานที่ตั้งจุดสังเกตการณ์
​จุดสังเกตการณ์ ที่ 1
เราเริ่มสำรวจสถานที่ตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งบริเวณเกาะที่ทีมเราไปสังเกตการณ์นั้น เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมักจะไปดูหมีขั้วโลกกันอีกด้วย ซึ่งบริเวณที่อยู่ในแนวการเกิดปรากฏการณ์ ก็เป็นที่ที่อาจจะมีหมีขั้วโลกหลุดเข้ามาได้ ซึ่งมันไม่ได้น่ารักเหมือนในการ์ตูน แต่มันกลับดุร้ายมากและมนุษย์ก็ถือว่าเป็นอาหารของมันเช่นกัน
การสำรวจจุดสังเกตการณ์แรก ก็เจอสถานที่ ที่อยู่ในบริเวณที่อาจมีหมีขั้วโลกหลุดเข้ามาได้ ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยขณะถ่ายภาพปรากฏการณ์
หมีขั้วโลกที่ถูกสตาฟไว้ถูกจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีขนาดตัวใหญ่มาก คงไม่ต้องคิดว่าหากเจอตัวต่อตัวคงยากที่จะหนีรอด
จุดสังเกตการณ์ ที่ 2 ในจุดนี้เราได้เดินทางขึ้นไปบนภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเป็นจุดที่สูงขึ้นไปสามารถมองเห็นได้ทั่วทุกทิศ โดยไม่มีสิ่งบดบังทัศนียภาพในการสังเกตการ แต่สภาพอากาศบนยอดเขานั้นมันโหดร้ายมากเกินไปสำหรับการปฏิบัติงานภายใต้อุณหภูมิติลบ เพราะแค่เพียงหายใจออกมาก็กลายเป็นน้ำแข็งเกาะบริเวณหมวกคลุมหน้าแล้ว แม้แต่หยดน้ำตาที่ไหลออกมาตกลงบนแว่นตา ก็ยังกลายเป็นน้ำแข็งในเวลาไม่กี่วินาที และเพียงแค่การออกไปข้างนอกรถเพื่อออกไปเดินดูสถานที่ ทั้งหน้า มือ และเท้า ผมชาและเจ็บไปหมด ก็คงไม่ต้องพูดถึงหรอกนะครับว่า ถ้าเราปฏิบัติงานภายใต้สภาพอากาศอันโหดร้ายนี้นานกว่า 4 ชั่วโมง เราจะเป็นยังไง (แข็งตายแหง!)

บริเวณบนยอดภูเขาที่มีพื้นที่โล่กว้าง แต่ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ เนื่องจากมีสภาพอากาศอันหนาวจัด และลมแรงมากเกินไป
จุดสังเกตการณ์ ที่ 3 และแล้วเราก็ได้จุดสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นบริเวณจุดที่จะสามารถสังเกตปรากฏการณ์ได้ตลอดทั้งปรากฏการณ์นั้น ซึ่งเป็นบริเวณที่โล่งกว้างและมีพื้นน้ำแข็งสีขาวตลอดช่วง เหมาะกับการตั้งกล้องถ่ายภาพ รวมทั้งการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เช่น ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands)

