xs
xsm
sm
md
lg

เสริมภูมิคุ้มกันสัตว์ในฟาร์มด้วย “ถั่งเช่า” บนดักแด้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างถั่งเช่าบรรจุซอง และตัวอย่างหนอนไหมที่ใช้เลี้ยงเชื้อราถั่งเช่า
“ถั่งเช่า” ไม่ใช่อาหารเสริมสำหรับคนเท่านั้น แต่ยังเป็นอาหารเสริมให้แก่สัตว์ในฟาร์มได้ และยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ อีกทั้งช่วยเหลืออุตสาหกรรมเลี้ยงไหมกำจัดรังและดักแด้ได้ เมื่อนักวิจัยจุฬาฯ หยิบมาเป็นวัตถุดิบสำหรับเลี้ยงเชื้อราผลิตถั่งเช่า

รศ.ภก.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคุณสมบัติของ “ถั่งเช่า” ว่ามีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้อาการของหลายๆ โรคที่เกิดจากการอักเสบดีขึ้น แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของถั่งเช่าคือราคาแพง โดยเฉพาะถั่งเช่าที่เก็บมาจากธิเบตมีราคาถึงกิโลกรัมละ 100,000-1,000,000 บาท จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาให้มีราคาถูกลง

เนื่องจากถั่งเช่าเป็นเชื้อราที่เจริญเติบโตในหนอน รศ.ภก.ดร.พรอนงค์ จึงค้นหาว่าจะใช้หนอนชนิดใดที่พบมากในไทย หาได้ง่าย ราคาถูกและควบคุมได้ง่าย จนลงตัวที่ “หนอนไหม” ซึ่งได้จากรังไหมที่สาวเอาเส้นใยออกหมดแล้ว และมีเหลือมากในอุตสาหกรรมเส้นไหม โดยบางแห่งมีเหลือทิ้งมากถึงวัน 1,000 ตัน และมีมูลค่าน้อยมากเมื่อขายเป็นอาหารปลา โดยมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 35 บาท และเมื่อนำมาผลิตถั่งเช่าได้ต้นทุนไม่เกิน 50 บาท

รศ.ภก.ดร.พรอนงค์นำเข้าเชื้อราถั่งเช่าสายพันธุ์จากธิเบตในราคาหลอดละ 70,000 บาท มาเพาะขยายและเลี้ยงในหนอนไหมที่ผ่านการคั่วหรืออบแห้ง และใช้เวลาเพาะเลี้ยงเพียง 1 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่าการเพาะถั่งเช่าเพื่อเป็นอาหารเสริมสำหรับคน ที่ใช้เวลานานกว่า 3 เดือน และต้องการความบริสุทธิ์ที่มากกว่า โดยหนอนไหมที่ใช้เพาะเลี้ยงเชื้อถั่งเช่าจะกลายเป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์ ซึ่งให้สารคอร์ไดเซปินที่ช่วยภูมิคุ้มกันแก่สัตว์

จากการทดสอบใช้ถั่งเช่าจากหนอนไหมผสมอาหารสัตว์ในสัดส่วน 50 มิลลิกรัมต่ออาหารสัตว์ 100 กิโลกรัม แล้วเลี้ยงหมู วัว และไก่กินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง พบว่าการติดเชื้อของสัตว์ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย อหิวาต์หมู ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง โดยทดลองให้สัตว์กินเชื้อโรคเหล่านั้นหลังกินอาหารสัตว์ผสมถั่งเช่า แต่สัตว์ไม่ปล่อย

อย่างไรก็ดี รศ.ภก.ดร.พรอนงค์เพิ่งทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้ง รวมถึงปลาสวยงามนั้นมีราคาที่สูงกว่าสัตว์บก จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาถั่งเช่าเป็นอาหารเสริมของสัตว์น้ำด้วย ซึ่งขณะนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังพัฒนาต่อ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาอาหารเสริมที่ได้จากหนอนไหมเปื่อยยุ่ยเมื่อสัมผัสน้ำ รวมถึงหาปริมาณที่เหมาะสมในการให้เป็นอาหารเสริมด้วย

นอกจากนี้จากการเข้าร่วมประกวดผลงานในงานแสดงนวัตกรรมนานาชาติที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือน เม.ย.58 ที่ผ่านมา เกษตรกรจากกรีซซึ่งมีฟาร์มวัวนมขนาดใหญ่ได้สนใจในผลงานดังกล่าว จึงได้ทดลองสั่งถั่งเช่าสำหรับสัตว์ไปทดลองใช้ในฟาร์ม 10 ตัน แล้วพบว่าสัตว์ในฟาร์มกินอาหารได้เยอะขึ้นและมีอาการกะปรี้กะเปร่ามากขึ้น และลดการใช้ยาปฏิชีวนะ จึงได้สั่งเพิ่มอีกเป็น 100 ตัน

อย่างไรก็ตาม รศ.ภก.ดร.พรอนงค์กล่าวว่า ตั้งใจถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสำหรับสัตว์ให้แก่เกษตรกร เพราะมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก โดยจะเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้ารับการอบรม ซึ่งคาดว่าจะจัดอบรมได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้าภายในฟาร์มเลี้ยงไหมที่เพชรบูรณ์ โดยได้รับทุนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
รศ.ภก.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ พร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์บรรจุซอง และถั่งเช่าที่เลี้ยงในหนอนไหม










กำลังโหลดความคิดเห็น