สำหรับคอลัมน์นี้ อยากแนะนำใครที่มักเดินทางด้วยเครื่องบิน อาจลองหากล้องดิจิทัลติดตัวไว้บ้าง เพราะนอกหน้าต่างเครื่องบิน บ่อยครั้งมักมีปรากฏการณ์ทางแสงที่สวยงามให้เราได้ถ่ายภาพกันสนุก พร้อมทั้งได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย
ใช่แล้วครับวันนี้เราจะมาพูดกันเกี่ยวกับ กลอรี (Glory) มาลองศึกษากันไว้ก่อนครับ เผื่อใครได้ขึ้นเครื่องคราวหน้า ให้นั่งติดหน้าต่าง อยู่ฝั่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ เพื่อลุ้นถ่ายภาพ กลอรี่ (glory) กันได้ครับ
กลอรี (Glory) คืออะไร
“กลอรี” เป็นปรากฏการณ์ทางแสงที่มีลักษณะคล้ายกับวงแสงสีรุ้งที่มักเกิดอยู่รอบเงาของเครื่องบินหรือบอลลูน โดยเราจะเห็นวงแหวนสีแดงอยู่ด้านนอกและสีฟ้าอยู่ด้านใน คนที่เดินทางในเครื่องบินมักจะเห็นความงามของกลอรี โดยในการเกิดปรากฏการณ์ทางแสงนี้ จำเป็นต้องมีดวงอาทิตย์อยู่ตรงข้ามกับเงาของเครื่องบิน และผู้สังเกตต้องสามารถมองเห็นเงาเครื่องบินบนเมฆหรือหมอกได้ ซึ่งขณะที่เรามองไปยังพื้นเมฆให้ลองมองหาเงาของเครื่องบิน
ในบางครั้งเงาของเครื่องบินอาจถูกล้อมรอบไปด้วยวงแสงกลอรี ปรากฏให้เห็นความสวยงามได้บ่อยครั้ง โดยวงแสงสีรุ้ง อาจมีมากกว่า 1 ชุด รอบเงาบนเมฆหรือหมอกที่อยู่ตํ่ากว่าผู้สังเกต เช่น มองลงมาจากเครื่องบิน, ภูเขา ฯลฯ ดังภาพตัวอย่างด้านล่างจากเว็บไซต์ http://earthsky.org/ ที่ชาวต่างชาติก็สามารถถ่ายภาพมาให้ชมกันเช่นกัน
ในการอธิบายทางวิทยาศาสตร์ “กลอรี” ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ทางแสงที่เหมือนกับรุ้งกินน้ำเต็มวงจางๆ เกิดจากการสะท้อนและหักเหของแสงอาทิตย์ในละอองน้ำในอากาศ โดยมีขนาดเชิงมุม (Angular Size) ประมาณ 5-10 องศา (รุ้งกินน้ำ (รุ้งปฐมภูมิ) มีขนาดเชิงมุมประมาณ 40-42 องศา) และเกิดในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Antisolar Point)
ภาพถ่าย“กลอรี”บอกตำแหน่งผู้ถ่ายได้อย่างไร
ในการถ่ายภาพวงแสงสีรุ้ง“กลอรี”นั้นภาพถ่ายแต่ละภาพยังสามารถบอกตำแหน่งของผู้ถ่ายภาพได้อีกว่าอยู่ตรงตำแหน่งไหนของภาพกลอรี โดยให้สังเกตตรงบริเวณศูนย์กลางของกลอรีเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะตรงกับตำแหน่งของผู้สังเกตหรือผู้ถ่ายภาพนั่นเอง
ดังเช่นภาพด้านล่างเป็นภาพที่ผมถ่ายจากบริเวณแถวด้านหลังปีกของเครื่องบิน ซึ่งเราสามารถสังเกตว่าบริเวณศูนย์กลางของวงแสงกลอรี เป็นบริเวณไหนของเงา ก็สามารถบอกได้ว่าตำแหน่งผู้สังเกตอยู่บริเวณนั้น
กลอรีของตำแหน่งของผู้สังเกตที่ต่างกันเพียง 1 ก้าว ก็จะมีลักษณะที่ต่างกันแล้วครับ ดังนั้นกลอรีที่เรามองเห็นหรือที่เราถ่ายภาพ ก็ถือเป็นกลอรีของคนนั้นๆ จึงน่าภูมิใจหากเราภาพถ่ายได้ เพราะเป็นกลอรีของเราที่ไม่เหมือนกับใคร
การถ่ายภาพ “กลอรี”
สำหรับการถ่ายภาพนั้น เทคนิคคงไม่มีอะไรมากนัก กล้องโทรศัพท์มือถือก็สามารถถ่ายภาพได้แล้ว แต่ปัจจัยสำคัญของการถ่ายภาพปรากฏการณ์ กลอรี ก็คือ “ต้องถูกที่ ถูกเวลา” มากกว่า ดังนั้นในการถ่ายภาพกลอรี การวางแผนล่วงหน้าถือเป็นเทคนิคที่สำคัญในการถ่ายภาพครับ