บริเวณจุดสังเกตการณ์ที่เลือกไว้สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ในครั้งนี้ โดยมีพื้นเป็นน้ำแข็งสีขาวเหมาะกับการสังเกตปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands)
ปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศ ที่สังเกตเห็นได้เกือบทุกวัน
ปรากฏการณ์ซันด็อก (Sun Dog) บนบริเวณยอดเขา ของจุดสังเกตจุดที่ 2 ซึ่งมีลักษณะคล้ายปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด (Halo) และโดยเป็นการหักเหของแสงอาทิตย์ผ่านผลึกน้ำแข็ง ทำให้เกิดภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์ขึ้นข้างๆ ดวงอาทิตย์ คล้ายมีดวงอาทิตย์ 3 ดวง
​ปรากฏการณ์ซันด็อก (Sun Dog) ที่เกิดระหว่างสำรวจสถานที่บริเวณยอดเขา โดยเป็นการหักเหของแสงอาทิตย์ผ่านผลึกน้ำแข็งของเมฆชั้นสูง “เซอร์รัส” (Cirrus) ที่อยู่สูงจากพื้นดินขึ้นไป 10 กิโลเมตร เมื่อแสงอาทิตย์สะท้อนจึงทำให้เกิดภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์ขึ้นข้างๆ ดวงอาทิตย์ คล้ายมีดวงอาทิตย์ 3 ดวง ปรากฏการณ์ซันด็อกนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก คล้ายปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด (Halo) แต่ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ทำมุมกับผลึกน้ำแข็งของเมฆที่ 22 องศา และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเห็นปรากฏการณ์นี้บ่อยๆ บริเวณขั้วโลกเกือบทุกวัน
ปรากฏการณ์ซันด็อก (Sun Dog) ที่สามารถสังเกตเห็นได้บริเวณจุดสังเกตที่ 3 ซึ่ง ณ บริเวณขั้วโลกนั้น เราสามารถสังเกตเห็นได้บ่อยๆ เนื่องจากดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ในมุมที่ไม่สูงจากขอบฟ้ามากนัก ตลอดทั้งวัน
การสำรวจสถานที่จุดสังเกตการณ์ ซึ่งต้องอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งปรากฏการณ์ โดยที่ไม่ถูกยอดภูเขาบดบังและเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ซึ่งดวงอาทิตย์มีมุมเงยสูงประมาณ 11 องศา จากพื้นดิน
2.ทดสอบอุปกรณ์ภายใต้อุณหภูมิติดลบ -25 องศาเซลเซียส
การทดสอบอุปกรณ์ ณ จุดสังเกตการณ์ ล่วงหน้า 1 วัน ก่อนเกิดปรากฏการณ์จริง โดยสภาพอากาศ ณ ประเทศนอร์เวย์ มีอุณหภูมิเย็นจัด -25 องศาเซลเซียส โดยเฉลี่ย
ในวันที่ 2 ของการปฏิบัติงาน หลังจากได้จุดสังเกตการณ์แล้ว ทีมสังเกตการณ์ฯ ได้ทำการทดสอบอุปกรณ์ ในการถ่ายภาพความละเอียดสูง อุปกรณ์บันทึกภาพวีดีโอความละเอียดสูง อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับศึกษาข้อมูลความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์ อุปกรณ์เก็บภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวขณะเกิดปรากฏการณ์ควบคู่ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เพื่อป้องการความผิดพลาดขณะเกิดปรากฏการณ์จริง โดยสภาพอากาศ ณ บริเวณขั้วโลกนั้น มีอุณหภูมิหนาวจัด -25 องศาเซลเซียส โดยเฉลี่ย ซึ่งอุปกรณ์บางอย่างอาจไม่สามารถทำงานในอุณหภูมิที่ติดลบได้

จากการทดสอบพบว่า อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับถ่ายภาพความละเอียดสูง อุปกรณ์บันทึกภาพวีดีโอและภาพเคลื่อนไหวขณะเกิดปรากฏการณ์ควบคู่ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง สามารถทำงานได้ปกติ เพียงแต่แบตเตอรี่จะทำงานได้ในเวลาที่น้อยลง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับศึกษาข้อมูลความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นจัด




อุปกรณ์ถ่ายภาพปรากฏการณ์มุมแคบ
กล้องโทรทรรศน์ชนิดหักเหแสง ความยาวโฟกัส 720 mm. และกล้องบันทึกภาพดิจิตอล SLR Canon 7D บนขาตั้งกล้องแบบตามดาว Astrotrack
อุปกรณ์บันทึกภาพวิดีโอปรากฏการณ์
เลนส์เทเลโฟโต้ ความยาวโฟกัส 600 mm. และกล้องบันทึกภาพดิจิตอล SLR Canon 7D Mark ll บนขาตั้งกล้องแบบตามดาว Takahashi T-Guu
อุปกรณ์เก็บภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวขณะเกิดปรากฏการณ์ควบคู่ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง
กล้องถ่ายภาพดิจิตอล ชนิดมุมกว้างสำหรับถ่ายภาพปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands)(ซ้าย), กล้องดิจิตอลสำหรับถ่ายภาพปรากฏมุมกว้างตลอดปรากฏการณ์(ขวา), กล้องถ่ายภาพปรากฏการณ์ 360 องศา สำหรับใช้ในการจัดทำภาพยนตร์ทางดาราศาสตร์สำหรับท้องฟ้าจำลองระบบดิจิตอล(กลาง)
อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับศึกษาข้อมูลความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์
อุปกรณ์ลักซ์มิเตอร์ (Digital Lux-Meter) ที่นำไปใช้ในการวัดค่าความสว่างขณะก่อนเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง และขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ไม่สามารถใช้งานได้ในอุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียส
ภาพอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพขณะทดสอบอุปกรณ์ภายใต้สภาพอากาศเย็นจัด ซึ่งเกิดจากไอจากการหายใจไปยังบริเวณจอแสดงภาพเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น โดยจะสามารถสังเกตเห็นน้ำแข็งเกาะบริเวณหลังกล้องอย่างชัดเจน แต่อุปกรณ์ยังสามารถทำงานได้ปกติ
3. ตรวจสอบสภาพอากาศล่วงหน้า
สำหรับสภาพอากาศ ณ ขั้วโลกเหนือนั้นมีอุณหภูมิแบบติดลบตลอดทั้งวันทั้งคืน ซึ่งใสช่วงที่เราเดินทางไปศึกษาปรากฏการณ์ทัศนวิสัยของท้องฟ้าส่วนมากก็เต็มไปด้วยเมฆค่อนข้างมาก แต่ในช่วงเช้าก็มักจะมีสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ ซึ่งนั้นก็เป็นผลดีกับการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง

