xs
xsm
sm
md
lg

“ตูบหมูบ” ไม้ดอกจากป่าให้หัวน้ำหอมชั้นดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอกสีขาวสะอาดตามีกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นเอกลักษณ์ของตูบหมูบ
ลุยป่าสะแกราช พาไปรู้จัก “ตูบหมูบ” ต้นไม้ประถิ่นที่ไม่ได้มีดีแค่ดอกสวย แต่ใบและเหง้ายังหอมกระจุยกระจายเป็นเอกลักษณ์ จนต้องนำมาทำเป็น หัวน้ำหอมคุณภาพดี

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีโอกาสติดตามคณะทำงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (วว.) ไปเยี่ยมชมหน่วยงานส่วนภูมิภาค ทว่าสถานที่ตั้งหน่วยงานนี้กลับไม่ใช่ตึกสูงทันสมัย แต่รายล้อมไปด้วยป่า

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์หมายถึง “สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช” พื้นที่สงวนชีวมณฑลสำหรับนักวิจัยและนักเรียนนักศึกษา ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ทางยูเนสโกยกย่องให้เป็นเขตความหลากหลายทางชีวภาพสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมที่พลาดไม่ได้ก็คือ การเดินป่า ซึ่งในครั้งนี้ทีมข่าวฯ ได้นายสมัย เสวครบุรี นักวิจัยอาวุโสเป็นผู้นำทางได้ นายสมัย เสวครบุรี นักวิจัยอาวุโสเป็นผู้นำทาง

ภายในป่าสะแกราชเป็นป่าดิบแล้ง พืชที่ขึ้นส่วนใหญ่จึงมีมากมายจนละลานตา ซึ่งตลอดการเดินทางในป่ากว่า 5 กิโลเมตร นายสมัยก็ได้บรรยายเกร็ดความรู้ของพืชและสัตว์ที่พบเห็นอยู่ไม่ขาดปาก ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของ “ตูบหมูบ” พืชหน้าตาประหลาดแต่มีดอกแสนสวยรวมอยู่ในนั้นด้วย

นายสมัย กล่าวว่า ตูบหมูบเป็นชื่อเรียกภาษาโคราชของ “เปราะป่า” ในภาคกลาง และยังเรียกได้อีกหลายอย่าง ทั้ง "อีเปราะ" ในภาษาอีสาน และ "เปราะรก" ในภาษาใต้ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แกมฟีเรีย มาร์จินาตา คาเร (Kaempferia marginata Care) เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน รากออกเป็นกระจุก

ใบของตูบหมูบมีลักษณะเด่น คือเป็นใบเดี่ยว เมื่อเป็นใบอ่อนจะม้วนเป็นรูปแตร และค่อยๆ คลี่ออกจนแนบไปกับพื้นเมื่อใบแก่ โดยแผ่นใบจะหนามีสีเขียวเข้ม ขอบใบมีสีม่วง ในหนึ่งต้นมีเพียง 2-3 ใบ

ดอกของตูบหมูบเป็นดอกช่อสีขาว เกสรสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่โคนดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และจะออกดอกในช่วงเดือน พ.ค. ถึง มิ.ย. ในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ซึ่งป่าสะแกราชพบได้เกือบตลอดทั้งปี ทำให้ตูบหมูบเป็นดอกไม้ประจำป่าสะแกราชไปโดยปริยาย

“เนื่องจากพื้นที่ของป่าสะแกราช มีร่มไม้ใหญ่อยู่จำนวนมาก ทำให้มีเพียงแสงรำไรที่ส่องลงสู่พืน อีกทั้งยังมีความชื้นเหมาะสม ซึ่งเป็นสภาวะแวดล้อมที่ตูบหมูบชอบ มันจึงเจริญได้ดี” นายสมัย อธิบาย

นายสมัยเล่าว่า บางท้องถิ่นนิยมนำใบของเปราะป่ามากินเป็นอาหาร บ้างก็กินแบบสดๆ บ้างก็นำมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริก บ้างนำมาหั่นละเอียดเพื่อทำยำหรือผัดเผ็ดก็เป็นที่นิยม แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของตูบหมูบ คือส่วนของลำต้นใต้ดิน เหง้าและใบแก่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว คล้ายกินยูคาลิปตัส ทำให้ชาวบ้านนิยมสกัดเพื่อทำเป็นหัวน้ำหอม

“ลองฉีกใบแก่ของมันมาดมดูสิ หอมไหม? กลิ่นนี้ต่างชาติชอบมาก ถึงขนาดนำไปสกัดเป็นหัวน้ำหอมผสมเข้ากับกลิ่นอื่นๆ ในแบรนด์ดังๆ แล้วเรียกว่า กลิ่นทูฟมูฟ ชาวบ้านก็ชอบเหมือนกัน ผมยังมีติดตัวอยู่หนึ่งขวดเลย นี่คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้จากป่า ฉะนั้นเราจึงต้องรักษาป่าเพื่อตอบแทน” นายสมัยกล่าวสรุป พลางส่งหัวน้ำหอมทูฟมูฟให้ทุกคนได้ลองดมก่อนจะเดินศึกษาธรรมชาติกันต่อไป
ใบแบนปรกดินมีสีเขียวเข้ม
หัวน้ำหอม ทูฟมูฟ หอมทชถูกใจคนทั่วโลก
ทีมสำรวจธรรมชาติแวะพักข้างทางเพื่อชมความงามของตูบหมูบ
นายสมัย เสวครบุรี นักวิจัยอาวุโส









กำลังโหลดความคิดเห็น