เปิดห้องปฏิบัติการผลิต "พลาสติกชีวภาพทางการแพทย์" จากข้าวโพดแห่งแรกที่เชียงใหม่ ผลงานนักวิจัยไทยมาตรฐานสากลแต่ราคาถูกกว่า ตั้งเป้าประเดิมกลุ่มเป้าหมายนักวิจัยพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และบริษัท ปตท.จำกัด ร่วมเปิดห้องปฏิบัติการต้นแบบผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.58 ณ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ดร.วินิตา บุณโยดม หัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ กล่าวว่าต่างประเทศมีเทคโนโลยีผลิตพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ทุกกระบวนการ แต่ไทยยังไม่มี จึงได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีของไทยเอง โดยได้รับทุนวิจัยจาก วช.และ สนช.ตั้งแต่ปี 2548 จนกระทั่งนักวิจัยไทยได้คิดค้นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อผลิตมอนอเมอร์และพอลิเมอร์ชีวภาพจากข้าวโพดที่มีความบริสุทธิ์สูงและใช้เวลาสั้นจนได้สิทธิบัตร จึงมีความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์
สำหรับห้องปฏิบัติการดังกล่าว ผศ.ดร.วินิตาระบุว่าจะเริ่มจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ในอีก 1 ปี โดยต้องรอการรับรองมาตรฐานพลาสติกชีวภาพจากห้องปฏิบัติการตรวจสอบของต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีห้องปฏิบัติการรับรองมาตรฐานพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ในเมืองไทย โดยจะส่งตัวอย่างพลาสติกชีวภาพไปตรวจสอบที่สิงคโปร์เพราะอยู่ใกล้ที่สุด
สำหรับกลุ่มเป้าหมายนั้น ผศ.ดร.วินิตากล่าวว่าเป็นกลุ่มนักวิจัยผู้พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งปกติต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100,000 บาท ขณะที่ห้องปฏิบัติการผลิตได้ในราคากิโลกรัมละ 80,000 บาท โดยการจะผลิตในปริมาณไม่มากเพียงละ 1 กิโลกรัมเพื่อควบคุมคุณภาพ
ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช.กล่าวว่าได้ร่วมกับ สนช.ในการสนับสนุนงานวิจัยของ ผศ.ดร.วินิตา จนเห็นว่าต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จึงร่วมกับ สนช., มช.และ ปตท.สนับสนุนการสร้างห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพโดยการร่วมทุนเป็นวงเงิน 28 ล้านบาท และเป็นห้องปฏิบัติการแรกในเมืองไทยที่ได้รับมาตรฐาน ISO 13485
สำหรับความต้องวัสดุการแพทย์จากพลาสติกชีวภาพนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพรได้ยกตัวอย่างการผลิตวัสดุยึดจากพลาสติกชีวภาพทดแทนเหล็กยึดสำหรับการรักษากระดูก ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องผ่าตัดเพื่อเอาวัสดุดังกล่าวออกมา และช่วยผู้ป่วยไม่ให้เจ็บตัวหลังจากรักษากระดูกหายดีแล้ว หรือการผลิตไหมละลายสำหรับเย็บอวัยวะภายในร่างกาย
"วช.มีเป้าหมายให้งานวิจัยออกไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งทราบกันดีว่ามี 'หุบเหวมรณะ' ที่งานวิจัยไม่สามารถข้ามไปเชิงพาณิชย์ได้ เราจึงปรับกระบวนการคิดจากให้ทุนอย่างเป็นสนับสนุนในเชิงพาณิชย์ด้วย เราอยากเห็นการผลิตพลาสติกชีวภาพการแพทย์ได้ในไทย ขายได้ในไทยและขายออกไปข้างนอกด้วย" ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพรกล่าว
ส่วน ดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี บริษัท ปตท.จำกัด กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของพลาสติกชีวภาพคือราคาแพง ดังนั้น การนำไปใช้ในด้านวัสดุการแพทย์ซึ่งเป็นตลาดบนจะลดปัญหาดังกล่าวได้จึงอยากต่อยอดและสนับสนุนงานวิจัยของ ผศ.ดร.วิชิตาจนสำเร็จพอต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
สำหรับ ดร.พันธ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สนช.กล่าวว่าความร่วมมือในการสนับสนุนห้องปฏิบัติการต้นแบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัตถุดิบพลาสติกชีวภาพสำหรับประยุกต์ใช้เป็นวัสดุและเครื่องมือทางการแพทย์ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และ สนช.ยังมีกลไกสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมผลิตวัสดุและเครื่องมือแพทย์จากพลาสติกชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังเสนอมาตรการหักภาษี 300% แก่ผู้ประกอบการที่ใช้พลาสติกชีวภาพด้วย
พร้อมกันนี้ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ประธานผู้ตรวจสอบทางวิชาการด้านพลาสติกชีวภาพ วช.และผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่านอกจากความสำเร็จของนักวิจัย มช.ที่พัฒนาพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์จนต่อยอดทางพาณิชย์ได้แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยในไทยที่พัฒนาการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วไปใกล้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งในรูปแบบความสามารถของมหาวิทยาลัยเดียว และในรูปแบบความร่วมมือของหลายมหาวิทยาลัย