​ในการตรวจสภาพอากาศล่วงหน้านั้น เราต้องตรวจสอบสภาพอากาศในช่วงเดือนนั้นๆ ที่เราต้องการจะศึกษาปรากฏการณ์ ว่าในปีก่อนๆ ย้อนหลังไป 3-5 ปี นั้น มีสภาพท้องฟ้าโดยเฉลี่ยเป็นอย่างไร หรือเป็นช่วงของฤดูอะไร ก่อนเสมอเพื่อประกอบการพิจารณาการเลือกสถานที่ ที่จะเดินทางไปศึกษาปรากฏการณ์ ซึ่งหากค่าเฉลี่ยจากากรตรวจสอบพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วช่วงเดือน ดังกล่าวที่เราต้องการจะไปศึกษานั้น มีสภาพท้องฟ้าที่เป็นช่วงมรสุม มีทัศนวิสัยท้องฟ้าที่ไม่เหมาะสม ก็ควรเปลี่ยนเป้าหมายเป็นที่อื่นๆ

​สำหรับบริเวณ หมู่เกาะสฟาลบาร์ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ ในช่วงเดือนมีนาคม นั้ยจากการตรวจสอบในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมามีค่าเฉลี่ยของสภาพท้องฟ้าที่ดี ทางทีมจึงเป็นสิ่งที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกสถานที่นี้สำหรับการศึกษาสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ แต่ก็นั้นหล่ะครับ...สภาพอากาศที่เย็นสุดขั้วแบบนี้ก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่มักเกิดขึ้นกับตัวเราได้มาลองดูกันครับว่า เราเจอะไรกันบ้าง
ภาพน้ำแข็งเกาะบริเวณขนตาของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงานทดสอบอุปกรณ์ภายใต้สถภาพอากาศอันหนาวจัด อุณหภูมิติดลบกว่า -25 องศาเซลเซียส โดยเฉลี่ย
หมวกปิดหน้าบริเวณจมูกและปาก จะสังเกตเห็นน้ำแข็งเกาะเป็นสีขาวๆ จากการหายใจของผม
หยดน้ำตาที่ตกลงบนแว่นตากลายเป็นหยดน้ำแข็งในเวลาเพียงไม่กี่วินาที
ช่วงเวลาในช่วงค่ำของบริเวณขั้วโลกเหนือ ที่ยังคงมีแสงสว่างคล้ายกับช่วงทไวไลท์อยู่ตลอดเกือบทั้งคืน เนื่องจากดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้าอยู่ในมุมที่ไม่ต่ำมากนัก จึงทำให้บริเวณนี้ท้องฟ้าจะไม่มืดสนิท
สภาพท้องฟ้าในช่วงเที่ยงคืน ซึ่งจะเห็นว่าท้องฟ้าจะยังคงไม่มืดสนิท ทั้งที่เป็นช่วงคืนเดือนมืดไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวน
​เอาล่ะครับ สำหรับตอนที่ 2 นี้เราก็ได้สถานที่สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วรวมทั้งการทดสอบอุปกรร์ภายใต้สภาพอากาศที่เย็นแบบติดลบ และพบว่าอุปกรณ์อะไรบ้างที่ทำงานได้ อะไรที่ทำงานไม่ได้ ทำให้เรามีเวลาเตรียมความพร้อมกับภารกิจศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคากัน ติดตามตอนสุดท้ายในคอลัมน์หน้านะครับ ว่าเราจะเก็บภาพปรากฏการณ์สวยๆ อะไรได้บ้างในคอลัมน์ต่อไปครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน














กำลังโหลดความคิดเห็น