xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: 7 ข้อควรรู้ก่อนเลี้ยงสัตว์แปลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล  อาจารย์สัตวแพทย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในสังคมที่คนต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง ทำให้หลายๆ คนหันมาทำสิ่งแปลกๆ มากขึ้น รวมไปถึงความนิยมเลี้ยงสัตว์แปลกที่ตอบโจทย์วัยรุ่นสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

SuperSci สัปดาห์นี้พาทุกคนมาพบกับ น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล อาจารย์สัตวแพทย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สัตวแพทย์สัตว์แปลกมือทองของเมืองไทย ที่จะมาตอบข้อสงสัยสำหรับคนยุคใหม่ที่อยากจะเลี้ยงสัตว์แปลกว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ? ...
 



น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล หรือหมออ้อย กล่าวว่า ในปัจจุบันคนมีความนิยมที่จะเลี้ยง “สัตว์แปลก” หรือสัตว์อื่นๆ นอกจากสุนัข และแมวเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความแปลกและความชอบชั่วครั้งชั่วคราวทำให้ที่ผ่านมา เขาพบกับสัตว์แปลกที่ป่วยและหลุดจากเจ้าของออกสู่ธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ในฐานะสัตวแพทย์จึงต้องออกมาให้ความรู้กับประชาชนด้วยข้อควรรู้ 7 ประการก่อนเลี้ยงสัตว์แปลก

หมออ้อย เผยว่า ข้อแรกก่อนจะเลี้ยงสัตว์แปลกคือ ต้องรู้ก่อนว่าสัตว์ที่จะเลี้ยงเป็นสัตว์ชนิดใด มีอุปนิสัยใจคออย่างไร กินอาหารแบบไหน ด้วยการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดทั้งจากอินเทอร์เน็ต และหนังสือสัตว์เลี้ยง ข้อต่อมาคือ ต้องมีสถานที่เลี้ยง ต้องรู้ว่าสัตว์ชนิดใด ต้องใช้พื้นที่เลี้ยงเท่าไร

ข้อที่ 3 คือ การทำความเข้าใจกับคนที่บ้าน เพราะถ้าหากคนที่บ้านไม่ยินยอมให้เลี้ยง จะทำให้เกิดปัญหาสัตว์จรจัดตามมา ซึ่งเป็นปัญหาสังคม ส่วนข้อที่ 4 คือ สัตว์เลี้ยงทุกชนิดย่อมต้องการการเอาใจใส่ ฉะนั้นถ้าจะเลี้ยงสัตว์ต้องมีเวลา และต้องดูแลสัตว์ให้ดีเปรียบเสมือนกับคนในครอบครัว

“และที่สำคัญ คนทุกคนและสัตว์เลี้ยงทุกตัวย่อมเจ็บป่วย ฉะนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงจำเป็นต้องรู้แหล่งรักษาเมื่อสัตว์ในครอบครองไม่สบาย โดยเฉพาะสัตว์แปลก เพราะไม่ใช่ว่าสัตวแพทย์ทุกคนจะจับงู หรือกิ้งก่าได้ จึงจำเป็นต้องรู้จักคลินิกที่รักษาโดยเฉพาะ” หมออ้อย กล่าว

ส่วนข้อที่ 6 อีกข้อที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงสัตว์ คือ เงิน หรือทุนสำหรับการเลี้ยง เพราะค่ากรงเลี้ยง หรืออาหารสัตว์ต่างก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และข้อสุดท้ายหากไม่ต้องการเลี้ยงแล้ว ต้องหาคนที่จะรับไปเลี้ยงต่อ หรือหาสถานที่ที่รับเลี้ยงได้ต่อไป ห้ามปล่อยออกสู่ธรรมชาติเด็ดขาด เพราะสัตว์แปลกส่วนมาก นำเข้ามาจากต่างประเทศจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะกลายเป็นสัตว์ต่างถิ่นรุกราน

“ถ้าอยากจะเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะสัตว์แปลกหรือไม่แปลก ผมอยากให้คิดเยอะๆ ลองคิดทบทวนดูตั้งแต่ข้อแรกถึงข้อสุดท้าย เพราะสัตว์ทุกตัวมีหัวใจ ต้องเลี้ยงให้ดี และถ้าคิดว่าเลี้ยงได้ไม่ดีก็อย่าเลี้ยงเลยครับ” หมออ้อย กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์










กำลังโหลดความคิดเห็น