xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: ผอ.นาซาจุดประกายเด็กไทยไปอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาร์ลส์ แฟรงค์ โบลเดน บอกเล่าประสบการณ์อวกาศให้แก่เยาวชน
อวกาศ .. ดินแดนแห่งความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นที่ยังเต็มไปด้วยคำถามรอการพิสูจน์ ที่ ๆ ปกคลุมไปด้วยความมืดแต่กลับสามารถจุดประกายให้กับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกมาหลายต่อหลายคน ร่วมเปิดประสบการณ์อวกาศไปกับผู้ว่าการนาซาพร้อมๆ กับเรา ได้ที่นี่ ..




SuperSci สัปดาห์นี้จะพาทุกคนมาฟังประสบการณ์ตรงจากปากของ ชาร์ลส์ แฟรงก์ โบลเดน (Charles Frank Bolden) ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ผู้เคยท่องอวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจให้สหรัฐฯ มาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยในเดือน ส.ค.58 นี้เขาได้เดินทางมายังประเทศไทย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เชิญเขามาบอกเล่าประสบการณ์ท่องอวกาศให้แก่เยาวชนไทยได้ฟัง

เนื้อหาการบรรยาย ชาร์ลส์ โบลเดน ได้กล่าวถึงประสบการณ์บนห้วงอวกาศแก่เด็กไทยอย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง มีการซักถามและตอบข้อสงสัยอยู่เป็นระยะ โดยเขาได้กล่าวถึงโครงการโกลบ (GLOBE) โครงการระดับนานาชาติว่าด้วยเรื่องของทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมซึ่ง สสวท.ได้ดำเนินการและจัดแข่งขันหลายปีติดต่อกันมา

ชาร์ลส์ ระบุว่า ข้อมูลสิ่งแวดล้อมจากการทำโครงงานดังกล่าวของเยาวชนหลายประเทศที่ถึงส่งเข้าสู่ฐานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ทราบว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ เรื่องของอุณหภูมิที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ จึงมีแนวคิดที่จะจัดทำโครงการศึกษาเครือข่ายฝนและสิ่งแวดล้อมในประเทศตามแนวลุ่มน้ำโขงโดยเยาวชนในแต่ละประเทศทั้งไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียดนามขึ้น ในโครงการที่มีชื่อว่า "โฟเวีย" ซึ่งต้องติดตามการประชาสัมพันธ์โครงการต่อไป

"ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ และนักอวกาศนาซามีหลากหลายเชื้อชาติทั้งสหรัฐฯ ยุโรปและเอเชีย ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและมีความสามารถทุกคนก็สามารถไปอวกาศได้เช่นกัน หนูๆ ในห้องนี้ก็ด้วย ขอเพียงตั้งใจเรียนและมุ่งมั่นที่จะทำตามความฝัน ไม่กลัวความล้มเหลวจะต้องประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน เพราะตอนเด็กผมและนักอวกาศคนอื่นๆ ก็เริ่มต้นจากการเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แบบพวกหนูเหมือนกัน ผมเคยใช้มิเตอร์วัดอากาศแบบบ้านๆ ตั้งสมมติฐานง่ายๆ แต่ที่มีคือความตั้งใจว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญคือต้องกล้าตั้งคำถาม และต้องจำไว้เสมอว่าบนโลกนี้ไม่มีคำถามที่โง่" ผู้ว่าการองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ กล่าวสร้างแรงบันดาลใจเป็นเวลากว่า 40 นาที

ในส่วนของ น.ส.วริษฐา ใจภพ นักเรียนชั้น ม.5 ร.ร.เซนต์โยเซฟทิพวัล กล่าวว่า เมื่อทราบว่าจะมีนักอวกาศนาซามาก็รู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกได้แรงบันดาลใจอยากไปอวกาศ เพราะเธออยากลองศึกษาดูว่าหากขึ้นไปในอวกาศร่างกายของมนุษย์จะเปลี่ยนไปอย่างไร

เช่นเดียวกับ นายเตชสิทธิ์ สาระสิทธิ์ นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่สนใจในอวกาศและดาราศาสตร์ แต่เลือกที่จะตั้งเป้าเข้าเรียนภาควิชาชีววิทยาในระดับมหาวิทยาลัย เพราะมีความฝันว่าจะนำเชื้อแบคทีเรียขึ้นไปทำการทดลองในอวกาศ และอยากทำการสำรวจทดลองในอีกหลายๆ สิ่งที่ยังไม่มีใครทำ

ส่วนเด็กหญิงตัวเล็กที่มาร่วมฟังการบรรยายในครั้งนี้ อย่าง ด.ญ.จุฑามาศ เพ็งกระจ่าง นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ส่วนตัวเธอชอบเรียนและค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศอยู่เสมอ พอครอบครัวทราบว่าจะมีนักอวกาศนาซามาบรรยายให้ฟังจึงขออนุญาตจากครูที่โรงเรียนเพื่อมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะเธอได้รับแรงบันดาลใจกลับไปพอสมควร

"ถ้ามีโครงการให้เด็กแบบหนูไปอวกาศ หนูก็อยากไปค่ะ อยากรู้ว่าเวลาที่ไม่มีแรงโน้มถ่วงต้องลอยตัวจะมีความรู้สึกอย่างไร และก็อยากไปศึกษาที่ดาวอังคารด้วยว่ามีน้ำหรือไม่ และถ้ามีจะกินได้ไหม" ด.ญ.จุฑามาศ บอกเล่าความคิดแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ชาร์ลส์ แฟรงค์ โบลเดน บรรยายประสบการณ์อย่างสนุกสนาน
น.ส.วริษฐา ใจภพ นักเรียนชั้น ม.5 ร.ร.เซนต์โยเซฟทิพวัล  (ขวา)
นายเตชสิทธิ์ สาระสิทธิ์ นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
เด็กๆ ร่วมฟังการบรรยายถ่ายรูปกับนักอวกาศนาซาอย่างสนุกสนาน









กำลังโหลดความคิดเห็น