1. เวลา 7.00-8.00 น. มีโอกาสเห็นได้ง่าย ผมขออนุญาตแชร์จากประสบการณ์ที่มีโอกาสได้เห็นกลอรี บ่อยๆ มักเป็นช่วงเช้า ประมาณช่วง 7.00-8.00 น. โดยประมาณ (ปกติผมมักเดินทางในเที่ยวบิน 7.00-10.00 น.) เนื่องจากช่วงเวลา 7.00-8.00 ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะอยู่ในมุมที่ไม่สูงมากนัก 15-20 องศาโดยประมาณ ซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นเงาเครื่องบินที่อยู่บนก้อนเมฆใต้เครื่องบินได้ง่ายกว่า ช่วงสายๆไปแล้ว เพราะยิ่งตำแหน่งดวงอาทิตย์อยู่สูง เงาก็ยิ่งอยู่ใต้เครื่องบินมากนั้น ยากแก่การมองจากหน้าต่างเครื่องบิน
2. เลือกตำแหน่งที่นั่งติดหน้าต่าง ด้านตรงข้ามดวงอาทิตย์ เนื่องจากตำแหน่งการเกิดปรากฏการณ์ กลอรี จะอยู่ในทิศตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ
3. หมั่นสังเกตเมฆและเงาของเครื่องบิน เพราะเมื่อองค์ประกอบ ตำแหน่งการเกิด ที่เหมาะสมเราก็จะสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แต่อาจจะเป็นเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะบางช่วงของเส้นทางก็ไม่มีเมฆ
จากภาพตัวอย่าง ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเริ่มสังเกตเห็นแผ่นเมฆบางๆ ที่อยู่ด้านล่างเครื่องบิน และเริ่มเห็นปรากฏการณ์แสงกลอรี ซึ่งต้องหมั่นคอยสังเกตการณ์อยู่บ่อยๆ
4. ทำความสะอาดกระจกเครื่องบินไว้ล่วงหน้า อาจทำความสะอาดกระจกไว้ก่อน เพื่อความคมชัดของภาพที่เราอาจโชคดีได้ถ่ายกลอรี
5. เลือกเลนส์ถ่ายภาพในช่วงปกติ ส่วนมากก็จะอยู่ในช่วง 24-70 mm. เพราะหากใช้เลนส์มมุมกว้างมากไปก็มักจะได้ภาพที่ติดขอบกระจกของเครื่องบิน หรือหากใช้เลนส์เทเลโฟโต้ก็อาจลำบากสักหน่อยในการถ่ายภาพติดกับกระจก
6. หาแจ็คเก็ตไว้คอยคลุมหน้ากล้องตอนถ่ายภาพ การใช้เสื้อแจ็กเก๊ตคลุมขณะถ่ายภาพก็ จะช่วยลดแสงสะท้อนของกระจกเครื่องบินได้ และควรให้หน้ากล้องแนบชิดกระจกให้มากที่สุด เพื่อป้องกันแสงฟุ้งที่อาจสะท้อนกระจกได้
นอกจากปรากฏการณ์กลอรี แล้วด้านนอกเครื่องบินยังมีปรากฏการณ์ทางแสงอีกมากมาย อาทิเช่น ซันด๊อก รุ้งหมอก และอื่นให้เราได้สังเกตกันครับ คราวหน้าหากมีโอกาสเดินทางด้วยเครื่องบินก็ลองหากล้องติดมือไว้กันบ้างนะครับ
และนี่เป็นปรากฏการณ์ทางแสงอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Anticrepuscular Rays or Antisolar Rays ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการเกิดปรากฏการณ์แสง Crepuscular Rays แต่เห็นในทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ซึ่งเห็นเป็นลำแสงจะมาบรรจบกันที่จุด Antisolar Point
สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องเมฆ หรืออยากแชร์ภาพเมฆหรือปรากฏการณ์ทางแสงต่างๆ ก็สามารถเข้าได้ที่ Facebook ของชมรมคนรักมวลเมฆ ซึ่งจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเมฆได้ อีกทั้งยังได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมอีกด้วยครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน